ผักกาดหอม
สวัสดีปี ๒๕๖๖
สมกับปีกระต่ายจริงๆ
ฉลองปีใหม่ไม่ทันสร่าง ปี่กลองการเมืองก็เชิดเสียแล้ว
ชัดเจนในความไม่ชัด กับท่าทีประธานวุฒิสภา “พรเพชร วิชิตชลชัย” ฟังแล้วบางพรรคการเมืองมีเสียว อะไรที่ว่าแน่ก็มีโอกาสจะ “ไม่แน่”
“ยิ่งประธาน ยิ่งไปบอกไม่ได้ว่าคุณจะเลือกอะไร ตอนนี้คุณเห็นพรรคไหนดี หรือถ้าคะแนนไม่ถึง แล้วพรรคนี้เขาได้ และคุณจะสนับสนุนหรือไม่ ถ้าโดยหลักการก็ต้องพูดอย่างนั้นว่า วุฒิสภามีหน้าที่ที่จะดูว่าประเทศชาติ เราจะเดินหน้าได้อย่างไร”
ฟังผ่านๆ ไม่มีอะไรหรอกครับ ก็แค่ กติกาที่สุดแสนจะธรรมดา
พรรคการเมืองไหนได้เสียงข้างมาก พรรคการเมืองนั้นได้จัดตั้งรัฐบาล
แล้วถ้า พรรคเพื่อไทยคะแนนถึง วุฒิสภาจะว่าไง
จะสนับสนุนหรือไม่
ว่ากันตามระบอบประชาธิปไตย ปกครองด้วยเสียงข้างมาก ขั้วการเมืองไหนรวมเสียงได้มากกว่ากัน ขั้วนั้นต้องได้จัดตั้งรัฐบาล
แต่การเมืองไทย ณ เวลานี้ วุฒิสมาชิก ๒๕๐ คน มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
เมื่อ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ส่งสัญญาณว่า วุฒิสภามีหน้าที่ที่จะดูว่าประเทศชาติ จะเดินหน้าได้อย่างไร ก็หมายความว่า การโหวตเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น วุฒิสภา จะเลือกแคนดิเดตจากขั้วการเมืองที่รวมเสียงได้มากกว่าใช่หรือไม่
ถ้าใช่ พรรคเพื่อไทย อย่าเพิ่งไชโยโห่ร้อง
การเลือกนายกรัฐมนตรี จะยังคงใช้บรรทัดฐานจากการเลือกคราวที่แล้ว
แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ลำดับ ๒ หรือ ๓ ก็มีสิทธิ์ถูกเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
นี่ไม่ใช่อภินิหารทางกฎหมาย
คือกติกาประชาธิปไตย
แต่ปัญหาที่มักเกิดในการเมืองไทยคือความชอบ และไม่ชอบ อยู่เหนือกฎกติกา
ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล เป็นการปกครองโดยประชาชนส่วนใหญ่
จึงให้ความสำคัญกับหลักการเสียงข้างมาก ในการตัดสินข้อขัดแย้งทุกระดับ
หลักการเสียงข้างมากหมายความว่า การตัดสินใจใดๆ ของกลุ่มหรือคณะบุคคล หลังจากที่ได้มีการปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นพอสมควรแล้ว ก็ให้ตัดสินเป็นข้อยุติโดยถือเสียงข้างมากเป็นเสียงชี้ขาด
แต่หลักการเสียงข้างมาก ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อย
นี่คือสิ่งที่เขาปฏิบัติกันในโลกสากล
แต่บางครั้งก็นำมาใช้ในไทยไม่ได้
ใช้เมื่อไหร่คือ เผด็จการ
เพราะเรานำ หลักการเสียงข้างมาก มาใช้ก็จริง แต่มักเอามาไม่หมด
บางยุคสมัย หลักการเสียงข้างมากถูกแปรเปลี่ยนเป็น เผด็จการรัฐสภา
หลักเสียงข้างมาก ต้องตรวจสอบถ่วงดุลโดยเสียงข้างน้อย เพื่อเป็นหลักประกันว่าฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้วิธีการใดๆ ที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของกลุ่มพวกพ้องตน
แต่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน เพื่อสร้างสังคมให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
และฝ่ายเสียงข้างน้อย ต้องได้รับความคุ้มครอง ขณะเดียวกันต้องยอมรับฟังจากเสียงส่วนใหญ่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในสังคม
น่าเสียดายครับ ที่ผ่านมากติกาเบื้องต้นนี้ใช้ไม่ได้กับการเมืองไทย
ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเกิดสะสมต่อเนื่องมานานนับสิบปี
ฉะนั้นหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เป็นหน้าที่ของประชาชนต้องทำความเข้าใจ หลักการเสียงข้างมาก
