แบงก์ชาติไม่ใช่เทวดา – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ยี่ห้อนี้ไม่เคยทำให้ผิดหวังจริงๆ

ถูกครอบงำจากผู้มีบารมีเสียจนเคยตัว

จึงไม่แปลกที่รัฐบาลเพื่อไทยมองว่าการแทรกแซง ครอบงำ เป็นเรื่องปกติ ที่ใครๆ เขาก็ทำกัน

ไม่จบง่ายๆ หรอกครับ สำหรับรัฐบาลที่คิดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย คือลูกน้อง สั่งซ้ายหัน ขวาหัน ต้องทำตาม

เพราะยังมีคนที่รู้ กลับทำเป็นไม่รู้ โผล่มาให้เห็นเป็นระยะๆ

ช่างน่าผิดหวัง คนอย่าง “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่มีตำแหน่งแห่งหนเป็นถึง ประธาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หมาดๆ ก่อนหน้าจะมาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กลับมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติได้คลาดเคลื่อนมากมายขนาดนั้น

ที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ เพราะรัฐบาลมีทีท่าจะแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ ตำหนิ โจมตี ให้ลดดอกเบี้ย

ไปจนถึงแนวโน้มจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ

รวมทั้งจะแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อให้รัฐบาลควบคุมแบงก์ชาติได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นผลสืบเนื่องจากมุมมองของนายกฯ เศรษฐา ที่มีต่อแบงก์ชาติ และล่าสุดคือการพูดตามโพยของ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร”

ในมุมความเป็นอิสระ หรือเอกเทศของ แบงก์ชาตินั้น มิได้ขาดจากรัฐบาล

แต่ “ดร.ศุภวุฒิ” กลับยกเรื่องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ไปอธิบายเรื่องการแทรกแซงแบงก์ชาติของรัฐบาล ซึ่งมันเป็นคนละบริบทกัน

วานนี้ (๖ พฤษภาคม) “ดร.ศุภวุฒิ” ไปให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ทางช่อง MCOTHD 30 ดังนี้ครับ

“…คราวนี้มาถึงกฎหมายการดำเนินนโยบายของ ธปท. หากไปอ่านดูจะเห็นว่าในกฎหมาย ไม่มีสักคำเดียว ที่ใช้คำว่าอิสระ ไม่มีสักคำ ที่ว่าแบงก์ชาติต้องแข็งแรง แต่มาตรา ๔ บอกว่า รัฐมนตรีคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตราที่ ๕ ธปท.เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ที่ไม่ใช่เป็นส่วนราชการในเชิงของกฎหมายงบประมาณ แปลว่า เขาใช้วิธีงบประมาณของเขาเองได้ แต่ตอนจบแล้วแบงก์ชาติเอง ถ้าหากดูมาตรา ๕๖ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็เป็นผู้สอบบัญชีของแบงก์ชาติ

ฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าเป็นอิสระไหม ถ้าอ่านแบบนี้ คือไม่ใช่ เป็นหน่วยงานของรัฐ และมีภารกิจเพื่อเป็นงานของธนาคารกลาง ก็คือทำงานในหน่วยงานรัฐ และคนที่คุมอยู่ทุกอย่าง อย่างเช่นไปดูหมวดที่ ๘ การกำกับดูแลก็คือ รัฐมนตรี รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของ ธปท. ถ้าไปดูก็จะเป็นแบบนั้นหมดเลย”

“ประเด็นจริงๆ ถ้าไปดูว่าแบงก์ชาติมีหน้าที่ทำอะไร คือหน้าที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับพอดี โดยคำนึงถึงแนวนโยบายของรัฐ คำว่า ‘โดยคำนึงถึงนโยบายแห่งรัฐ’ ใช้ประมาณ ๓ ครั้ง ในกฎหมาย ฉะนั้น ต้องเกี่ยวโยงอยู่แล้ว และถ้าไปอ่านในสาระจะเห็นว่าส่วนใหญ่ จะพูดถึงว่า แบงก์ชาติจะต้องพูดคุยกับรัฐบาล เพื่อกำหนดเป้านโยบายเงินเฟ้อร่วมกัน และมีหลายมาตราเลยที่พูดถึงว่าต้องไปรายงานให้รัฐบาลทราบ ต้องตกลงกับรัฐมนตรี ต้องไปส่งให้ ครม.เห็นชอบ”

“เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเป็นอิสระจากรัฐบาล มันไม่ใช่ มันต้องทำงานร่วมกันจริงๆ และทำงานภายใต้รัฐบาลด้วยซ้ำ แต่ที่กฎหมายฉบับนี้ มันมีความแตกต่าง ก็คือ การปลดผู้ว่าฯ ทำได้ยากมาก แต่ประเด็นการทำงาน มันไม่ได้มีว่า แบงก์ชาติเป็นอิสระเลย ไม่มีคำว่าอิสระสักคำเดียว ฉะนั้นสิ่งที่แตกต่างในสาระสำคัญจริงๆ คือ กฎหมายที่เขียนในเรื่องของการปลดผู้ว่าฯ แต่พูดถึงการทำงานแล้วดูตามสาระของกฎหมายแล้วจริงๆ แบงก์ชาติทำงานภายใต้รัฐบาลด้วยซ้ำ เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับเหมาะสม”

ถูกเกือบหมดครับ!

