ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์? – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

เป็นวันสำคัญครับ…

วันนี้ (๓ พฤษภาคม) เวลา ๑๕.๔๕ น. นายกฯ เศรษฐานำ รัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ

เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่รัฐมนตรีใหม่จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์เสียก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง

การเข้าเฝ้าฯ ในครั้งนี้มีประเด็นให้ต้องพูดถึง แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วบ่อยครั้งก็ตามที

นั่นคือ…คำถวายสัตย์ปฏิญาณตน

รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๑ บัญญัติว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคําดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

คำถวายสัตย์ ถือเป็น คำมั่นสัญญาอันเป็นความจริง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

แต่…ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญแค่ไหนกับการถวายสัตย์ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”

หรือมองเป็นเพียงพิธีกรรมก่อนเข้าสู่อำนาจเท่านั้น

ส่วนหนึ่งก็คงจะจริงตามนี้ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีรัฐมนตรีติดคุก หรือหนีไปต่างประเทศ เพราะมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามที่ได้ถวายสัตย์ไว้

ฉะนั้นหากต้องการให้ไทยปราศจากคอร์รัปชัน หรือให้มีน้อยที่สุด จำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาให้ได้

แล้วจะเริ่มตรงไหน?

จะสร้างบรรทัดฐาน “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ได้อย่างไร

กรณี “พิชิต ชื่นบาน” อาจเป็นคำตอบ

ไปดูโพสต์ของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

….”ประเด็นพิชิต ชื่นบาน ต่ออย่างไร จบอย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ”

พิชิต ชื่นบาน อดีตผู้ถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาสั่งให้จำคุก ๖ เดือน กรณีละเมิดอำนาจศาลเมื่อปี ๒๕๕๑ และถูกสภาทนายความสั่งเพิกถอนใบประกอบอาชีพทนาย ๖ เดือน ขณะทำหน้าที่เป็นทนายให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร ในกรณีที่ทราบกันทั่วไปว่า “คดีถุงขนม”

โดยเป็นกรณีเกี่ยวกับเงิน ๒ ล้านบาทที่อยู่ในถุงกระดาษ ซึ่งศาลเชื่อว่ามีส่วนร่วมกับบุคคลอีก ๒ ราย โดยเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ (สามารถค้นเรื่องได้ไม่ยาก ทางกูเกิล โดยใช้คีย์เวิร์ด “ทนายถุงขนม”)

วันนี้ พิชิต ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากทูลเกล้าฯ เสนอชื่อของนายเศรษฐา

ตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๖๐ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมากกว่า สส. ที่ใช้มาตรา ๙๘ มาตราเดียว

มาตรา ๑๖๐ (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

สองอนุมาตรานี้ คือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายคำถามถามว่า นายพิชิต มีคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตรงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

มาตรา ๑๗๐ ของรัฐธรรมนูญ ระบุถึงความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เมื่อ (๔) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๖๐ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

มาตรา ๒๓๑ ของรัฐธรรมนูญ ระบุให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ในกรณีเห็นว่ามีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกรณีคำสั่ง หรือการกระทำใดของเจ้าหน้าที่รัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

มาตรา ๒๓๔ ของรัฐธรรมนูญ ระบุให้กรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนกรณีมีการกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก่อนส่งต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี

วันนี้ มีศร ๓ ดอก คือ ทั้งพรหมาสตร์ พลายวาต และอัคนิวาต ทั้งพุ่งตรงครบ ๓ หน่วยงาน คือ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ช. ครบถ้วน

กองทัพธรรม ร้อง กกต. และ ป.ป.ช. คุณวิรังรอง ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน คุณวัชระ ร้องตัวนายกรัฐมนตรี ต่อ ป.ป.ช. …

ครับ…ทำไมนายกฯ เศรษฐาถึงทูลเกล้าฯ ถวายชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่มีเสียงเตือนรอบด้านว่า ระวังจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คำตอบจากปากนายกรัฐมนตรีคือ “ได้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ก็มั่นใจ”

หน้าที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคือ ให้คำปรึกษาข้อกฎหมายแก่รัฐบาล แต่ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

โทษจำคุกคดีถุงขนม ๒ ล้านบาท ที่ “พิชิต ชื่นบาน” ได้รับนั้น พ้น ๑๐ ปีแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ถูกต้อง

แต่ประเด็น “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” ถึงนายกฯ เศรษฐาจะถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงไม่ได้รับคำตอบ

ซึ่งในข้อเท็จจริง คงไม่มีการถามประเด็นนี้ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เช่นที่เคยถามไปก่อนทูลเกล้าฯ ถวายชื่อ ครม.เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

ครั้งนั้นถามเพียงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๑๖๐ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๗) และมาตรา ๑๖๐ (๗) เท่านั้น

ไม่ได้ถามมาตรา ๑๖๐ (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด

ตัวชี้วัดถึงความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มันมากกว่าตัวบทกฎหมาย ฉะนั้นถึงเวลาต้องสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาให้ได้ว่า การมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้นต้องเป็นแบบไหน อย่างไร

ยกตัวอย่าง “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” หรือบรรดาคนโกงทั้งหลาย พ้นโทษเกินไป ๑๐ ปีแล้ว ก็ยังกลับมาเป็นรัฐมนตรีได้

แต่มันอธิบายถึงการมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ไม่ได้

กกต.

ป.ป.ช.

ผู้ตรวจการแผ่นดิน

ล้วนมีส่วนผลักดันให้เกิดการสร้างบรรทัดฐานทั้งสิ้น

หรือหากเรื่องไปถึงศาลแล้วยังคลุมเครือ การแก้รัฐธรรมนูญคือคำตอบสุดท้าย แต่ยังไม่เคยเห็นนักการเมืองที่กระเหี้ยนกระหือรือจะแก้รัฐธรรมนูญหน้าไหนพูดถึงการแก้ไขในประเด็นเหล่านี้

คนเคยติดคุกไม่ควรให้กลับเข้าสู่อำนาจอีก โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน

ไม่เช่นนั้นประเทศไทยไม่มีทางแก้ปัญหานักการเมืองทุจริตได้เลย

Written By
More from pp
“เศรษฐา” ยัน ไม่มีกระแสข่าวโหวตคว่ำร่างงบฯ 67 ย้ำพรรคร่วมยังเหนียวแน่น
22 มีนาคม 2567 เวลา 11.00 น. ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา...
Read More
0 replies on “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์? – ผักกาดหอม”