‘เศรษฐา’ – ‘เศรษฐพุฒิ’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไฟลุกสิครับ!

นายกฯ เศรษฐา ทิ้งระเบิดลูกใหญ่ระหว่างบินไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ประจำปี ๒๕๖๖ ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

พาดพิงไปถึงหลายคนทีเดียว

โดยเฉพาะผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

“…ผมเป็นนายกฯ ที่มาจากพรรคอะไร พรรคเพื่อไทย สื่อก็บอกว่าหาเงินได้ใช้เงินเป็น ผมก็มั่นใจว่าผมหาเงินได้ใช้เงินเป็น

เรื่องที่มาของการออกจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ ทางผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้บอกเองว่านายกฯ กู้ดีกว่า ตอนนี้จาก ๖๑% เป็น ๖๔% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ ๗๐% ให้กู้เลย

ถ้านำมาใส่โครงการนี้บวกกับโครงการอื่น และหากยกระดับจีดีพีขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดตามไป แม้หนี้จะเพิ่มแต่ถ้าจีดีพีมากกว่า หนี้จะลดลง…”

นายกฯ พูดราวกับว่า ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เป็นคนเสนอให้กู้มาแจก

เหมือนการันตีว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คงไม่ถนัดที่จะตอบโต้กับนักการเมือง ฉะนั้นอาจจะยังไม่ได้ยิน ท่านออกมาพูดเรื่องที่ถูกนายกฯ พาดพิงในเร็วๆ นี้

แต่…ก่อนนี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้ส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลหลายครั้งว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยยาแรง แต่ควรรักษาเสถียรภาพมากกว่า

หลังการหารือนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตกับนายกฯ เศรษฐา เมื่อเดือนกันยายน ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุชัดเจนว่า

“…ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามรูปแบบที่ออกมา เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ ยังให้ข้อมูลกับนายกฯ ไปว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจภาพรวมตอนนี้ตัวเลขโดยรวม แม้จะขยายตัวแค่ ๑.๘% ในไตรมาส ๒/๖๖ แต่การเติบโตที่ผ่านมาการบริโภคฟื้นตัวเติบโตได้ดี ๒ ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสิ่งที่ขาดคือ การลงทุนที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย โดยภาพฟื้นตัวเศรษฐกิจ การกระตุ้นประเภทอื่นสำคัญกว่า

นโยบายออกมา คือ ต้องไม่ทำลาย และไม่กระทบเสถียรภาพเยอะเกินไป…”

ก่อนนั้นเดือนเมษายน ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เตือนทางอ้อมว่า…

“…สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าสู่โหมดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ ๓.๖% ซึ่งมองว่าระดับการเติบโตของจีดีพีกลับเข้าสู่ช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ ได้ในช่วงไตรมาส ๑/๒๕๖๖ โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คือ ท่องเที่ยว ที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ ๒๘ ล้านคน…”

แม้กระทั่งใน งานสัมมนาวารสารการเงินธนาคาร Thailand Next Move 2024: The Next Wealth and Sustainability เมื่อต้นเดือน ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังคงยืนยันว่า

“…ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง (recovery is intact) การรักษาเสถียรภาพจึงเป็นหัวใจของการทำนโยบาย

เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน หมายถึง เงินเฟ้อไม่สูงเกินไป เศรษฐกิจโตเหมาะสม ไม่ร้อนแรงไป และไม่เกิด financial imbalance เช่น search for yield…”

ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่รัฐบาลบอกกับประชาชน ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ต้องมีการกระตุ้นขนานใหญ่ด้วยการแจกเงินกว่า ๕ แสนล้านบาท

ประเด็นนี้จะจบลงอย่างไรไม่ทราบ แต่รัฐบาลระบอบทักษิณ มักจะมีปัญหากับแบงก์ชาติอยู่บ่อยครั้ง

สมัยที่ รมว.คลังชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” และผู้ว่าฯ แบงก์ชาติชื่อ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ก็มีข่าวครึกโครมเมื่อรัฐมนตรีคลังออกมาพูดว่า

“คิดจะไล่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ออกจากตำแหน่งทุกวัน”

แต่กรณีที่ชัดเจนที่สุดที่ระบอบทักษิณต้องการแทรกแซงแบงก์ชาติคือ ทัศนะของ “ทักษิณ ชินวัตร”

“ทักษิณ” แสดงความเห็นผ่านโซเชียลในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ เผยให้เห็นธาตุแท้ว่า ต้องการควบคุมทุกอย่าง

“…เมื่อวานนี้ ญี่ปุ่นประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ ๑ ของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) ว่า GDP โตถึง ๓.๕% นับเป็นการโตที่มากสำหรับญี่ปุ่น เพราะเศรษฐกิจแย่มานาน ค่อนข้างชัดว่า ผลการเติบโตส่วนใหญ่ก็ได้มาจากนโยบายของท่านนายกฯ อาเบะ ที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงกว่า ๒๐% รวมทั้งพิมพ์ธนบัตรออกใช้มากขึ้นมาก

ที่เขาทำได้ก็เพราะธนาคารกลาง (หรือแบงก์ชาติ) ของญี่ปุ่นขึ้นตรงกับรัฐบาล เขาจึงสามารถทำยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม (Holistic Approach) โดยประธานนโยบายการเงิน (Monetary Policy) กับนโยบายการคลัง (Fiscal Policy) ได้เป็นอย่างดี แต่แน่นอนครับญี่ปุ่นยังต้องมีอีกหลายมาตรการเพื่อให้เศรษฐกิจภายในแข็งแกร่งกว่านี้