มันต้องทำงานร่วมกัน

แต่ไม่ใช่ภายใต้รัฐบาล เพราะต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่และบทบาทของตัวเอง ซึ่งในกฎหมายที่ “ดร.ศุภวุฒิ” ยกมา ก็มีบอกไว้

ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ไม่ใช่อิสระจากรัฐบาล แต่เป็นอิสระจากการตัดสินใจนโยบายทางการเมืองของรัฐบาล

ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลน้าชาติ มี “ประมวล สภาวสุ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ลุงมวล” สั่งปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ขณะนั้นคือ “กำจร สถิรกุล” เพราะปัญหาความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย คล้ายๆ กับในขณะนี้นี่แหละครับ

“ลุงมวล” ให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันนั้นทำนองว่า “ถ้าไม่ปลดโทรศัพท์บ้านผมก็ดังตลอด คนก็จะโทร.มาด่าผมว่าทำไมไม่ลดดอกเบี้ย”

ครั้งกระโน้นการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติทำได้ง่าย เพราะกฎหมายเปิดโอกาสให้ทำ บวกกับการบริหารแบบลูกทุ่งซึ่งพอเข้าใจได้ เพราะระบบการเงินการคลังของโลกมันไม่อ่อนไหวเท่าปัจจุบัน

แต่รัฐบาลเศรษฐา กำลังทำในสิ่งที่ฝ่ายการเมืองในอดีตทำ ในบริบทที่กฎหมาย และความอ่อนไหวทางการเงินการคลังที่เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก

ถึงได้บอกว่านี่คือการแทรกแซง

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันคือ แบงก์ชาติไม่ใช่องค์กรเทวดา ที่ด่าไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ แตะต้องไม่ได้

ใครอยากวิจารณ์เอาเลยครับ เอาให้เต็มตรีน!

แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขเหตุและผลที่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย

ไม่ใช่นึกเอาเองว่า ใครขวางนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มันคนนั้นคือซาตาน

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ อธิบายได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก

แบงก์ชาติมีหน้าที่ในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมีความสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านเสถียรภาพด้านราคา

รักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจมีความผันผวนเกินไป ไม่ร้อนแรงจนนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ หรือแย่จนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่

และหน้าที่หลักของแบงก์ชาติ ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ

ต่างจากรัฐบาลดูแลการคลัง มักต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังผลในระยะสั้นๆ โดยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายการเงินมากนัก

เราจึงได้เห็นความฉิบหายในการใช้งบประมาณแผ่นดินจากหลายๆ โครงการในอดีต เสร็จแล้วหนีไปต่างประเทศโดยไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

“สังศิต พิริยะรังสรรค์” อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ อธิบายความเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไว้ดังนี้

“…ตอนที่มีการยกร่างขึ้นมา ทางผู้ยกร่างกฎหมายต้องการแยกอำนาจของฝ่ายการเมืองออกจากแบงก์ชาติ เพื่อให้แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงิน แล้วให้ รมว.คลัง ไปรับผิดชอบเรื่องทางการคลังไป ที่เป็นหลักการที่ประเทศในโลกเสรีใช้กันและเป็นที่ยอมรับกันทั้งโลก

คือแยกให้ธนาคารกลางดูแลเรื่องการเงิน ส่วนรัฐมนตรีคลังก็รับผิดชอบเรื่องการคลัง ทางกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.ธปท. จึงเขียนกฎหมายเพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงนโยบายการเงิน…”

ก็ชัดเจนนะครับ หากรัฐบาลแทรกแซงนโยบายการเงินเมื่อไหร่ หายนะทางเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นได้

ที่จริงรัฐบาลต่างหาก ควรทำตัวให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง

หยุดให้ “นักโทษ” แทรกแซงในทุกมิติ

ในขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” สู้เพื่อไม่ให้องค์กรตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง

แต่ฝ่ายการเมืองกลับ น้อมรับเป็นสมุนนักโทษคดีคอร์รัปชัน

หากจัดลำดับชั้น นับว่าต่ำเอามากๆ

Written By
More from pp
เมื่อลูกร้องกลั้นจนหน้าเขียว..พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติ เบี่ยงเบนความสนใจและไม่ตามใจเพื่อเป็นเงื่อนไขในการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการเมื่อลูกร้องไห้กลั้นหายใจ
Read More
0 replies on “แบงก์ชาติไม่ใช่เทวดา – ผักกาดหอม”