ผักกาดหอม
ได้ยินแล้วโล่งขึ้นมาหน่อยนึง
พรรคเพื่อไทยเตรียมจัดสัมมนาพรรค ระหว่างวันที่ ๖-๗ ธันวาคม เปิดเวทีพบปะพูดคุยระหว่างรัฐมนตรีกับ สส.
เรื่องสำคัญหนึ่งเรื่องที่จะหารือคือ การผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
ก็อนุโมทนาสาธุครับ!
สส.พรรคเพื่อไทยจะได้เข้าใจตรงกันเสียทีว่า ดิจิทัลวอลเล็ต คืออะไร
มันเหมือนหมาน้อยธรรมดาหรือเปล่า
แต่ก็ยังเกรงว่าสุดท้ายแล้ว สส.ทุกคนจะออกจากห้องประชุมโดยไม่ได้ความรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตติดออกมาด้วย เพราะในคณะรัฐมนตรีเองก็ยังมั่วๆ กันอยู่
วันประชุม ครม.สัญจรที่หนองบัวลำภู นายกฯ เศรษฐา พูดเสียงดังฟังชัด จะส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน ในโครงการเติมเงิน ๑ หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายในสิ้นสัปดาห์นี้
“ใช่ครับ ภายในสัปดาห์นี้”
นายกฯ เศรษฐาย้ำกับนักข่าวสองสามรอบ ภายในสัปดาห์นี้แน่ๆ
แต่ฝั่ง “ช่วยคลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” สื่อสารเป็นอีกแบบ
“…ในสัปดาห์นี้จะส่งหนังสือเป็นคำถามถึงความข้อกฎหมายเกี่ยวกับโครงการ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ๕ แสนล้านที่จะใช้ในโครงการแต่อย่างใด…”
ตกลงต้องดีดปากใคร?
“ช่วยคลัง” ดูจะเข้าใจในรายละเอียดมากกว่านายกฯ เพราะอธิบายถึงสิ่งที่จะยื่นได้ชัดเจนกว่า
“…ต้องเข้าใจว่าคำถามที่จะถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา จะต้องถามในรูปแบบของข้อกฎหมาย สิ่งที่เราเขียนต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์วิธีการ และเติมรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน ๑-๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา
เช่น ตัวเลขที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลง ที่เราทำช้าเพราะรอตัวเลขตรงนี้ เพื่อให้ครบองค์ประกอบ จะได้ส่งความเห็นไปได้อย่างครบถ้วน…”
“…เราก็จะกลับมายกร่างซึ่งใช้เวลาไม่นาน เพราะโดยหลักการแล้วการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน จะมีไม่กี่มาตรา จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หากเห็นชอบก็จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานอีกครั้ง ซึ่งคงใช้เวลาไม่นานแล้ว
และจะนำร่างเข้าสู่สภาฯ ในสมัยประชุมหน้านี้พิจารณา และขอยืนยันว่า ประชาชนจะได้ใช้โครงการดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๗ ตามที่วางกรอบเวลาไว้…”
สรุปง่ายๆ รัฐบาลคงจะส่งคำถามไปว่า ออกพระราชบัญญัติกู้เงินได้หรือเปล่า บนเงื่อนไข หนึ่ง สอง สาม สี่ ใส่ตัวเลขสภาพัฒน์ จับยัดตัวเลขที่รัฐบาลต้องการเข้าไป
ก็น่าจะเป็นการบ้านที่ยากสำหรับ คณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะรัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติกู้เงินหรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐบาล
รัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ใช้อำนาจถูกหรือไม่นั่นอีกเรื่อง
คณะกรรมการกฤษฎีกา คงไม่มีหน้าที่ไปบอกรัฐบาลว่าออกพระราชบัญญัติกู้เงินได้หรือไม่ได้
พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ ๑.จัดทำร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามคำสั่งของ นายกรัฐมนตรีหรือมติของคณะรัฐมนตรี
๒.รับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐหรือตามคำสั่งของ นายกรัฐมนตรีหรือมติของคณะรัฐมนตรี
๓.เสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมาย
ฉะนั้นกรอบที่คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องเดินคือ พูดในแง่ข้อกฎหมายเท่านั้น
และจนกว่ารัฐบาลจะส่งร่างพระราชบัญญัติกู้เงินให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณา ถึงตอนนั้นจึงจะมีคำตอบว่า ร่างพระราชบัญญัติ มีความสมบูรณ์เป็นไปตามกฎหมายทุกประการหรือไม่
แต่ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาใช่ว่าจะสิ้นสุด หรือไปผูกพันกับองค์กรอื่น
อนาคตหากมีการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก ร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน ผิดกฎหมายหรือไม่ รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับความยุ่งยากต่อไป
เนื่องจากทั้ง รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐ และ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังฯ ปี ๒๕๖๑ ต่างก็กำหนดเงื่อนไขในการออก พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนดกู้เงิน ว่า ต้องเป็น “กรณีจําเป็นรีบด่วน”
หรือ “กรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดำเนินการ โดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน” เท่านั้น
ย้ำว่า เฉพาะกรณีเร่งด่วนเท่านั้น
ถ้าไม่เข้าเกณฑ์นี้ ไปต่อยาก!
ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลส่งตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ก็ต้องส่งให้ครบทุกตัว ไม่ใช่เลือกแต่ตัวเลขที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล ตัวเลขที่ทำให้เศรษฐกิจไทยดูแย่
ที่แย่คือการลงทุนภาครัฐ
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ไม่ได้แย่ตามไปด้วย
เมื่อการลงทุนภาครัฐแย่ จะไปแก้ด้วยการเอาเงินไปแจกประชาชนไม่ได้
ต้องเอางบประมาณไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
แล้วอย่าลืมส่งตัวเลข ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปด้วย
ตัวเลขแบงก์ชาติ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ ๒.๘% ในปี ๒๕๖๖
และ ๔.๔% ในปี ๒๕๖๗
การขยายตัวในปีหน้าจะสูงขึ้นจากหลายแรงขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการต่างๆ เข้ามากระตุ้นเพิ่ม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน่าจะมีเพิ่มขึ้น
แบงก์ชาติคาดว่าจะทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติม และการส่งออกน่าจะฟื้นตัวขึ้นเป็นบวกจากฐานที่ต่ำในปีนี้ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ ๔.๒% ในปี ๒๕๖๗ รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
กรุณาส่งตัวเลขนี้ไปด้วย
จะได้รู้กันว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนเอางบประมาณ ๕ แสนล้านมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่
อีกประเด็นจากคำพูดของ “ช่วยคลัง” ก็คือ โดยหลักการแล้วการยกร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน จะมีไม่กี่มาตรา
ก็ใช่ครับ!
แต่ตอนที่เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ได้เอาประเด็นนี้จิกด่ารัฐบาลประยุทธ์ในสภาไม่ใช่หรือ
โจมตีว่าเหมือนกับเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลไปใช้เงินตามใจชอบ
วันนี้อำนาจวนมาอยู่ในมือ เงิน ๕ แสนล้าน มีรายละเอียด ๒-๓ หน้ากระดาษ A4
แบบนี้ยังเป็นการตีเช็คเปล่า อยู่หรือเปล่า