ผลงานโบว์แดง? – สันต์ สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

ข่าวแจ้งจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ..
“#ประกาศ.. ความคืบหน้าสำหรับวงการภาพยนตร์ไทยในปีนี้ ที่กระบวนการพิจารณาภาพยนตร์ การจัดเรตติ้ง มาอยู่ในสัดส่วนของเอกชนมากกว่าภาครัฐแล้ว
รายชื่อกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ ตามรายชื่อที่ทางคณะอนุกรรมการ soft power ด้านภาพยนตร์เสนอต่อประธานไป

โดยได้เสนอชื่อแต่งตั้งขึ้นใหม่จำนวน 9 ชุด และรวมชุดเดิมอีก 1 ชุดที่ยังไม่หมดวาระ รวมเป็นทั้งหมด 10 ชุดด้วยกัน และกำหนดสัดส่วนให้เอกชนมีเสียงมากกว่าฝ่ายราชการ

แล้วในแต่ละชุด จะมีสัดส่วนจากภาคเอกชน 3 ท่าน และภาครัฐ 2 ท่าน (ภาคเอกชนเป็นเสียงข้างมาก) ซึ่งสัดส่วนนี้ยังต้องเป็นไปใต้ข้อกำหนดกฎกระทรวงเดิมก่อน

จนกว่าจะแก้กฎหมายกระทรวงฯ เสร็จสิ้น ขณะที่ประธานกรรมการทุกชุดจะเป็นเอกชนทั้งหมด

ส่วนขั้นตอนต่อไปจะเป็นการปรับโครงสร้างใหม่ คือการแก้ไขกฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรม และพรบ.ภาพยนตร์ให้เหมาะสม และทันสมัยเพื่อเทียบเท่ากับระดับสากล”

ครับ..จะถือเป็น “ผลงานโบว์แดง” ของสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ฯ หรือไม่ ไม่รู้ แต่ดูจะเป็นที่ภูมิอก-ภูมิใจของผู้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอย่างมาก

ที่สามารถดำเนินการ-จัดการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ได้ตามที่ต้องการสำเร็จลุล่วง!

ซึ่งก็คงจะได้ปฏิบัติหน้าที่กันไปแล้วภายใต้กฎหมายภาพยนตร์ฉบับปัจจุบัน และนั่นหมายความว่า กรรมการในซีกเอกชนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้กำกับ ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงภาพยนตร์

จะต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังเป็นพิเศษกับการจัดประเภทภาพยนตร์-เรตติ้ง!

ยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่เป็น “ประธาน” ด้วยแล้ว ยิ่งต้องรอบคอบมากเป็นสองเท่า เพราะต้องไม่ลืมว่ากิจการ-งานอื่นใดที่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง..

จะตัดสินใจอะไรไปตามอำเภอใจ หรือพวกมากลากไปโดยขัดหรือผิดจากที่กฎหมายกำหนด ก็จะยุ่ง!

อย่างที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการแต่ละชุดจะเป็นคนของภาครัฐ บางคณะก็มีระดับอัยการเป็นประธาน ซึ่งก็ทำให้เบาใจไปได้เมื่อจำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้าพิจารณาในการติดเรต

ด้วยมีผู้มีความรู้ด้านกฎหมายคอยชี้แนะชี้นำท้วงติง โอกาสที่จะเป็นกิ้งกือตกท่อก็เห็นจะเกิดยาก!

และจะว่าไปแล้ว การที่ภาครัฐเสียงมากกว่าเอกชนก็หาได้เป็นอุปสรรคในการกำหนดเรตติ้งไม่ในความเห็นผม?

เพราะจากประสบการณ์ตัวเองที่เคยร่วมเป็นกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯมา8-9ปี ก็ไม่เคยที่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจอะไรกับการที่มีกรรมการจากภาครัฐที่มากกว่า

ส่วนใหญ่การพิจารณาภาพยนตร์ก็เป็นไปด้วยดี ตามข้อกำหนด-กฎหมาย พูดง่ายๆตรงๆกรรมการทุกคนต่างรู้หน้าที่และเข้าใจการกำหนดประเภทภาพยนตร์ (7ประเภท) เสมอเหมือนกัน

จะมีอภิปราย ถกเถียงกันบ้างในห้องประชุม ก็ไม่ถึงขั้นแบ่งฝ่าย-แบ่งพวก(เอกชน-รัฐ)ไม่ค่อยเจอที่กรรมการจากภาครัฐจะดื้อดึงแข็งขืนจะเอาตามใจตัว หรือคิดที่จะแบนหนัง..

นอกจากเสียจากหนังเรื่องนั้นผิดกฎหมายโดยที่ผู้กำกับ-ผู้สร้างไม่ยอมแก้ไข จึงจำต้องแบน!

ซึ่งถ้าไม่อยากให้มีการ “แบนหนัง” ก็ร่างพรบ.ภาพยนตร์ฯขึ้นมาใหม่ อย่างที่คุณชายอดัมว่าไว้วันก่อนนั่นแหละ!

นี่..ที่พูดมาก็ไม่ได้จะคัดค้าน หรือไม่เห็นด้วย เพียงแต่เป็นห่วง เพราะเห็นรายชื่อ “ประธาน”ทั้ง 9 คณะ บางคนเป็นพี่เป็นเพื่อนที่สนิทคุ้นเคยกัน

ถ้ามีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายร่วมคณะก็คงพอจะเบาใจ แต่เมื่อมีแต่คนที่เก่ง-มีความรู้ด้านภาพยนตร์มากกว่าเช่นนี้แล้ว..

ก็..ใคร่จะขอเตือน อย่าเห็นแก่เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการผู้สร้าง-ผู้กำกับ ต้องยึดหลักให้มั่น ยึดกฎหมายให้แน่น..

เป็นห่วงน่ะนะ!

Written By
More from pp
หนังโป๊..ธุรกิจใหม่?-สันต์ สะตอแมน
ผสมโรง สันต์ สะตอแมน “พวกเราเห็นตรงกันว่า.. หนังผู้ใหญ่ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า หนังโป๊ ไม่ได้ทำร้ายใคร ตราบใดที่มีการควบคุมผู้ผลิต เช่น หนังโป๊เด็ก...
Read More
0 replies on “ผลงานโบว์แดง? – สันต์ สะตอแมน”