ที่สำคัญโครงสร้างการบริหารประเทศของญี่ปุ่นเขาเป็นประชาธิปไตยจริงๆ เขาถือว่าประชาชนมีอำนาจสูงสุด เมื่อประชาชนเลือกใครเข้ามาก็ให้โอกาสทำงานเต็มฝีมือ ถ้าทำไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกกลับมาอีก แต่ของเรายังเป็นประชาธิปไตยแบบแค่นๆ คือไม่เต็มใจให้เป็น จึงเกิดความหวาดระแวงตัวแทนอำนาจประชาชน โดยใช้วิธีแยกอำนาจออกเป็นส่วนๆ แทนจนคุยกันไม่ได้ วางยุทธศาสตร์ร่วมกันไม่ได้ ซึ่งผลเสียก็ตกกับประเทศชาติและประชาชน

อย่างกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยของเรา ก็มีกฎหมายของรัฐบาลช่วงรัฐประหารแยกตัวเองออกมา จนไม่ฟังรัฐบาล ซึ่งทำให้ดูน่าวิตกเพราะต่างคนต่างใช้นโยบายของตน มีความเชื่อของตน ตอนนี้เงินจากต่างประเทศไหลเข้าไทยอย่างมากจนน่าวิตก มูลค่าทางตลาด (Market Capitalization) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์รวมกันโตกว่า GDP ประเทศ จึงมีคำถามว่าเกิด Asset Pricing Bubble หรือไม่ แล้วเราจะมีมาตรการอะไรร่วมกันไหมระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย ผมเป็นห่วงครับ ถ้ามองแค่ปัจจุบันกับอนาคตสั้นๆ ภายในปีเดียวก็ไม่ต้องคิดมาก แต่ถ้าคิดยาวคิดไปล่วงหน้า ๒-๓ ปี อันตรายครับ

สิ่งที่กังวลก็คือ เรามีคนดี คนมีความรู้และการศึกษาสูงมาก แต่เป็นพวกมี Knowledge แต่มี Wisdom ไม่พอ จะรู้ไม่เท่าทันโลกทุนนิยม ที่หนักกว่านั้นคือ พวก Wisdom ไม่พอดันขยันพูดอีกต่างหาก

ประเทศไทยเรา GDP ส่วนใหญ่มาจาก Export (ส่งออก) ซึ่งมีทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร บาทแข็งขึ้น ๑ บาท GDP จะหายไปประมาณ ๐.๗% รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายอัดฉีดเงินลงสู่รากหญ้า และเพิ่มงบลงทุนของรัฐบาล เช่น โครงการ ๒ ล้านล้าน ถ้านโยบายการคลังถูกใช้เยอะเกินไปก็อันตราย เพราะฉะนั้นนโยบายการเงินต้องช่วยไม่ใช่เป็นภาระแบบนี้

ตอนผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในปี ๒๕๓๗-๒๕๓๘ ผมก็เห็นสัญญาณไม่ดีหลายอย่าง เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นกรรมการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตำแหน่งร่วมกับรัฐมนตรีพาณิชย์และรัฐมนตรีคลัง

ผมได้เตือนธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังทุกครั้งในที่ประชุม แต่ก็ได้รับการชี้แจงแก้ตัวตลอดเวลา จนมาถึงเศรษฐกิจพังตอนปี ๒๕๔๐ ผมเป็นคนชอบดูดัชนีต่างๆ และชอบตกใจล่วงหน้า เหมือนที่ผู้ก่อตั้งบริษัท Intel คือนาย Andrew Grove พูดว่า

During the crisis only the paranoid survive ครับ…”

ก็จริงตามที่ “ทักษิณ” บอก วิกฤตต้มยำกุ้ง มีเพียงคนหวาดระแวงเท่านั้นที่รอดชีวิต

“ทักษิณ” คือหนึ่งในนั้น แต่เพราะการอินไซด์ข้อมูลใช่หรือไม่?

แต่ประเด็นหลักคือ “ทักษิณ” มองว่า แบงก์ชาติ เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศในแบบที่ตัวเองต้องการ

ต้องการให้แบงก์ชาติมาอยู่ใต้กำกับของรัฐบาลที่มี Wisdom มากกว่า

การที่ “เศรษฐา” อ้างว่า ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไฟเขียวให้รัฐบาลกู้มาแจก ดูคล้ายเป็นจุดเริ่มต้น การเอาแบงก์ชาติเป็นพวก ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากหลายฝ่าย ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ครั้งนี้ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คงจะนิ่งเฉยลำบาก

เพราะโชคร้ายสุดคือ ถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบหายนะทางเศรษฐกิจ จากการกู้มาแจก

Written By
More from pp
ส.ส.ภาคเหนือ พรรคเพื่อไทย ห่วง เกษตรกร เดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง เรียกร้อง รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไข
วันที่ 16 มิ.ย.63 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.ภาคเหนือ แถลงถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังเป็นปัญหาหลายพื้นที่
Read More
0 replies on “‘เศรษฐา’ – ‘เศรษฐพุฒิ’ – ผักกาดหอม”