ว่าด้วยเรื่องสนามหลวง-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

จี๊ดจ๊าดจริงๆ

มาว่าด้วยเรื่องของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคก้าวไกล กันอีกสักวัน

วานนี้ (๒๔ มีนาคม) “วิโรจน์” เดินทางไปสนามหลวง แจ้งกับนักข่าวว่าเพื่อดำเนินภารกิจทวงคืนสนามหลวงให้คนกรุงเทพฯ

พยายามนึกภาพตามว่า ทำไมต้องคืน จะคืนเอาไปทำอะไรบ้าง ก็กระจ่างเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ของ “วิโรจน์”

“…สนามหลวงคือลานที่ดูแลโดยภาษีประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่การใช้งานที่ผ่านมาแทบจำกัดอย่างมาก

ทั้งที่แต่เดิมสนามหลวงเป็นลานการจัดกิจกรรมของประชาชนมาตลอด อาทิ พื้นที่ขายหนังสือ ตลาดนัด ที่นั่งเล่น สภากาแฟ

รวมถึงทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เช่น เสวนาทางการเมือง เรียกร้องสิทธิของประชาชน หลังการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

แต่หลังจากนั้นก็ยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้จนมีการออกระเบียบเมื่อปี ๒๕๕๕

ถ้าผมได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมจะเอารั้วออกให้ประชาชนเข้าไปทำกิจกรรม รวมถึงพัฒนาด้านความปลอดภัย ความสะอาด เพื่อให้ประชาชนมาใช้และสัญจรได้สะดวกขึ้น รวมถึงจะให้สนามหลวงทำกิจกรรม

ส่วนทางด้านเหนือเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมทางการเมือง อาทิ เสวนาหรือไฮด์ปาร์กทางการเมืองได้ เพื่อร่วมกันหาทางออกในกระบวนการประชาธิปไตยอย่างสร้างสรรค์…

ก็พอมโนภาพได้ว่าจะพาสนามหลวงย้อนกลับไปก่อนงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในปี ๒๕๒๕

ถอยหลังไป ๔๐ ปีที่แล้ว

ถึงไม่ชัดเจนว่า “วิโรจน์” จะเอาแผงหนังสือ ตลาดนัด พื้นที่ชุมนุม กลับสนามหลวงหรือไม่ แต่โดยนัยคือ ให้สนามหลวงเป็นของประชาชนผู้เสียภาษี

หากใครติดตามการชุมนุมของม็อบสามนิ้ว จะพบว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีความพยายามเสนอเปลี่ยนชื่อสนามหลวง เป็นสนามราษฎร์

เพราะตะแบงว่า สนามหลวง คือสนามของสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อ “วิโรจน์” ออกนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คืนสนามหลวงให้คนกรุง ก็ควรไปทำความรู้จักกับสนามหลวงว่ามีที่มาที่ไป และวิวัฒนาการมาอย่างไร

สนามหลวงมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดขอบเขตพระบรมมหาราชวังขึ้น และเว้นพื้นที่ที่มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ระหว่างพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง กับพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าไว้ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง

รวมไปถึงเป็นที่สร้างพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศที่ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกบนสถานที่นี้คือ พระเมรุมาศสำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก

ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ทุ่งพระเมรุ”

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวทำนาหลวง

มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่าชื่อทุ่งพระเมรุนั้นเป็นชื่อที่ฟังดูไม่ดี จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง”

ปี ๒๕๕๓ กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสนามหลวง จากเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น แล้วเสร็จในปลายเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๔

ตรงกับช่วงที่หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม.

