“ดร.พิสิฐ” ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ชี้ จะส่งผลกระทบเสียหาย ร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

29 เมษายน 2567 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 26 เม.ย. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อรัฐบาลจากการมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญระบุว่า

ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet ) โดยเป็นการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) โดยแถลงว่า คณะรัฐมนตรีให้มีมติล้มเลิกข้อเสนอแนวทางเดิมที่จะมีการตราพระราชบัญญัติ เพื่อกู้เงินจำนวน 560,000 ล้านบาท และเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามนัยพระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 โดยมีการกำหนด

แนวทางจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้แทน

1) ตัดลดงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 172,300 ล้านบาท
2) ขยายการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,900 ล้านบาท
3) พิจารณาขอยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 175,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของรัฐบาลได้อ้างเหตุผลในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยยืนยันว่า เป็นไปเพื่อเป็นกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นวิกฤต ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ขยายตัวดีขึ้น อันเนื่องมาจากประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคกับบรรดาร้านค้าหรือผู้ประกอบการ ซึ่งในการดำเนินการเช่นนี้ ยังไม่มีความชัดเจนในแผนงานและทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งจากนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน การธนาคาร นักกฎหมาย เป็นตัน อีกทั้งการดำเนินนโยบายประชานิยมเช่นว่านี้ ยังก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐเป็นจำนวนมหาศาลนั้น

ในการนี้ ข้าพเจ้าในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาด้านการคลังมามากกว่า 50 ปี มีความเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นนี้ หากมีการนำไปปฏิบัติจะสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังส่งผลต่อภาระทางการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นที่เชื่อได้ว่าหากดำเนินโครงการดังกล่าวไปแล้ว อาจจะทำให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินในกรณีนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ โดยมีเหตุผลประการสำคัญ ดังนี้

1) การตัดบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 172,300 ล้านบาท จะมีผลกระต่อการทำงานของระบบงบประมาณ ซึ่งล่าช้ามากว่าครึ่งค่อนปีแล้ว ทำให้เงินหมุนเวียนของรายจ่ายลดลง วิธีการแบบนี้จะเป็นเสมือนหนึ่ง คนไข้ต้องการเลือด แทนที่หมอจะไปนำเลือดจากภายนอกมาฉีดให้ กลับสูบเลือด จากคนไข้เพื่อฉีดกลับเข้าไปใหม่ จึงไม่มีผลสุทธิในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่อ้างแต่ประการใด และยังมีความเสียหายจากความลำข้าของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทั้งที่ หน่วยงานราชการต่างๆ เตรียมการเบิกจ่ายแล้วตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ

2) การขยายวงเงินขาดดุล 152,900 ล้านบาท และต้องก่อหนี้เงินกู้ทั้งจำนวนเพื่อมาใช้ ก็จะมีลักษณะเดียวกับข้อเสนอก่อนหน้าที่จะมีการตรา พ.ร.บ.กู้เงิน แได้รับเสียงคัดค้านจึงต้องพับเรื่องการตรา พ.ร.บ. ออกไป สำหรับวงเงินงบประมาณ พ.ศ. 2568 คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 อนุมัติตามที่ 4 หน่วยงานนำเสนอในการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ 3,600,000 ล้านบาท ขาดดุล 713,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอำนาจตาม มาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 แต่จากการประชุมของ 4 หน่วยงาน

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ใช้เวลาเพียง 20 นาที จึงเป็นการรวบรัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยการให้ก่อหนี้เพิ่มเต็มจำนวนที่เพิ่ม จึงทำให้ต้องขาดดุลเพิ่มเป็น 865,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลงบประมาณที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีการนำเสนอวงเงินงบประมาณของประเทศ จึงอาจส่งผลในทางการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีจำกัด เพราะรัฐบาลต้องไปออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินจากระบบธนาคาร ทำให้วงเงินที่ธนาคารจะปล่อยให้กู้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจลดลง ดังนั้นสินเชื่อครัวเรือนและธุรกิจจะมีความฝืดเคืองมากขึ้น เพราะรัฐบาลดึงเงินในระบบออกไปใช้เป็นจำนวนมหาศาล

3) การยืมเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 175,000 ล้านบาท จะมีผลทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรตามภาระหน้าที่ของธ.ก.ส.ตามกฎหมาย จากงบการเงิน ธ.ก.ส.ล่าสุดปรากฏว่า ธ.ก.ส.มีเงินสดเพียง 20,000 ล้านบาท หากจะให้รัฐบาลยืมเงิน จำนวน 175,000 ล้านบาท ซึ่งยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ ก็จะทำให้ ธ.ก ส. ต้องเรียกคืนเงินสินเชื่อเกษตรกรและการลงทุนอื่นของธ.ก.ส. กลับมา ซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนให้กับเกษตรกรที่ถูกเรียกเงินคืน และจะไม่มีเงินสินเชื่อใหม่ให้แก่เกษตรกร อันจะเป็นการสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยวิธีการหาแหล่งเงินใหม่ทั้งสามประการข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเชิงลบ มากกว่าประโยชน์ที่รัฐบาลได้กล่าวอ้างว่าจะทำให้ตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขยาย ทั้งความเชื่อมั่นในระบบการเงินการคลังไทยที่เคยมีมาอาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ที่สำคัญคือ เงินจำนวนกว่า500,000 ล้านบาท ที่จะจ่ายออกไปนั้น จะเป็นหนี้สาธารณะที่ชนรุ่นหลังต้องมาชดใช้พร้อมดอกเบี้ย เช่นเดียวกับความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวที่ยังเป็นภาระของรัฐบาล และ ธ.ก.ส. นับแสนๆ ล้านบาทในปัจจุบัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอความอนุเคราะห์ให้ท่านและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อรัฐบาล ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Walle) ให้ถูกต้องและเกิดความคุ้มค่า ซึ่งจะเป็นการยับยั้งความเสียหายต่อไป อีกทั้งยังเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานท่าน ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 8 และมาตรา 27 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ดังต่อไปนี้

มาตรา 8 “….เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงิน การคลังของรัฐให้ผู้ว่าการเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงิน การคลังของรัฐ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา….”
.
มาตรา 27 ให้คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้….
.
4) ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คำแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับ การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน….”
.
ทั้งนี้ ข้าพเจ้ายินดีที่จะให้ความร่วมมือ หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมประการใดจากข้าพเจ้า และหากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ได้ผลเป็นประการใด โปรดมีหนังสือแจ้งให้ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงความคืบหน้าและผลการดำเนินการดังกล่าว ในฐานะประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอันเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของรัฐบาลต่อไปด้วย

Written By
More from pp
“ทิพานัน” คิกออฟโครงการสร้างเสริมความรู้พิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน
“ทิพานัน” คิกออฟโครงการสร้างเสริมความรู้พิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน หวังป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ และจุดเริ่มต้นไปสู่สิ่งเสพติดอื่น เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพและอนาคตที่ดีของเด็กและเยาวชน
Read More
0 replies on ““ดร.พิสิฐ” ยื่นผู้ตรวจการฯ สอบ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ชี้ จะส่งผลกระทบเสียหาย ร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ”