หนังปักษ์ใต้ (โคตร) ท้าทาย? – สันต์ สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

ระหว่างเฝ้าลุ้น “สัปเหร่อ” วิ่งสู่ 1,000ล้านบาท!

นั่งดู “ธี่หยด” จะไปถึง 500 ล้านหรือไม่ และชะเง้อคอรอ “เงินดิจิทัล” 10,000 บาทของรัฐบาลเศรษฐาด้วยระทึก จะได้-ไม่ได้

ก็..บังเอิญได้อ่านข้อเขียนของ Nuttharavut Kunishe Muangsuk ที่โพสต์ ทำให้ได้รู้และหายข้องใจ มันเรื่องอะไรน่ะหรือ ลองอ่านดูก็แล้วกัน..

“ทำไมหนังปักษ์ใต้ไม่แมสเหมือนไทบ้าน?

ภาคใต้นี่ทำหนังให้แมสยากกว่าอีสานหรือภาคอื่นๆ​ ไม่ใช่แค่เรื่องตลาดหรือจำนวนประชากร เพราะเราไม่มีวัฒนธรรมแสดงวิถีอัตลักษณ์แบบที่เรียกว่า​ “ไทบ้าน” ของอีสาน

หรือ​ “คนเมือง” แบบภาคเหนือ​ เพราะความเป็นปักษ์ใต้มันหลากหลายเกินไป สำเนียงภาษาก็ต่างกัน​

ฝั่งอันดามัน​กับอ่าวไทย​ นครศรีฯ​ พัทลุง​ สงขลา​ ตรัง​ สุราษฎร์ธานี​ ฯลฯ​ ศัพท์แสงแต่ละจังหวัดต่าง​กัน แต่ละสำเนียงใช้เพียง​ 1-2 จังหวัด​

ขนาดหนังตะลุงต้องสร้างตัวละครที่มีสำเนียงต่างกันหลายสิบตัวละคร​ ผู้คนในภูมิศาสตร์ควน (เขา)​ ป่า​ นา​ เล ต่างกันสิ้นเชิง​

วัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละจังหวัดก็ไม่เหมือนกัน ไม่นับคนเมือง (เด็กหลาด) ​กับพวกโตในสวนยาง​กลางหุบเขา (ในหม็อง)​

ไหนจะคนไทย​พื้นถิ่น​คนเชื้อสายจีน มลายู​มุสลิม (พุทธกับมุสลิมใครมากกว่าในภาคใต้ยังไม่มีผลสำรวจเป็นทางการ​แต่จากสัมผัสเองเดาว่ามุสลิมน้อยกว่าไม่เยอะ)​

อินเดีย​ ชาวเล​ คนลุ่มทะเลสาบ​ ฯลฯ​ คนในแผ่นดินใหญ่ก็ไม่เหมือนกับคนเกาะ ประเพณีบางอย่างต่างกัน​เพราะอยู่ในบริบทสังคมและเศรษฐกิจคนละแบบ

ครั้งหนึ่งไปนั่งในวงเหล้าของวัยรุ่นนครศรีธรรมราชกับพัทลุง​มันขอเพลง​ “ลัง” ของไข่​มาลีฮวนน่ากับวงดนตรีในร้านแล้วคุยประสบการณ์เก่ากันน้ำตารื้น​

คนกระบี่กับเด็กระนองมองหน้ากันแล้วยิ้มแห้งๆ​ เพราะบ้านเราไม่มีรถไฟ​ ไม่มีประสบการณ์ขนลังขึ้นรถไฟมาแสวงหาอนาคตที่กรุงเทพฯ​

เราเติบโตมากับรถทัวร์ที่หลับข้ามคืนก็ถึงบ้าน

ไม่แปลกใจว่าทำไมหนังภาคใต้ของ เอกชัย​ ศรีวิชัย​ ที่พยายามอย่างหนักมาตลอดแต่ละเรื่องถึงไม่ทำเงิน​ ทำทีไรก็เจ็บตัว​ ไม่ว่าเทริด​ (อ่านควบเสียง​ ทร​ ไม่ใช่​ เท-ริด)