และหลัง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ทางกรุงเทพมหานครไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เพื่อสงวนไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีเท่านั้น

แต่ในทางปฏิบัติ สนามหลวงยังคงถูกใช้เป็นเวทีปราศรัยทางการเมืองเรื่อยมา

เดือนพฤษภาคมปี ๒๕๕๗ กำนันสุเทพ และมวลมหาประชาชน กปปส. จัดชุมนุมจนล้นสนามหลวง มีแต่คนที่ต้องการไล่ “ยิ่งลัษณ์ ชินวัตร”

ล่าสุดม็อบสามนิ้วก็ใช้สนามหลวงจัดชุมนุม ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเละเทะไปหมด

เนื้อหาการปราศรัยก็อย่างที่รู้กันอยู่ มีแต่การโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์

ครับ…เห็นที่มาของสนามหลวงคร่าวๆ แล้วนะครับ ปัจจุบันผู้ดูแลคือกรุงเทพมหานคร ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสำนักพระราชวัง

ถ้า “วิโรจน์” ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะรื้อรั้วทิ้ง ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ จะไปทำร้านกาแฟ แผงหนังสือ ก็ทำได้ตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน

แต่ข้องใจนิดเดียว…

การรื้อรั้วของ “วิโรจน์” หมายถึงรั้วรอบๆ สนามหลวงจริงๆ หรือ

หรือมีเจตนาเปรียบเปรยไปถึงรั้วอื่น

ก่อนอื่น “วิโรจน์” ต้องกลับไปฟังคำแถลงข่าวของสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๓

…กทม.โดยสำนักงานเขตพระนคร ในฐานะผู้รับผิดชอบพื้นที่ ได้ให้เจ้าหน้าที่นำป้ายอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ของประชาชน ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐-๒๒.๐๐ น. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศ กทม.เมื่อปี ๒๕๕๕ ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าไปออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือมีกิจกรรมสันทนาการ

นับตั้งแต่บัดนี้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในสนามหลวงเพื่อออกกำลังกาย พักผ่อน สันทนาการได้ตามเวลาที่กำหนด

แต่หากจะเข้าไปจัดกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ยังจำเป็นต้องขออนุญาตจาก กทม.

ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้เพียง ๔ กรณี คือ ๑.จัดงานพระราชพิธี ๒.จัดงานพิธี ๓.จัดงานประจำปี และ ๔.จัดงานหรือกิจกรรมของหน่วยงานราชการ…

กรุงเทพมหานครเขาเปิดรั้วให้ประชาชนใช้พื้นที่มานานแล้ว

ยกเว้นช่วงสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สนามหลวงงดกิจกรรมอื่นๆ ยกเว้น งานพระราชพิธี

หลังราชพิธีเสร็จสิ้น สนามหลวงก็ยังเป็นพื้นที่ออกกำลังของประชาชนในยามเช้า ยามเย็น

วันนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากหิ้วสเกตบอร์ดไปเล่นในท้องสนามหลวงได้ถึง ๔ ทุ่ม

ถ้า “วิโรจน์” อยากให้สนามหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุมก็ไม่ยากอะไร

พ.ร.บ.การชุมนุมฯ กำหนดว่าการชุมนุมต้องห่างจากเขตพระบรมมหาราชวัง หรือเขตพระราชฐาน ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เมตร

รวมทั้งไปดูว่า พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีข้อกำหนดอะไรบ้าง

ก็สนับสนุนครับ

เผื่อ “วิโรจน์” ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วไม่ทำตามสัญญา ประชาชนจะได้ใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุมทวงสัญญาจาก “วิโรจน์” ได้

หรือพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลแล้วบริหารประเทศไม่ถูกใจประชาชน ก็จะได้ใช้สนามหลวงชุมนุมขับไล่รัฐบาล

ครับ…เรื่องสนามหลวงในอดีตเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องตามยุคสมัย ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

ฉะนั้น อย่าสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนเพื่อหวังผลทางการเมือง

เป็นนักการเมืองต้องหัดพูดความจริงบ้างครับ



Written By
More from pp
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จัดหนักส่งโปรเด็ด 11 เดือน 11 มอบสิทธิพิเศษ!! ซื้อตั๋วหนัง 1 ที่นั่ง ฟรี 1 ที่นั่ง
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จัดหนักส่งโปรเด็ด 11 เดือน 11 รับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 วันเดียวเท่านั้น!!  มอบสิทธิพิเศษ…ซื้อบัตรชมภาพยนตร์ 1 ที่นั่ง ฟรี 1 ที่นั่ง สำหรับที่นั่งปกติ และ ที่นั่งฮันนีมูนในระบบปกติ , IMAX , 4DX , GLS (Giant Laser Screen) และ Kids...
Read More
0 replies on “ว่าด้วยเรื่องสนามหลวง-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();