เสียค่าโง่ให้กัมพูชา #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ดีครับ…

เอา MOU 44 เข้าไปถกในสภาฯ

แล้วยกเลิกเสีย

เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลสามารถชี้แจงได้ว่า ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่ไทยจะเสียดินแดน คือ เกาะกูด ให้กัมพูชา

รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรในทะเล แบบเสียค่าโง่ให้กัมพูชา

หรือคนไทยต้องสูญเสียประโยชน์เพราะนักการเมือง ๒ ประเทศฮั้วกัน

ถ้ารัฐบาลสามารถหักล้างข้อวิตกกังวลนี้ได้อย่างหมดจด ก็เดินหน้าหอบ MOU 44 ไปเจรจากับกัมพูชาต่อให้บรรลุผลเพื่อประชาชน

แต่หากทำไม่ได้แล้วเดินหน้าต่อ ก็อย่าเที่ยวไล่ฟ้องประชาชน หากเขาตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลกำลังขายชาติ

อยากให้รัฐบาลอ่านบทความที่เขียนโดย ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ ที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เผยแพร่เมื่อ ปี ๒๕๕๔

และปัจจุบันมีการนำมาเผยแพร่ต่อ ในหลากหลายช่องทาง

ฉะนั้นขอนำมาซอยย่อยเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะ ประเด็น “เกาะกูด”

เกาะกูด เป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะกรรมสิทธิ์ในเกาะกูดเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

ในขณะที่ไทยยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย ตามหลักฐาน หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ (ค.ศ. ๑๙๐๗) ข้อ ๒ ระบุว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม”

จริงหรือไม่ที่กัมพูชาไม่เคย โต้แย้งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวแต่อย่างใด?

มีกรณีหนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชา ฉบับวันที่ ๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๓๙ ได้ตีพิมพ์บทความว่า เกาะกูดเคยเป็นของกัมพูชา และไทยได้เข้ายึดและวางกำลังกองทัพเรือเหนือเกาะกูดในสมัยเขมรแดง

แม้เชื่อกันว่าทางการกัมพูชาไม่เคยโต้แย้งกรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูดของไทย แต่กัมพูชากลับถือเอาเส้นแสดงจุดเล็งจากยอดสูงสุดของเกาะกูด มายังหลักเขตทางบกที่ ๗๓ เป็นเส้นไหล่ทวีปและเส้นทะเลอาณาเขตของตน

และยังขยายเส้นไหล่ทวีปจากยอดสูงสุดของเกาะกูด ผ่าดินแดนบนบกของเกาะกูด เลยไปประมาณกึ่งกลางฝั่งตรงข้ามของอ่าวไทย

นี่คือสิ่งที่ไทยและกัมพูชารู้มาตลอด

นอกจากนี้ ในประกาศกฤษฎีกากัมพูชานี้ยังได้อ้างว่ามีการปักปันเขตไหล่ทวีป แต่ไม่ระบุว่ามีการปักปันกับใคร เมื่อใด

เท่ากับเป็นการกล่าวเท็จโดยสิ้นเชิง

ประกาศกฤษฎีกากัมพูชาซึ่งกำหนดทะเลอาณาเขตกัมพูชา ได้ใช้เส้นเดียวกับประกาศเขตไหล่ทวีปกัมพูชาจาก หลักเขต ๗๓ ไปสู่ฝั่งเกาะกูด เท่ากับว่าแบ่งเขตทางทะเลของเกาะกูดไปประมาณครึ่งหนึ่ง

นี่คือการอ้างสิทธิ์ใช่หรือไม่?

ฉะนั้นรัฐบาลต้องศึกษาข้อมูลให้ตกผลึกเสียก่อน แล้วค่อยยืนยันว่า กัมพูชาไม่เคยอ้างกรรมสิทธิ์ในเกาะกูด

แน่นอนครับการประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวไม่มีทางที่กฎหมายจะผูกพันประเทศอื่น อย่างที่กัมพูชาทำอยู่

หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่บัญญัติไว้ในข้อ ๒ ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๕๘ เกี่ยวกับไหล่ทวีป และข้อ ๗๗ ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๘๒ ระบุว่า การประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันประเทศอื่น

“เว้นแต่จะได้มีความตกลงระหว่างกัน”

