สงครามเย็นยังไม่จบ-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

สงครามไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น

อย่างน้อยๆ ช่วงนี้ราคาน้ำมันพุ่งรายวัน กระทบผู้คนไปทั่วโลก

ลำบากจากวิกฤตโควิดมากพอแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก

ข้อมูลสดๆ ร้อนๆ จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (ไอเอ็มเอฟ) สงครามในยูเครนผลักดันให้ราคาพลังงานและธัญพืชในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ตามราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ถ้ายืดเยื้อ จะลำบากกันหนักกว่านี้ครับ

แต่ธรรมชาติมนุษย์ถึงจะลำบากก็ขอสวมวิญญาณไทยมุงถือหางคู่ขัดแย้ง เปิดดูในโซเชียลนับวันจะบานต่อเนื่องไปหลายเรื่อง

เอาการเมืองในประเทศเข้าไปปน กลายเป็นเรื่องฝ่ายประชาธิปไตยฝ่ายเผด็จการเฉย ไม่ต้องไปสนใจเรื่องที่มา รัสเซีย-ยูเครน ว่ามันมีอะไรมากกว่าสงครามที่เห็น

ช่วงนี้กูรูด้านการต่างประเทศเขียนถึงความขัดแย้งอันยาวนานในยุโรปให้อ่านกันเยอะครับ

พงศ์พรหม ยามะรัต อดีตซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกคนที่เขียนเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน อธิบายเรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก Pongprom  Yamarat  ข้อความตามนี้ครับ

…ผมสังเกตเห็นโซเชียลไทย เริ่มแบ่งกลุ่มทะเลาะกัน

ฝั่งนึงเชียร์ยูเครนด้วยการแขวะฝั่งเชียร์รัสเซีย

กับฝั่งเชียร์รัสเซียที่แขวะฝั่งเชียร์ยูเครน และชาติตะวันตก

เช้านี้ขอแชร์เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาแบ่งปันครับ

เพราะประวัติศาสตร์ต้องมองเป็นภาพกว้าง อย่ามองอะไรเป็นชิ้นๆ

ผมเอารูปสมรภูมิที่ “เลนินกราด” สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาให้ดู

เลนินกราด (Leningrad) คือเมือง Saint  Petersburg

ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัสเซียถูกเยอรมันบุกจากทิศตะวันตก ใครเคยดูภาพยนตร์ “Enemy at the  Gates” ก็คือเรื่องนั้นครับ ในภาพยนตร์นี้คืออีกเมืองที่สมรภูมิโหดมากได้แก่ Stalingrad หรือชื่อปัจจุบันคือ  Volgograd นั่นเอง

ทราบมั้ยครับ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้งเดียว มีชาวรัสเซียเสียชีวิตถึง ๒๒ ล้านคน จากการถูกเยอรมันบุก รัสเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลรุนแรงที่สุดในสงครามโลกนะครับ  ไม่ใช่อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี

มันคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนที่ชาวยิวโดน

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ จึงเกิด “สัญญา” ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกว่าจะไม่นำกองทัพ และอาวุธหนัก เช่นขีปนาวุธมาวางไว้ใกล้กันอีก จะได้สบายใจกันทั้ง ๒  ฝ่าย

อันนี้คือข้อตกลง

ปัญหาคือยูเครน และนาโตฉีกข้อตกลงนี้ครับ

ตามที่ผมเขียนในโพสต์ก่อนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

ยูเครนชวนนาโตมาตั้งกองกำลัง และแถมอาจมีขีปนาวุธมาติดตั้งด้วยที่ริมชายแดนรัสเซีย โดยจะหันปืน จรวดไปทาง Moscow ที่อยู่ห่างไปแค่ ๕๐๐ กม.

ทั้งที่ประธานาธิบดียูเครนมีทางเลือกที่จะเป็นประเทศเป็นกลางได้

คือไม่ต้องโปรรัสเซีย แต่ก็ไม่เอาจรวดของอเมริกา และนาโต มาติดตั้งในประเทศตัวเอง

อันนี้คือสิ่งที่ประธานาธิบดียูเครนทำผิด คือฉีกสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่สงครามโลกที่ทำคนรัสเซียตายไป ๒๒ ล้านคน

ส่วนการที่รัสเซียบุกยูเครนด้วยความรุนแรงนั้น ต้องแยกเป็นอีกเรื่อง

ก่อนหน้านี้รัสเซีย-ยูเครนเคยเจรจาเรื่องนี้มาแล้วหลายรอบ

ประเด็นคือประธานาธิบดียูเครนใช้เรื่องนี้สร้างความนิยมให้ตัวเอง จึงต้องขี่หลังเสือท้าทายรัสเซียไปเรื่อยๆ

เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ รัสเซียจึงต้องบุก

ผมกล้าพนันว่าในสถานการณ์เดียวกัน

อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่เวียดนาม ก็จะทำแบบเดียวกัน

เพียงแต่ชาติตะวันตกมีวิธีการสื่อสารที่ “ฉลาดกว่า” คือใช้คำว่า “พิทักษ์มาตุภูมิ”

