เธอผู้ฆ่า ‘เศรษฐา’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไม่รู้ล่ะ…

วินาทีนี้ต้องเชียร์ “ศิริกัญญา ตันสกุล” แม่หญิงจากก้าวไกล ให้หนักหน่อย

เอาให้ลั่นทุ่ง!

ถือว่าฮอตสุดในบรรดา สส.พรรคฝ่ายค้านแล้วครับ

“ศิริกัญญา” ออกมาทีไร เขย่าไปทั้งรัฐบาล

ก้าวไกลทั้งพรรคยังทำได้ไม่เท่า

“ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคยิ่งแล้วใหญ่ ทำตัวเหมือนรอเสียบ

พรรคก้าวไกลนี่ก็แปลก แทนที่จะเลือก “ศิริกัญญา” เป็นหัวหน้าพรรค ดันไปเลือก แท่งปูน อย่าง “ชัยธวัช” การทำหน้าที่ฝ่ายค้านจึงถูกตั้งคำถามไม่เว้นวัน

ไม่รู้ว่าจะค้านหรือจะเสียบ

ดีล “ธนาธร” กับ “ทักษิณ” อย่ามองข้ามเด็ดขาด เพราะเขาวางหมากร่วมกันมานานแล้ว แค่ที่ผ่านมาจังหวะมันไม่ได้ เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองให้ต้องแยกย้ายกันชั่วคราว

วันข้างหน้าหงายไพ่มา ฮือฮากันทั้งเมืองแน่

ส่วนประชาธิปัตย์ตอนนี้ก็ลืมๆ ไปก่อน คงต้องรอสางปัญหาตัวเองให้จบก่อน ค่อยมาทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล

รอได้ครับ!

จะมีก็ “ศิริกัญญา” นี่แหละครับ ณ เวลานี้ฝากผีฝากไข้ได้ แม้สมัยรัฐบาลลุงตู่ จะค้านแบบมวยวัดมากไปหน่อยก็ตาม

แต่คราวนี้พัฒนาไปมาก

น่าจะเป็น สส.ฝ่ายค้านไม่กี่คนที่ตามจิกนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลแบบเลือดซิบๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด โพสต์เฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun – ศิริกัญญา ตันสกุล

—————————-

“GDP ไตรมาส ๓ โต ๑.๕% วิกฤตรึยัง?” คงต้องย้ำอีกครั้งว่า เราจะไม่ต้องมาเถียงเรื่อง “วิกฤต” หรือ “ไม่วิกฤต” กันเลย ถ้ารัฐบาลไม่เลือกใช้วิธีการ “ออก พ.ร.บ.กู้เงิน ๕ แสนล้านบาท” เพื่อมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

เพราะการที่จะออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้นั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้โดยชัดเจนว่า ตอนนี้มี “ความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้วิกฤตอย่างต่อเนื่อง และตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน” จริงหรือไม่

ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด ดิฉันเองก็เห็นด้วยและพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจใครหลายๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย “วิกฤต” รึยัง?

วันนี้มีตัวเลขออกมาจากสภาพัฒน์ ว่า GDP ไทยในไตรมาสที่ ๓ ของปีนี้ โตขึ้น ๑.๕% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ต้องอธิบายก่อนว่า ตัวเลข GDP นั้น วัดได้จากทั้งฝั่งรายจ่าย (expenditure) และฝั่งการผลิต (production) ซึ่งตัวเลขรวมจะต้องตรงกัน

ฝั่งการผลิตอธิบายได้อย่างตรงไปตรงมา ก็คือภาคอุตสาหกรรม (เป็น sector ที่ใหญ่ที่สุด) เกิดหดตัวลง -๔% เลยดึงใน GDP ของไทยโตต่ำ ที่ติดลบหนักที่สุดคืออุตสาหกรรม “เพื่อการส่งออก” โดยเฉพาะ Hard Disk Drive และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก ในด้านที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร โตขึ้นถึง ๑๔.๙%

