“ตะวันตกดินที่ภูกระดึง”-เปลว สีเงิน

เปลว สีเงิน

เคราะห์ดีของ “ประเทศเนปาล” นะ
ที่ “นางพวงเพชร ชุนละเอียด” นางพญาก้นย่ามทักษิณเป็นรัฐมนตรีเมืองไทย
ถ้าเป็นรัฐมนตรีเนปาลละก็……..
คงมีโครงการ “สร้างกระเช้าไฟฟ้า” ขึ้นยอดเขา “เอเวอเรสต์” แถบ “เทือกเขาหิมาลัย” ไปแล้ว!

แต่น่าเสียดาย เพราะนางเป็นรัฐมนตรีเมืองไทย โครงการสร้าง “กระเช้าไฟฟ้า” จึงถูกดันขึ้นแทน ที่ “ภูกระดึง” ประเทศไทย
จะบอกว่า เป็นการสืบสานงานทักษิณที่พยายามผลักดันมาครั้ง สมัยเป็นนายกฯเมื่อปี ๒๕๔๗ ก็คงไม่ผิด

เรื่อง “สร้างกระเช้าไฟฟ้า” ขึ้นภูกระดึงนี่
จะว่าไปแล้ว ผมว่า “อาถรรพณ์ป่า” แรงมาก!

ไม่ใช่รัฐมนตรีพวงเพชร เพิ่งจะมาริเริ่ม-ผลักดันให้ทำในยุคนี้ หากแต่ผลักดันกันมา “หลายยุค-หลายสมัย” เป็นระยะๆ ในรอบ ๓๐-๔๐ ปีแล้ว

แต่ไม่มีใคร-รัฐบาลไหน ลงมือทำได้สำเร็จ….

มาถึงรัฐบาลเพื่อไทยยุคเศรษฐา “นางพวงเพชร” ก็โหมโรงอีกครั้ง

ใน “ครม.สัญจร” ที่หนองบัวลำภูวานซืน รัฐมนตรีพวงเพชรให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า

“ได้เสนอของบกลางจำนวน ๒๘ ล้านบาท เพื่อดำเนินการจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง”

ก็ “ฮือฮา-อื้อฮือ” กันไปทั้งเมือง
วิพาษ์-วิจารณ์กันเซ็งแซ่ ก็มีทั้งสนับสนุน-ทั้งคัดค้าน
จน “นายอรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมอุทยานฯ ต้องออกมาอธิบายขั้นตอนให้ทราบ
ว่ายังไม่มีการตกลงหรืออนุมัติให้สร้างแต่อย่างใด

ต้องเข้าไปสำรวจ เก็บข้อมูลสถานภาพทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความเป็นไปได้ในโครงการก่อน
โน่นแหละ อีกราวๆ ๒ ปี…
ราวๆ กันยา.๖๘ ถึงจะได้ผลสำรวจ นำเสนอรัฐบาลตัดสินใจ ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง?

สรุปเป็นว่า “สร้าง-ไม่สร้าง” เป็นเรื่องวันหน้า

แต่วันนี้ นางพวงเพชร ขอ ๒๘ ล้านบาทก่อน อ้างเพื่อจ้างสำรวจออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง!?

แหม…!
เหมือนหญิงยังไม่มีผัว แต่ดันซื้อเปล ซื้อปลาตะเพียนแขวน ซื้อผ้าอ้อม ซื้อเสื้อผ้าทารก เตรียมล่วงหน้างั้นแหละ

หาผัวให้ได้ก่อนเถอะ แล้วค่อยซื้อไม่ดีกว่าหรือ?
มันจะได้ไม่ “ออกนอกหน้า” จนประเจิด-ประเจ้อ

อยู่ไปให้ถึง ๒ ปี ผลสำรวจออกมาแล้ว ครม.ตัดสินใจอย่างใด-อย่างหนึ่งแล้ว ค่อย “ออกแบบก่อสร้าง” นั่นก็ยังทัน

ก็เชื่อแหละว่า เพื่อไทย “หาเงินได้-ใช้เงินเป็น”
แต่ตกเบ็ดในบ่อ “งบประมาณ” ไปใช้ตั้ง ๒๘ ล้านแบบนี้ มันไม่ใช่ “ใช้เงินเป็น”
มันจะเข้าทำนอง “ผลาญเงินเป็น” มากกว่า!

