เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ แกนนำพรรคไทยสร้างไทย ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณปี 2567 กล่าวถึงที่มาของงบประมาณ สำหรับใช้ในโครงการ เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมธกส.ว่า จากการจัดทำงบประมาณในปี 2567 ที่ผ่านมา ไม่มีการพิจารณาโครงการนี้ในชั้นกรรมาธิการแต่อย่างใด ซึ่งในหลักการตนเห็นด้วยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบว่าต้องมีเงินสกุลหลักสกุลเดียว คือ “เงินบาท”โดยค่าของ “เงินบาท”สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือ
หากค่าเงินของประเทศตกต่ำลง หายนะก็จะมาสู่ประเทศและคนไทยทุกคน ที่สำคัญชาวบ้านเห็นชัดเจนว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์ในท้ายที่สุดจากโครงการนี้ คือ”ห้างสะดวกซื้อ” ซึ่งมีอยู่ทุกหัวระแหง ทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ทั่วประเทศ โดยเจ้าของร้านสะดวกซื้อ คือ มหาเศรษฐีอันด้บต้นๆ ของประเทศ เงินงบประมาณหลายแสนล้านบาท จากห้าแสนล้านบาท ไม่ได้กระจายไปยังร้านเล็ก ร้านน้อย ตามหมู่บ้าน ตำบล แต่จะกระจุกตัวอยู่ที่เจ้าสัว เจ้าของ “ร้านสะดวกซื้อ” ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็จะยิ่งกว้างขึ้น
นอกจากนี้ หากใครจำเรื่อง สปก.ได้ สมัยพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล เมื่อมีการออก สปก.ให้กับ “ผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร” ก็เป็นเหตุให้รัฐบาลในยุคนั้นต้องล้มไป หรือแม้แต่ในรัฐบาลนี้ กรณีออก สปก.ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้กับ “ผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร” ก็ต้องเพิกถอน สปก.ดังกล่าว และต้องออกตัวกันยกใหญ่อยู่ในขณะนี้ ดังนั้นการจะนำเงินจาก ธกส. มาใช้ในโครงการนี้ ถ้าจับหลักการของ พ.ร.บ.ธกส.ที่มีวัตถุประสงค์ “เพื่อเกษตรกร” ไม่ได้ ก็จะคล้ายๆ กับ สปก.ที่มีวัตถุประสงค์ “เพื่อเกษตรกร” ผู้เกี่ยวข้องก็จะ “ติดร่างแห” กันไปหมด ตนได้ให้ความเห็นมาโดยไม่มีอคติใดๆ ยังให้กำลังใจทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาเพื่อประชาชน แต่ถ้าเดินหน้า โดยไม่ฟังเสียงท้วงติง ถือว่าตนได้ทำหน้าที่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งแล้ว