การค้าปลีกและค้าส่งขยายตัว ๓.๓%

ขนส่งโต ๖.๘%

ส่วนฝั่งรายจ่ายที่เราคุ้นเคย คำนวณได้ตามสูตร C+I+G+X-M (การบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก – การนำเข้า) จากตัวเลขวันนี้ เราจะเห็นว่าตัวเลขภาคเอกชนโตขึ้นถึง “๘.๑%” การลงทุนภาคเอกชนโต ๓.๑%

แต่ stock สินค้าก็ลดลงมาก แสดงว่ายังไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับฝั่งการผลิตที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัว

ภาครัฐหดตัวลงทั้งการบริโภค -๔.๙% เมื่อเทียบกับปีก่อน (จากการที่ปีก่อนมีการเบิกค่ารักษาโควิด แต่ปีนี้ไม่มี จึงหดตัว)

การลงทุนภาครัฐก็หดตัว -๒.๖% และถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -๓.๑% แต่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง ๒๓%

ส่วนการนำเข้าก็หดตัวแรงที่ -๑๐.๒%

สรุปก็คือ ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่ “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว (ซึ่งก็แปลกดี เพราะไม่เคยเห็นรัฐบาลของประเทศไหนอยากจะให้เกิดวิกฤตขึ้นในประเทศ หรือมีท่าทีดีใจที่เห็น GDP โตต่ำ)

คำถามคือ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่าน data เหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภค โตกว่า ๘%

—————————

เหมือนลากมาตบหน้าบ้านจริงๆ

จะมีรัฐบาลในโลกนี้สักกี่รัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจประเทศวิกฤต เพื่อที่จะได้นำเอานโยบายของตัวเองมาใช้

ปรารถนาที่จะเห็นความฉิบหายเพื่อจะได้สร้างผลงาน!

นายกฯ เศรษฐา เจื้อยแจ้ว เรียกเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล

ตกใจ! ตัวเลข GDP ออกมา ๑.๕% ในไตรมาส ๓ นึกว่าจะเห็นเลข ๒

นายกฯ พูดเองนะครับว่า มีเหตุผลหลายอย่างทั้งเรื่องการใช้จ่าย การลงทุน และเรื่องการผลิตของโรงงาน

ทุกอย่างก็เลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ

“จุดยืนของผมนั้นชัดเจน วิกฤตและจำเป็น”

ก็แน่สิครับ รัฐบาลเข็นพระราชบัญญัติกู้เงิน มันก็ต้องอ้างว่า วิกฤตและจำเป็น

แต่ตอนไปประชุมเอเปกทำไมไปบอกนักลงทุนว่า เศรษฐกิจไทยมีอนาคตสดใส อยากให้ขนเงินมาลงทุนกันเยอะๆ

ต่อให้วิกฤตจริง ก็ต้องไปดูว่า ตัวเลขไหนที่วิกฤต

นายก ฯพูดเองนะครับว่า การใช้จ่ายการลงทุนวิกฤต

ก็ตรงกับตัวเลขที่ “ศิริกัญญา” เอามานำเสนอ คือการลงทุนภาครัฐหดตัว -๒.๖%

เมื่อการลงทุนภาครัฐหดตัวต้องทำอย่างไร เอาเงินแจกประชาชนอย่างนั้นหรือ

คิดสิครับ ท่านนายกฯ เอาวิชาขายบ้านมาคิดก็ได้

การบริโภคภาคเอกชนมันไม่ได้หดตัว

ฉะนั้นไหนๆ อยากจะกู้ ๕ แสนล้าน ก็กู้มาเพื่อเอาไปลงทุนในภาครัฐ เอาไปทำโครงสร้างพื้นฐาน มันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าไม่ใช่หรือ

GDP เลข ๒ ได้เห็นแน่

แต่ถ้ากู้มาแจกระวังจะวิกฤตเอาจริงๆ

Written By
More from pp
ปตท.สผ. นำร่องศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ครั้งแรกในประเทศไทย หนุนเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
๖ มิถุนายน ๒๕๖๕– ปตท.สผ. ริเริ่มศึกษาและพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นำร่องที่โครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ พร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ CCS ในพื้นที่อื่น ๆ  สนับสนุนเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ
Read More
0 replies on “เธอผู้ฆ่า ‘เศรษฐา’ – ผักกาดหอม”