ในการตั้งรัฐบาล เสียงข้างมาก ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง มี ส.ส.มากเป็นลำดับ ๑ แต่เป็นขั้วการเมืองที่รวมเสียงได้มากกว่า
ที่จริงบรรทัดฐานการตั้งรัฐบาล คนที่สร้างไว้ชัดเจนคือ “ชวน หลีกภัย”
พรรคที่ได้ ส.ส.เป็นลำดับที่ ๑ ได้สิทธิ์ตั้งรัฐบาลก่อน
หากตั้งไม่ได้ พรรคที่ได้ ส.ส.ลำดับถัดมาถึงได้สิทธิ์ตั้งรัฐบาลต่อ
การเลือกตั้งในปี ๒๕๓๙ เกิดปรากฏการณ์ชนะกันชนิดหายใจรดต้นคอ
พรรคความหวังใหม่ได้ ส.ส. ๑๒๕ ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. ๑๒๓ คน
แต่ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นพยายามตั้งรัฐบาลแข่งหรือไม่ ก็เป็นธรรมดาครับ ทันทีที่ผลการเลือกตั้งออกมาพรรคลำดับหนึ่ง และสอง ต่างล็อบบี้ พรรคการเมืองอื่้นเพื่อรวมเสียง ส.ส.ให้มากกว่าอีกฝั่ง
การันตีว่าจะเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
เบื้องหลังครั้งนั้น “มารุต บุนนาค” ผู้ล่วงลับเคยเล่าไว้ว่า
“ในการจัดตั้งพรรครัฐบาลชวน ๒ นั้นมีปัญหา เพราะเป็นการแข่งขันการจัดตั้งรัฐบาลกับคุณเสนาะ เทียนทอง เลขาธิการอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการช่วงชิงโอกาสทางการเมืองและอาศัยไหวพริบทางการเมือง ท่านพลตรีสนั่นสามารถไปชักชวนสมาชิกกลุ่มหนึ่งของพรรคประชากรไทยมาร่วมสนับสนุนด้วย ซึ่งเรียกกันว่ากลุ่มงูเห่า
เมื่อมีการปรึกษากันในกลุ่มผู้บริหารพรรค ผมได้ทักท้วงว่าการจัดตั้งแบบนี้น่าจะไม่เหมาะเพราะไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย เนื่องจากไปเอาคนของพรรคอื่นมาโดยหัวหน้าพรรคเขาไม่ได้รู้เห็นด้วย จะเป็นที่เสียหายและอาจจะเป็นตราบาปของพรรคที่จะถูกกล่าวอ้างไปในทางที่ไม่ดีในภายหน้า
พลตรีสนั่นมีความรู้สึกเครียดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และชี้แจงผมว่าถ้าจะจัดตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย ๑๐๐% จะไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล ท่านเป็นเลขาธิการพรรคจะต้องทำให้พรรคเป็นรัฐบาลให้ได้”
ฉะนั้นบนสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลแข่งกัน แม้จะเปิดทางให้พรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่พรรครองลงมาก็มิได้อยู่นิ่งเฉยรอเป็นฝ่ายค้าน
กติกานี้ก็ใช้กันในยุโรปหลายๆ ประเทศ
เช่นกรณีการจัดตั้งรัฐบาลเยอรมันหลังการเลือกตั้งปี ๒๕๖๐ อดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ขณะนั้น ล้มเหลวในการเจรจาตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเล็กอีก ๒ พรรค
สาเหตุเพราะพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนของ “แมร์เคิล” สัดส่วนที่นั่งในสภาน้อยกว่าที่เคยทำได้ในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า อย่างมีนัยสำคัญ
มีความพยายามเทียบเชิญพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปไตยสังคมมาร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้
ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายค้านเดิมก็เดินเกมตั้งรัฐบาลเช่นกัน
แต่ก็จบได้เพราะ ประธานาธิบดีชไตน์ไมเออร์ ช่วยเจรจา
“แมร์เคิล” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
ครับ…การเมืองปีกระต่ายจะดุเดือดตั้งแต่ต้นปียันวันเลือกตั้ง
และจะทะลุจุดเดือดช่วงจัดตั้งรัฐบาล