ผักกาดหอม
เป็นอีกวาระที่ต้องระลึกถึง คือเหตุการณ์ ๖ ตุลา
วานนี้ (๖ ตุลาคม) ๔๗ ปีผ่านมาแล้ว ถ้าเป็นคนก็ปาเข้าไปครึ่งชีวิต มีการถอดบทเรียนมากมาย นำมาปรับใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
ที่ไม่ได้เลยคือความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ ด้วยสาเหตุที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคมในอดีต
ประชาธิปไตย เผด็จการ
ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายอนุรักษนิยม
ที่สำคัญความเข้าใจสถานการณ์โดยไม่แยกบริบท อดีต-ปัจจุบัน ว่ามีความต่างอยู่มาก เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่รู้จบ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ยังมีผู้ที่เรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตย ยังแยกไม่ออกระหว่าง ถนอม ณรงค์ ประภาส กับ ประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์
ยังมีความเชื่อว่า ทหารคือทหาร
ทหารคือเผด็จการเบ็ดเสร็จ
และยังคงมีความเชื่อว่า ประชาชนในปัจจุบันไร้เสรีภาพ ถูกกดขี่ กดทับ เหมือนเช่นในอดีต ในขณะที่ประชาชนไม่ชอบ ๓ ป. ใช้โซเชียลด่า ๓ ป. เป็นหมูเป็นหมาได้ทุกวัน
ความเชื่อบางส่วนนี้ถูกถ่ายทอดลงในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล
มันก็คือประเด็นที่ซ่อนไว้นั่นแหละครับ
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งใจนิรโทษกรรม ผู้ทำผิด ม.๑๑๒ เป็นหลัก
และผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดี ม.๑๑๒ ทั้งหมดคือกลุ่มที่ต่อต้านต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน
มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็น สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ – ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา ๑๑๒ แล้วอย่างน้อย ๒๕๘ คน ใน ๒๘๐ คดี
ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน ๑๓๖ คดี
คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน ๑๑ คดี
คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ๙ คดี
คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ๑ คดี
ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน ๕๒ คดี
คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติกเกอร์ เป็นต้น จำนวน ๖๙ คดี
คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน ๑๕๑ คดี
คดีลักษณะแอบอ้าง ๑ คดี
และไม่ทราบสาเหตุ ๗ คดี
ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน ๑๘ ปี จำนวน ๒๐ ราย ในจำนวน ๒๓ คดี
ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย ๑๐๑ หมายจับ (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษา มธ. ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๙ อย่างน้อย ๒ หมายจับ
คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน ๑๙๖ คดี ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้
พริษฐ์ ชิวารักษ์ ๒๔ คดี
อานนท์ นำภา ๑๔ คดี
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ๑๐ คดี
ภาณุพงศ์ จาดนอก ๙ คดี
เบนจา อะปัญ ๘ คดี
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ๗ คดี
พรหมศร วีระธรรมจารี ๕ คดี
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ๔ คดี
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ๓ คดี
สมพล (นามสมมติ) ๖ คดี
ทำไมเริ่มนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓?
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้เหตุผลว่า
“….พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ
โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตาม ‘กระบวนการยุติธรรมของประเทศ’
จากนั้นก็ปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา….”
การพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลประยุทธ์ ก็ไม่มีอะไรพิเศษ เพราะก่อนหน้าเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ มีการเคลื่อนไหวโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์บ่อยครั้ง
และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายรัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมาย
ย้อนกลับไปที่มาตรา ๓ ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล
มีท่อนหนึ่งที่ระบุว่า
“…การกระทำใดๆ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ …หากการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง…”
ก็คือคดีที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมมา ระบุว่าคือการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติกเกอร์ เป็นต้น จำนวน ๖๙ คดี
คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน ๑๕๑ คดี
รวมทั้งสิ้น ๒๒๐ คดี
หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา จะมีคนได้ประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว