ผักกาดหอม
ได้อ่านกันหรือยังครับ…
ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ที่พรรคก้าวไกลเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ภาพรวมออกมาดูดีทีเดียว
เช่นกรณี การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ นั้น ห้ามมิให้นิรโทษกรรม
ม.๑๑๓ บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(๓) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
สรุปคือ…ใครที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกราชอาณาจักร จะไม่ได้นิรโทษกรรม
เช่นเดียวกับกลุ่มที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มสภา ล้มรัฐบาล ก็จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม
ซึ่งประเด็นนี้ พรรคก้าวไกลอาจตั้งใจให้ครอบคลุมไปถึงคณะรัฐประหารด้วย แต่ไม่เป็นผลครับ เพราะคณะรัฐประหารได้รับการนิรโทษจากรัฐธรรมนูญไปนานแล้ว
ก็ดูเอาเถอะครับว่าที่ผ่านมา มีใครเคลื่อนไหวในลักษณะล้มล้างการปกครอง จะเปลี่ยนไทยเป็นสาธารณรัฐบ้าง
ระบุตัวคนได้ไม่ยาก!
มีประเด็นที่ต้องถามกลับไปยังพรรคก้าวไกล เพราะเกิดความคลุมเครือในถ้อยความ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๓
“…บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ตลอดจนการกระทำใดๆ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙ จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง อันเป็นความผิดตามประกาศที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรมกำหนด หากการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ…”
อ่านผ่านๆ เหมือนไม่มีอะไร
วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ คือวันที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพื่อขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
เท่ากับว่า เหลือง แดง ส้ม หลากสี ได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด
แต่สะดุดตรงที่ บุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง… หมายความว่าอย่างไร
มาชัดเจนเอาประโยคต่อไปครับ
หากการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ก็หมายความว่าคนนั้นไม่ได้ชุมนุม แต่นอนแสดงความเห็นอยู่บ้าน ก็ต้องได้รับการนิรโทษกรรมด้วย
แถมมีติ่งว่า ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ใครที่เป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ คดี ๑๑๒ ให้พ้นผิดทั้งหมดใช่หรือไม่?
เอากฎหมายระหว่างประเทศมาคว่ำอีกต่างหาก
ถ้ายึดตามนี้ พ้นผิดหมดครับ ตั้งแต่ศาสดาอย่าง สมศักดิ์ เจียม ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จรัล ดิษฐาอภิชัย ยันแก๊งทะลุวัง
ไม่มีใครผิดสักคน!
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรมอันประกอบด้วยกรรมการจำนวน ๙ คน โดยประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง
(๑) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานกรรมการ
(๒) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานกรรมการ
(๓) บุคคลซึ่งได้รับเลือกโดยคณะรัฐมนตรี จำนวน ๑ คน
(๔) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๒ คน โดยต้องมาจากพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดของพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน ๑ คน และต้องมาจากพรรคการเมืองที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดของพรรคมากที่สุดซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน ๑ คน
(๕) ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน ๑ คน
(๖) ตุลาการหรืออดีตตุลาการในศาลปกครองซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๑ คน
(๗) พนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการซึ่งได้รับเลือกโดยคณะกรรมการอัยการ จำนวน ๑ คน
(๘) เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการและเลขานุการ
ตามสเปกนี้ ใน ๘ คนเป็นคนของพรรคก้าวไกลแล้ว ๒ คน
คือผู้นำฝ่ายค้านกับ สส.จากฝ่ายค้าน ซึ่งเขียนข้อความย้อนเกล็ด รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๖ ที่สร้างปัญหาให้รองอ๋องอยู่ในตอนนี้
โควตารัฐบาลมี ๓ คน คือประธานรัฐสภา บุคคลที่รัฐมนตรีเลือก และ สส.รัฐบาล แต่บางกรณี อาจเหลือ ๒ เพราะประธานมักงดออกเสียง
ที่เหลือก็ไปวัดกันครับ ว่าใครจะอยู่ข้างไหน
และที่ไม่ควรปรากฏในร่างกฎหมายฉบับนี้เลยคือ ในกรณีที่มีกฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่อื่นใดในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่การได้รับเลือก และการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม
คือ กรรมการวินิจฉัยชุดนี้ใหญ่จริงๆ ครับ ห้ามแตะ
ไม่ว่าหน้าไหนก็ตามจะมาสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่มิได้
ก็เป็นไปได้ว่า พรรคก้าวไกล ยังอยู่ในสภาวะหลอน! หลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
มันควรหรือที่จะเขียนกฎหมายเพื่อปกป้องตัวเองล่วงหน้าแบบนี้
จะนิรโษกรรมกันทั้งที ควรจะตรงไปตรงมามากกว่านี้
แต่…เดิมพันขี้หมาสองกอง ร่างกฎหมายฉบับนี้ร่วงครับ หรือไม่ก็ไม่ได้เป็นร่างกฎหมายหลัก
สาเหตุ ไม่มีอะไรซับซ้อน รัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นกัน
งานนี้เลี่ยงไม่ได้ เพราะจะเป็นการทำผลงานเพื่อแย่งมวลชน
ยังมีคนเสื้อแดงติดคดีเพียบครับ