หรือมนต์รักดอกผักบุ้ง​ หรือสะพานรักสารสิน เอกชัยมีไอเดีย​และมีเงิน​แต่ภาคใต้มันหลากหลายเกินไปในพื้นที่แคบๆ​ มันจึงจับตลาดได้ยาก​

โนราห์ไม่ได้มีทุกจังหวัดภาคใต้​หนังของแขกถึงไปยากในภูมิภาคตัวเอง​ (น่าจะไปได้ไปฝั่งมาเลย์) ​พอทำให้คนกรุงเทพฯ หรือคนภูมิภาคอื่นดู​รายละเอียดในหนังมันต้องปรับคนภาคอื่นเข้าใจ​

เช่นให้ตัวละครพูดภาษาใต้สำเนียงแบบภาคกลาง​ คนปัตตานีพูดไทยกลางไปเลย ซึ่งคนใต้ก็ไม่อินด้วยอีก​พอคนท้องถิ่นไม่อือออด้วยมันไปตลาดใหญ่ยาก

เอาง่ายๆ​ในหนัง​ The Irishman นักแสดงชาวอเมริกันที่อยู่ในแก๊งไอริชต้องไปฝึกภาษาอังกฤษสำเนียงไอริช แม้แต่โรเบิร์ต เดอนีโร​ คนเชื้อสายอิตาเลียนก็ต้องฝึก​

แต่ในสะพานรักสารสิน​โกดำกับอิ๋วต้องพูดแบบภูเก็ตหรืออันดามันตอนบน ​(พังงา-ภูเก็ต-ระนอง)​ นางเอกในเรื่องดันพูดภาษาไทยกลาง​

ส่วนพระเอกพูดใต้แบบดัดสำเนียงให้คนภาคกลางฟังเข้าใจ​ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดปัญหากับหนังในจักรวาลไทบ้าน​(แม้ว่าอีสานก็มีหลายสำเนียงเช่นกัน)

ความเรียลทำให้คนเชื่อหนัง นี่คือปัญหาหลัก มันเลยยากมากที่จะทำให้หนังภาคใต้แมส​

เพราะหนังไทยที่ขายกลิ่นอายท้องถิ่น (ที่รัฐเรียกว่า​ซอฟต์พาวเวอร์?)​ การตอบรับจากท้องถิ่นคือโจทย์ใหญ่​ มันต้องเกิดกระแสตอบรับจากท้องถิ่น…

​ใครฝันเรื่องจะทำหนังขายความเป็นท้องถิ่นปักษ์ใต้บอกตรงๆ​ ว่ายาก​มาก​โคตรท้าทายหรือถ้าใครมีไอเดียลองเสนอดูครับ…”

ครับ..เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ถ้าใครคิดจะทำหนังปักษ์ใต้เพื่อธุรกิจ-การค้าก็ให้ทำใจ ส่วนคุณเอกชัยที่ยังพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะได้ชื่อเป็น “ผู้กำกับภาพยนตร์” มือรางวัล

ก็..ขอเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จ-ไปถึงเป้าหมาย และคอยดูว่าผลงานล่าสุดเรื่อง “เหมรย” (การบนบานสานกล่าวของคนใต้) ที่จะเข้าฉายต้นปีหน้า จะโกยเงินได้แค่ไหน..

ยังไงๆ อย่าลืมใส่ “หอมแดง” เข้าไปด้วยล่ะ!

Written By
More from pp
“เอกนัฏ” ย้ำคุมเพลิงไหม้นิคมฯ มาบตาพุดได้แล้ว สั่งการนิคมฯคุมเข้มเรื่องสารเคมีรั่วไหล ดูแลเยียวยาประชาชนโดยรอบอย่างใกล้ชิด
23 กันยายน 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เพลิงไหม้ของ บริษัท ไทยพลาสติกเคมีภัณฑ์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด...
Read More
0 replies on “หนังปักษ์ใต้ (โคตร) ท้าทาย? – สันต์ สะตอแมน”