ผักกาดหอม
คงจะห้ามไม่อยู่
กกต.เตือนว่าห้าม จัดแคมเปญ จูงใจ ชี้ชวน รวบรวมบุคคลจากหลากหลายอาชีพ รวม ๒๐ กลุ่ม ให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ
เพราะทำแบบนี้มันผิดกฎหมาย
แต่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ไม่สนใจ
อ้างว่าการเดินสายไปทั่วประเทศ เป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตื่นตัวและเข้าใจการเลือก สว.ครั้งนี้มากขึ้น
เมื่อลงไปดูในเนื้อหาที่ “ธนาธร” บอกว่าเป็นการรณรงค์ กลับพบว่า มีการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองขึ้นมาเพื่อหวังให้ มีผู้สมัคร สว.ในกลุ่มก้อนตัวเองมากที่สุด
เพื่อจะเข้าไปเลือก สว.ที่มีแนวคิดเดียวกับตัวเองให้มากพอที่จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระตามความต้องการของตนเองได้
ข้อความที่ปรากฏในเพจคณะก้าวหน้า ระบุถึงคำพูดของ “ธนาธร” ไว้ดังนี้
“…องค์กรอิสระต่างๆ ถูกแต่งตั้งโดย สว.ตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการถอดถอนยาก มีอำนาจในการตัดสิทธิ ยุบพรรคการเมือง ออกกติกาที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อทำให้องค์กรอิสระเหล่านี้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยได้ ก็ต้องใช้เสียง ๑ ใน ๓ ของ สว.”
“นี่คือระบอบประยุทธ์ที่แม้ไม่มีประยุทธ์ในสนามการเมืองแล้ว แต่ระบอบก็ยังอยู่กับเราในรูปแบบรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐”
“ถ้าอยากเห็นประเทศไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตย เกิดความสมานฉันท์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการฟื้นฟูความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย”
“อย่างไรก็ตาม การเลือก สว.ครั้งนี้คือโอกาสที่จะแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง แก้ไขปมที่พันกันยุ่งเหยิงให้ถูกต้อง เพราะผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระหลายตำแหน่งกำลังจะหมดวาระลงในปีนี้ และ สว.ที่กำลังจะมีการเลือกจะต้องเป็นผู้รับรองการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระเหล่านี้”
“การแกะปมนี้จึงอยู่ในมือของทุกคน และ สว. ๒๕๖๗ คือจุดเริ่มต้นนั้น หากทำให้มี สว.ที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ไม่ถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์ได้อย่างน้อย ๑ ใน ๓ หรือ ๗๐ คนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะมีโอกาสที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยได้”
“ขอขอบคุณพี่น้องชาวใต้ทั้ง ๔ จังหวัด ที่ให้ความสนใจมาร่วมฟังร่วมแลกเปลี่ยนกับคณะก้าวหน้ากันอย่างคึกคักทุกจังหวัด หวังว่าทุกที่จะมีประชาชนอาสาลงสมัครเพื่อโหวตและเพื่อเป็น สว.ของประชาชนกันอย่างเนืองแน่น…”
ทั้งหมดนี้คือการรณรงค์เลือก สว.
หรือเป็นการชี้นำ ชี้ชวนแนวทางว่า สว.ต้องเข้าไปทำอะไร
ก่อนอื่นต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ที่มาของ สว.นั้นต้องไม่เกี่ยวโยงกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ “ธนาธร” ยังถือเป็นนักการเมือง และยังทำงานการเมือง มีความเกี่ยวโยงกับพรรคก้าวไกลอยู่อย่างแน่นแฟ้น
ข้อนี้ก็ถือว่าผิดแล้ว
แม้แต่คำปรารภของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็ระบุว่าบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นระเบียบเรียบร้อยอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
หมายความว่าการเลือก สว.ไม่ได้ปล่อยฟรีจนใครจะทำอะไรก็ได้
ฉะนั้น “ความเป็นกลาง” จึงเป็นหัวใจของการมีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ยังมีอีกหลายมาตราของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ที่ “ธนาธร” ต้องเข้าไปอ่านให้ละเอียด เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตัวเอง แล้วหยุดพฤติกรรมจูงใจคนไปสมัคร สว.เสีย
เช่น มาตรา ๑๔ ผู้สมัครต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๕) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๑๔) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
(๒๑) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(๒๔) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
(๒๕) เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกันหรือผู้ดํารงตําแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
บทบัญญัตินี้มีขึ้นเพื่อตัดขาด สว.จากฝ่ายการเมือง
และในมุมกลับ “ธนาธร” เองเป็นผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง กลับจะไปสร้างอิทธิพลเหนือผู้สมัคร สว. พยายามใส่แนวคิด ยังหลอนอยู่กับระบอบประยุทธ์ ตั้งเป้าให้ สว.เข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเนื้อหาที่ตัวเองต้องการ
แบบนี้ยิ่งกว่าการจูงใจครับ
พฤติกรรมใกล้เคียงจูงจมูกผู้อื่นมากขึ้นทุกที
บุคคลที่ได้รับเลือกเป็น สว.เข้ารู้อยู่แล้วว่า ต้องเข้าไปทำอะไร เป็นหน้าที่ของเขา และใช่ว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน
บางคนอาจไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่ที่มีปัญหาคือนักการเมืองที่ชอบปลุกระดมต่างหาก
มาตราสำคัญที่ “ธนาธร” ต้องจำให้ขึ้นใจ แล้วนำไปบอกพรรคพวกต่อว่า ที่ทำกันมานั้นผิดกฎหมาย กกต.จะตามเช็กบิลทีหลังได้
มาตรา ๑๘ เขียนไว้ชัดเจนไม่ต้องตีความ
“…ห้ามมิให้คณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจํานวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร…”
ที่ไปเปิดเว็บไซต์ ให้ผู้ที่ต้องการสมัครกรอกชื่อ กรอกแนวคิดนั้น มันผิดกฎหมายเต็มๆ
ที่ “ธนาธร” บอกว่านึกไม่ออกว่าเหตุใด กกต.ถึงต้องการปิดเว็บไซต์ Senate67.com ทีนี้รู้หรือยังว่า กฎหมายเขียนไว้ว่าอย่างไร
ที่ห้ามเปิดเผยรายชื่อผู้สมัครและจํานวนผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจนกว่าจะพ้นระยะเวลารับสมัคร เพราะเขากลัวว่าจะมีการจ้างสมัครเพื่อบล็อกโหวต
ถ้าเอาตามที่ “ธนาธร” ต้องการ คือให้เปิดชื่อ เปิดหน้าเปิดตา บนเว็บไซต์ Senate67.com การเลือก สว.จะเต็มไปด้วยการฮั้วกัน
เพราะรู้กันหมดว่าใครกลุ่มไหนสมัครกันไปเท่าไหร่แล้ว
ใครเงินหนากว่าก็เพิ่มผู้สมัครตามสาขาอาชีพที่ตัวเองยังเพลี่ยงพล้ำอยู่
นี่แหละครับ ดูหน้าดูตา “ธนาธร” ที่ด้อมส้มยกย่องดุจพระเจ้า
แต่เปลือยความคิดแล้ว “ธนาธร” ก็ไม่ต่างจากนักการเมืองเจ้าเล่ห์คนหนึ่ง
อาศัยความไม่รู้ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองและพวกพ้อง
สำหรับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ๑๐ ปี มีเป้าหมายที่คาดเดาไม่ยาก
นั่นคือ…ล้มระบบเก่าล้างความผิดให้ตัวเอง
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