สิ่งที่รัสเซียพลาด คือบุก จนเกิดความสูญเสียของพลเรือนในยูเครน

อันนี้ผมก็ไม่เห็นด้วย

ล่าสุด รัสเซียจึงเสนอการหยุดยิง เพื่อให้พลเรือนยูเครนหนี

ผมจึงอยากให้ “แยก” ๒ เรื่องนี้ออกจากกัน

คือประวัติศาสตร์ และสถานการณ์ปัจจุบัน

กับวิธีการบุก

อย่างแรกรัสเซียทำเพื่อป้องกันตัวเอง

อย่างที่สอง รัสเซียใช้มาตรการรุนแรงไป

รัสเซีย และยูเครน ไม่มีใครผิด ถูก ๑๐๐%

ส่วนนาโตผมว่าผิดที่สุด ที่ไปฉีกสัญญาการตั้งกองทัพริมชายแดน โดยใช้โอกาสของความไม่ฉลาดของประธานาธิบดียูเครนคนนี้….

ครับ…มาขยายความเรื่องข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตก และอเมริกา เพราะนั่นสามารถเป็นชนวนให้เกิดสงครามได้อีก และกรณียูเครนจะไม่ใช่สงครามสุดท้าย

“กษิต ภิรมย์” อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย พูดเรื่องนี้ไว้ใน รายการคมชัดลึก วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อเดือนที่แล้ว

 “…ย้อนไปประมาณ ๓๐ ปี เมื่อสหภาพโซเวียต ในยุคมิคาอิล กอร์บาชอฟ เริ่มปรับตัวเปิดกว้าง ยอมปรับโครงสร้าง วางพื้นฐานความเป็นสังคมประชาธิปไตยในสหภาพโซเวียต  แล้วก็ปลดปล่อยประเทศในอาณัติทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ให้เป็นอิสรเสรี

แล้วก็มาถึงจุดที่กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทุบทำลายในปี  ๑๙๘๙ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการรวมตัวกันระหว่างเยอรมนีตะวันตก (ประเทศประชาธิปไตย) กับเยอรมนีตะวันออก  (ประเทศคอมมิวนิสต์) ซึ่งกอร์บาชอฟ กับ จอร์จ บุช (บุชผู้พ่อ) ได้มีการเจรจากันว่า โซเวียตจะไม่ขัดขวางการรวมประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งเดียว และจะไม่ขัดขวางเยอรมนี (ที่รวมชาติแล้ว) ในการเป็นสมาชิกนาโต

แต่มีเงื่อนไขว่า องค์การนาโตจะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และต้องไม่มีประเทศสมาชิกนาโตอยู่ติดพรมแดนของโซเวียต ซึ่งต่อมาก็คือประเทศรัสเซีย เพราะนั่นคือความมั่นคงและความอยู่รอดของรัสเซีย อันนี้เป็นสิ่งที่รัสเซียยอมไม่ได้

เพราะตัวตนจริงๆ ขององค์การนาโตก็คือ ทหารอเมริกัน ดังนั้นรัสเซียจึงไม่ยอมให้กองทหารอเมริกันมายืนอยู่หน้าประตูบ้านของตัวเองเป็นอันขาด


และตอนนี้รัสเซียก็ทำให้เห็นแล้วว่า ถ้ายังพูดกันไม่รู้เรื่อง มีการบิดพลิ้วสัญญาที่วิงวอนขอร้องกันมาตลอด ว่าอย่าขยายจำนวนสมาชิกในนาโต เพราะนาโตเป็นผลที่สืบทอดมาจากยุคสงครามเย็น เมื่อสงครามเย็นจบไปแล้ว สนธิสัญญาวอร์ซอของโซเวียตจบไปแล้ว แต่นาโตก็ยังอยู่ ทั้งที่คอมมิวนิสต์ไม่มีให้สู้รบแล้ว นาโตจึงเปรียบเสมือนสิ่งโบร่ำโบราณจากอดีต ที่ยังมีการนำมาใช้เพื่อคุกคามรัสเซียในทุกวันนี้…”

ที่เคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้ กรณียูเครน กับคิวบา เหมือนลอกแบบกันมา

วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา อเมริกาเห็นว่า การติดตั้งขีปนาวุธของสหภาพโซเวียตในคิวบาเป็นการคุกคามและเป็นการยั่วยุ

เหมือนที่ยุโรป อเมริกา ชักชวนยูเครน เข้านาโต ที่รัสเซียมองว่าถูกคุกคามเช่นกัน

สงครามเย็นจบแต่ชื่อ แต่วิธีการยังไม่จบจริงๆ

Written By
More from pp
“รมว.ศธ.” เร่งยกระดับอาชีวะฝั่งอันดามัน ย้ำควบรวมส่งผลดี “นร.-ครู-ชุมชน” แน่นอน
“รมว.ศธ.” ลุยอาชีวะภาคใต้ฝั่งอันดามัน เร่งวางแผนยกระดับสู่ความเป็นเลิศ รองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ และย้ำการควบรวมโรงเรียนต้องเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ชี้หากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเห็นภาพชัดเจนตรงกันเชื่อการควบรวมทำง่ายขึ้น และขอให้มั่นใจ “นักเรียน-ครู-ผู้บริหาร-ผู้ปกครอง” จะมีชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นแน่นอน
Read More
0 replies on “สงครามเย็นยังไม่จบ-ผักกาดหอม”