สันต์ สะตอแมน
พักนี้ไม่ค่อยได้พบเจอ พูดคุยกับผู้คนในวงการเพลงลูกทุ่งสักเท่าไร
จะเห็นความเคลื่อนไหวแต่ละท่านอยู่บ้างก็ตามหน้าเฟซฯ ทำให้พอได้ทราบข่าวคราว ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่?
อย่างคุณจำรักษ์ เอื้ออารีนุสรณ์ ผู้บริหารด้านลิขสิทธิ์บริษัทอาร์ เอ็ม เอส สตูดิโอ แอนด์ มัลติมีเดีย จำกัด ที่ผมเคยไปขอความอนุเคราะห์เรื่องเพลงอยู่บางคราวเมื่อก่อนนี้
ก็..หลายปีแล้วที่ไม่ได้ไปมาหาสู่กัน ไม่ทราบว่าสุขภาพร่างกายท่านจะเป็นอย่างไรบ้าง ได้อ่านแต่ข้อความที่โพสต์ ซึ่งก็มีแต่เรื่องที่เป็นงานเป็นการ ไม่ได้อวดเรื่องส่วนตัวให้ได้เห็น
ล่าสุด..ก็ได้โพสต์ถึงการปฎิรูประบบการบริหารงานลิขสิทธิ์เพลงของบริษัท ที่เน้นความถูกต้อง-ราคาไม่แพง ให้ผู้ใช้มีส่วนร่วม
ซึ่งก็อยากให้อ่านกัน โดยเฉพาะนักร้อง เจ้าของรายการประกวดร้องเพลงต่างๆ เพื่อจะได้รู้ได้เข้าใจ ขออนุญาตตามนี้..
“นักร้องเอาเพลงไปร้องตามงานมีปัญหาหนัก เนื่องด้วยเจ้าของสิทธิ์หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจไปไล่ตามเก็บ บางงานผู้ใช้เขาก็ไม่รู้
ซึ่งทางอาร์เอ็มเอสฯ มีเพลงอยู่หลายหมื่นเพลงที่ตลาดยังต้องการใช้กันอยู่ เช่นของอาภาพร มยุรา ฟ้าสีทอง ยิ่งยง เอกชัย หลง วงอมตะหลายแนวหลายสไตล์ ฯลฯ ให้เลือกได้
ทั้งหมดนี้สามารถที่จะไปร้องแสดงสดได้ตามร้านอาหารทั่วไปโดยที่จะคิดค่าลิขสิทธิ์กับนักร้องต่อคนชุด 62 เพลง 25, 000 บาทต่อคนต่อปี
จะได้รับสิทธิพิเศษสามารถลงช่องทาง YouTube Facebook TikTok ให้หารายได้อีกช่องหนึ่ง สามารถเผยแพร่ได้ระยะเวลาต่อปี (เฉลี่ยต่อเพลง 400 บาท/ต่อปีเท่านั้น)
หลายคนถามว่าจะคุ้มตรงไหนที่เราเก็บถูก ผมไม่ได้มองเรื่องคุ้มไม่คุ้ม แต่ผมต้องการรณรงค์ให้ผู้ใช้ ใช้สิทธิ์ในเพลงที่ไม่แพง และถูกต้องตาม ก.ม. เป็นหลักใหญ่ของเรา
ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร เราก็จะขยายฐานไปที่ชุมชน ตำบล อำเภอ หมู่บ้าน ทั้งของเวทีต่างๆ จะเป็นวงใหญ่ วงเล็ก เราคิดราคาให้พิเศษ เพื่อให้ผู้ใช้อยู่ได้เราอยู่ได้มากน้อยคุยกันได้
ส่วนนักร้องที่จะนำเพลงไปคัฟเว่อร์ ก็มาขออนุญาตสิทธิ์ที่เราได้หรือจะมาเป็นตัวแทนเราก็เปิดกว้าง
ส่วนการจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ ทางอาร์เอ็มเอส ไม่มีนโยบายที่จะไปไล่จับเพียงแต่จะใช้การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ ใช้อย่างถูกต้อง หรือใครมีความสามารถมาคุยกันเราเปิดกว้างพร้อมสนับสนุน
ปัญหาที่ผ่านมาทั้งผู้ประกอบการและเจ้าของสิทธิ์ไม่ได้ให้ความจริงใจต่อกัน เจ้าของสิทธิ์ก็อยากได้เงินก็มอบอำนาจให้คนอื่นไปจับ มันเป็นรอยร้าวเล็กๆมาตั้งแต่ปี2541
บริษัทที่มีเพลง1-2เพลงก็ออกมาไล่จับกัน ซึ่งผมมองว่ามันไม่มีความมาตรฐานและความเป็นธรรม แก่ผู้ประกอบการที่เป็นคาราโอเกะ มีดีไฟล์ซึ่งใช้กันมากในวงดนตรีเราก็ไม่ได้ตามเก็บ
เราช่วยผู้ประกอบการ ครูเพลงและสนับสนุนนักร้องใหม่ ฉะนั้นถ้าท่านอยากจะนำเพลงเราไปใช้ติดต่อมาได้เลย 500 บาทต่อเพลงต่อปี หรือ ชุด 62 เพลง 25, 000 บาทต่อคนต่อปี
จะได้รับสิทธิพิเศษสามารถลงช่องทาง YouTube Facebook TikTok เป็นการหารายได้อีกช่องหนึ่ง สามารถเผยแพร่ได้ระยะเวลาต่อปี (เฉลี่ยต่อเพลง 400 บาท/ต่อปีเท่านั้น)
สามารถเลือกเพลงดังเก่าๆ มาร้องได้ หรือยุคY2K ถึงปัจจุบัน ที่สำคัญต้องทำให้ผู้ใช้ไม่ละเมิดก่อน ผู้ใช้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ แล้วขอให้ถูกต้องก็จะตัดปัญหาทั้งหมดเลย
เพลงไหนที่ท่านไม่รู้สอบถามมาที่เราๆ ตรวจสอบให้ได้แนะนำได้”
ครับ..เวลานี้ดูเหมือนการ “คัฟเวอร์เพลง” จะเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักร้องอาชีพ-นักดนตรีสมัครเล่น และก็ได้มีการฟ้องร้องเป็นข่าวคราวอยู่ตลอด
การที่คุณจำรักษ์นำเรื่องลิขสิทธิ์มาโพสต์-อธิบายนี้ จึงควรจะได้ใส่ใจ-สนใจ และผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่แฟร์ ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามครรลองเสีย ก็จะได้สบายใจ
รายการประกวดร้องเพลงก็อย่าเขี้ยวให้มากนัก เมื่อตัวเองร่ำรวยกับธุรกิจที่ทำ ก็ควรเจียดจ่าย-แบ่งปันเพื่อจะได้พึ่งพากันไป..
พวกคัฟเวอร์ก็หยุดมักง่ายเสียที!