ดังนั้น เส้นเขตทางทะเล ทั้งทะเลอาณาเขตและเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศกฤษฎีกาฝ่ายเดียวแม้จะอ้างว่าถูกต้องตามกฎหมายเพียงใด ก็ไม่ผูกพันไทย

แต่ปัญหามันเกิดทันทีเมื่อมี MOU 44

การทำบันทึกความเข้าใจฯ ในปี ๒๕๔๔ เท่ากับเป็นการยอมรับประกาศเขตทางทะเลของกัมพูชาและก่อให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน

อารัมภบทของบันทึกความเข้าใจฯ นี้ วรรค ๓ กล่าวว่า

“ยอมรับว่า (Recognizing) จากผลของการอ้างสิทธิของประเทศทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขตไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทยทำให้เกิดพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อน (พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน)”

จากที่ไม่ควรมีพื้นที่ทับซ้อน กลับไปยอมรับว่ามีพื้นที่ทับซ้อน

นี่คือปฐมบทของหายนะ

ตาม MOU 44 ฉบับนี้ ข้อ ๑ ที่ตกลงทำความตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับ “พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน” โดยเฉพาะในการจัดทำความตกลงต่อไปเพื่อพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมและแบ่งเขตทางทะเลในข้อ ๒ นั้นย่อมเป็นการยืนยันการยอมรับเขตอ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างกัน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๒๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร

เพราะผลประโยชน์บังตา ความเสียหายจึงเกิดขึ้น

มีบทความชื่อ Border Conflicts between Cambodia and Vietnam โดย Ramses Amer ได้แสดงแผนที่เขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาไว้ พบว่าพื้นที่ทางทะเลตามบันทึกความเข้าใจฯ ส่วนบนที่ไทยและกัมพูชาตกลงจะแบ่งเขตนั้นเป็นของไทยทั้งหมด!

ไม่มีส่วนไหนทับซ้อนกับกัมพูชาเลย

แต่รัฐบาลทักษิณเมื่อปี ๒๕๔๔ กลับไปยอมรับ เส้นของกัมพูชาที่ลากผ่าเกาะกูด

แม้ไม่ใช่การยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยครึ่งกัมพูชาครึ่ง แต่การยอมรับ “เส้นเถื่อน” ของกัมพูชามาแนบไว้ใน MOU 44 ไม่ต่างจากเสียค่าโง่ให้กัมพูชาไปแล้วครึ่งหนึ่ง

หากดำเนินการทำความตกลงตามบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป จะทำให้พื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างซึ่งตกลงจะแสวงประโยชน์ร่วมกันนั้น เมื่อความตกลงมีผลบังคับก็จะเป็นผลให้พื้นที่ในท้องทะเลเหนือส่วนล่างนี้เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ทับซ้อนไปด้วยทันที

จะเป็นปัญหาในการแบ่งพื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างต่อไป

ฉะนั้นหากกัมพูชาไม่ยอมปรับเส้นเขตทางทะเลดังกล่าวตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องรีบบอกเลิก MOU 44 โดยเร็ว

มิฉะนั้นแล้ว หากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล ประเทศไทยย่อมเสียเปรียบในรูปคดีแน่

เพราะศาลก็จะบังคับให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่ศาลเห็นสมควร

ครับ…รัฐบาลควรกลับไปคิดให้รอบคอบก่อนที่จะตั้ง คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ถือ MOU 44 ไปคุยกับกัมพูชา

คิดในแง่ดี กัมพูชาไม่ได้ต้องการเกาะกูด แค่ต้องการต่อรองผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างว่าทับซ้อนกับไทยให้ได้มากที่สุด ทั้งที่ไม่ควรได้ตั้งแต่แรก

หากเลวร้ายสุดก็เป็นไปตาม กฤษฎีกากัมพูชา ขอเกาะกูดไปครึ่งหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน หากยังยึด MOU 44 เป็นคัมภีร์ ก็เท่ากับเสียค่าโง่ให้กัมพูชาไปแล้ว

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
เดทตอลชวนคุณหมอ แนะวิธีหยุดเชื้อ COVID -19 แพร่กระจาย สำหรับบ้านที่มีผู้ป่วย Home Isolation
การดูแลสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation เพราะหลายท่านยังต้องอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว แต่ก็กลัวความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายไปยังคนรอบข้าง บริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อทำความสะอาดแบรนด์ “เดทตอล”
Read More
0 replies on “เสียค่าโง่ให้กัมพูชา #ผักกาดหอม”