“ภูกระดึง” เนี่ย ผมไม่เคยขึ้นไปหรอก
แต่ฟัง เขาเล่าว่า “เจ้าที่-เจ้าทาง-เจ้าป่า-เจ้าเขา” รวมทั้ง “ผีสาง-นางไม้” เฮี้ยนนัก

อย่าว่าแต่คนที่ขึ้นไปใจเข้าไม่ถึงสรรพสิ่งที่ “ธรรมชาติจัดสรร” มอบไว้ให้เลย

แค่ปีนขึ้นไป แต่ประพฤติไม่ดีงาม ปากพล่อยในวาจาเหยียบย่ำทำลายหรือแค่เก็บไบไม้ไปซักใบ

นั่นจะถูก “สิ่งที่มองไม่เห็น” สอนจนตระหนก ก่อนจะเข้าใจว่า อัน “ภูกระดึง” นั้น…
“ธรรมชาติ” ไม่ได้แต่งแต้มทุกสิ่งเพื่อ “คนโลภ”

หากแต่ “ธรรมชาติ” มอบ “ภูกระดึง” ให้กับทุกคนที่เดินเท้าขึ้นไป แล้ว “ภูกระดึง” จะเชื่อมธรรมชาติเข้ากับ “จิตจักรวาล”

เป็น “รางวัล” เทพารักษ์ประทานให้เฉพาะผู้มุมุ่ง

ผู้นั้นจะเข้าถึงว่า “ภูกระดึง” คือ “กึ่งกลาง” ระหว่างสวรรค์กับภาคพื้นดิน!

ผมไม่ถกเถียงกับใคร แต่อยากให้ข้อ “ตระหนักคิด” ซักนิดว่า

“พยายามกันมา ๓๐-๔๐ ปี แต่เพราะเหตุใด จึงไม่มีรัฐบาลไหนลงมือสร้างได้เลย?”

ซ้ำคนหรือรัฐบาลที่พยายามจะสร้าง “กระเช้าไฟฟ้า” ขึ้นภูกระดึงนั้น ….ไม่มีใครเป็นอะไรหรอก
แต่เท่าที่เห็น คนนั้นๆ ถ้าไม่พลัดพราย ก็ผิดหวัง-ตกต่ำ ทำอะไรก็ไม่ขึ้น!

ความจริงไม่ต้องสำรวจหรอก เพราะสำรวจกันมาหลายยุคจน “งบสูญเปล่า” ไปมากต่อมาก

จะประมวลผลสำรวจมาให้ดูก็ได้….
“ภูกระดึง” ตั้งอยู่บนความสูง ๑,๒๘๘ เมตร จากระดับน้ำทะเล ต้องเดินเท้าขึ้นไปบนยอดเขา ประมาณ ๗ กม.
๑ ต.ค.-๓๑ พ.ค.ของทุกปี เปิดฤดูกาลท่องเที่ยว
แต่ละปี มีนักท่องเที่ยวกว่า ๕๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ คนขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติ

มีทั้ง ใบเมเปิลแดง, ผานกแอ่น, ผาหล่มสัก, หลังแป เป็นจุดเหยียบ “สัมผัสแรก” บนยอดภูกระดึง

กรมอุทยานฯสมัยยังเป็น “กรมป่าไม้” กระทรวงเกษตรฯ จ้าง “บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด”

ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ  “กระเช้าลอยฟ้า” ภูกระดึง เมื่อปี ๒๕๔๓

“ผลศึกษา” ผมอ่านจากเว็บ ThaiPublica สรุปได้ว่า
“ระบบนิเวศบนยอดภูกระดึง เป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

การก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า “อาจไม่มีปัญหา” ในการก่อสร้าง
แต่จะมีปัญหา “ในการจัดการ” การท่องเที่ยวบนยอดภูกระดึง เพราะอาจมีความจำเป็นที่ต้อง “สร้างถนน” หรือ “สิ่งอำนวยความสะดวก” อื่นๆ

เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุด เพื่อให้สามารถท่องเที่ยวได้ภายในวันเดียว

และเพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวทุกวัย-ทุกสถานะขึ้นไปท่องเที่ยวได้โดยสะดวก

ผลศึกษาบรรยายสภาพภูกระดึง ว่า……

เป็นอุทยานฯที่มีความสำคัญ ประกอบด้วยป่า ๖ ชนิด คือ ป่าดิบเขา, ป่าดิบแล้ง, ป่าสนเขา, ป่าเต็งรัง, ป่าผสมผลัดใบและทุ่งหญ้าเขตร้อน

สภาพป่า ผันแปรตามระดับความสูงของภูมิประเทศ ตั้งแต่ ๒๐๐-๑,๓๐๐ เมตร

พบพืชที่มีเฉพาะในประเทศไทยและในอุทยานฯ ภูกระดึงเพียงแห่งเดียว ๑๑ ชนิด

เช่น หญ้านายเต็ม, หญ้า Eriocaulon siamcuse Mold. เอื้องแซะภู พื้นที่ร้อยละ ๙๙.๔๗ ของอุทยานฯ เป็นป่าไม้

สัตว์ป่าทั้งหมด ๔๓๘ ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีสัตว์ป่าสงวน ๑ ชนิด คือ เลียงผา

สัตว์ป่าคุ้มครอง ๒๙ ชนิด ลิ่นชวา, ค่างแว่นถิ่นเหนือ สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ๓ ชนิด เสือโคร่ง, ช้าง, หมาใน

สัตว์ป่าที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ๓ ชนิด หมีควาย, เสือไฟ, และเม่นใหญ่

สัตว์ป่าสภาวะใกล้ถูกคุกคาม ๓ ชนิด นากใหญ่, ภูเขาชะนีมือขาว, ลิ่นชวา

นก มีสัตว์ป่าสงวน ๑ ชนิด คือ นกกระเรียน

เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ๑๘๑ ชนิด ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ๑ ชนิด คือ นกกระทาดงแข้งเขียว

สัตว์เลื้อยคลาน มีสัตว์ป่าคุ้มครอง ๗ ชนิด เต่าเหลือง, เต่าเดือย

สัตว์ป่าที่มีสภาวะใกล้ถูกคุกคาม ๑ ชนิด คือ แย้อีสาน

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีสัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม ๑ ชนิด ได้แก่ กบห้วยขาปุ่ม

ปลา-เป็นสัตว์น้ำที่มีแนวโน้มสูญพันธุ์ ๒ ชนิด ปลาดุกด้านและปลาสร้อยน้ำผึ้ง

แมลงป่าไม้ สัตว์ป่าคุ้มครอง ๑ ชนิด คือผีเสื้อถุงทองป่าสูง

ครับ…นี่ผลสำรวจเมื่อ ๒๓ ปีที่แล้ว ปัจจุบันจะเสื่อมสูญ หรือจะพูนเพิ่มก็ไม่ทราบ

แต่บอกได้อย่าง ขนาดไม่มีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไป แค่ ๕-๖ หมื่นคน เดินเท้าขึ้นไป สัตว์ป่ายังมีแนวโน้มสูญพันธุ์

ถ้าทำกระเช้าไฟฟ้าขึ้นกันไปเป็นแสนๆ คนต่อปี
และต้องถางป่าทำถนนเข้าไปยังจุด “ท่องเที่ยว-ชมวิว” ในแต่ละแห่ง
ซ้้ำต้องสร้างสิ่งอำนวยความสดวกรองรับคนทุกชนิด-ทุกประเภทที่ขึ้นไป ยังไม่ต้องพูดถึงที่พัก

เอาเฉพาะที่ “ชิม-แชะ-ฉี่” ซัก ๑๐-๒๐ ปี ภูกระดึงจะแปรสภาพไปขนาดไหน ไม่ยากคาดเดากับ “ฝีมือมนุษย์”

และแน่นอน เมื่อขึ้นไปง่ายและไปกันมากๆ ความโลภจากรายได้ ก็พร้อมสนองตอบคำเรียกร้องความสะดวกสบายจาก “มนุษย์ผู้ทำลาย”

และนั่น “โลกวัตถุ” ก็จะยึดครอง “โลกธรรมชาติ”
“ภูกระดึง” ที่การเดินเท้าขึ้นไปคือ “สัญลักษณ์” ที่ทุกคนภูมิใจเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ก็จะหมดไป

ขึ้น “ภูกระดึง” ก็ไม่ต่างขึ้นตึก “ใบหยก”!
หรือ “กระเช้าไฟฟ้า” เป็น”ซอฟต์ พาวเวอร์” เพื่อไทย?

เปลว สีเงิน
๖ ธันวาคม ๒๕๖๖

 

Written By
More from plew
ปีเก่า”ขึ้นสนิม”จุ๋มจิ๋ม”ปีใหม่”
๓๑ ธันวาคม……….. เราทุกคน”ผ่านไปอีกปี” ต้นทุนชีวิตที่มีกันคนละ ๓ หมื่นวัน”โดยเฉลี่ย”ใครเหลืออีกเท่าไหร่ ก็บวก,ลบ,คูณ,หาร กันเอาเอง สิ่งเดียวที่อยากบอก มีสติ มีเมตตา เห็นอก-เห็นใจซึ่งกันและกัน...
Read More
0 replies on ““ตะวันตกดินที่ภูกระดึง”-เปลว สีเงิน”