ประชาธิปัตย์ กับ ก้าวไกล – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

แปลกแฮะ…

ได้รัฐบาลแล้ว กำลังแต่งหน้าทาปาก จะเข้าไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล แต่พรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลบางพรรค ดันไม่ยอมเป็นฝ่ายค้านซะงั้น

ยิ่งฟังเหตุผลยิ่งเห็นสันดาน

“กติกู” อยู่เหนือ “กติกา”

พรรคก้าวไกล ไม่สง่าผ่าเผยเอาเลย ยังจมปลักกับความผิดหวังจากการไม่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ ได้แต่ยืนงงกับสถานะของตัวเอง

ราวกับยังพิสูจน์ทราบไม่ได้ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนดี

รัฐบาลไม่ได้เป็น ฝ่ายค้านก็จะไม่เอา

คือ…มันยังงี้ครับ

ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๑ ที่ “หมออ๋อง หมูกระทะ-ปดิพัทธ์ สันติภาดา” นั่งทับอยู่ตอนนี้ จะต้องเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่มีใครแกล้ง “หมออ๋อง หมูกระทะ” แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนั้น

รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๖ บัญญัติไว้ว่า

…ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร…

พรรคก้าวไกลดันไม่อยากได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แต่อยากให้ “หมออ๋อง หมูกระทะ” เป็นรองประธานสภาผู้แทนฯ ต่อไป

“ณัฐชา บุญอินไชยสวัสดิ์” ถือเป็นระดับบิ๊กในพรรคก้าวไกล พูดอะไรออกมาสังคมก็ต้องฟัง

“…พรรคยังคงต้องให้คุณปดิพัทธ์ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เนื่องจากว่าเป็นกลไกที่ได้มาโดยชอบผ่านการเลือกของที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างถูกต้อง

ส่วนข้อกฎหมายที่ระบุไว้ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ได้นั้น ทำให้พรรคก้าวไกลอยู่ในสถานะที่ก้ำกึ่งมาก จะบอกว่าเราเป็นฝ่ายค้านก็พูดได้ไม่เต็มปาก

เราชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ ๑ เราขอตำแหน่งประธานสภาฯ ก็ถูกกีดกัน ขอนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ ขอเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้ ต่อมาขอเป็นฝ่ายค้านก็ยังโดนกฎกติกาต่างๆ ทำให้ ไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน

ต่อจากนี้ไปพรรคก้าวไกลก็คงอยู่ในสถานะที่เรียกว่า ฝ่ายค้านโดยการกระทำในทางพฤตินัย แต่ในทางนิตินัยยังไม่สามารถเรียกตัวเองว่าฝ่ายค้านได้เต็มปาก เพราะเรายังสนับสนุนคุณปดิพัทธ์ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่รองประธานสภาฯ คนที่ ๑ ต่อไปอย่างสุดความสามารถ

ฉะนั้นเรายังคงไม่ถูกเรียกว่าฝ่ายค้านได้อย่างเต็มรูปแบบ…”

เป็นไงครับเหตุผล… ฟังแล้วต้องกลับไปกินยาพาราเซตามอล

รัฐธรรมนูญเขาเขียนตรงตัวขนาดนั้น ยังจะดำน้ำใช้หลักกูอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

ทำเป็นเด็กโดนแย่งของเล่นไปได้

ตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาฯ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาล ไม่รู้ก้าวไกลไปขอใคร

ยื่นเงื่อนไขอะไรในการขอ

ในทางกลับกัน หากพรรคก้าวไกลยอมตามที่คนอื่นขอ พรรคก้าวไกลก็ได้เกือบจะทุกตำแหน่งไปครอบครอง

แต่ก้าวไกลให้ตามที่พรรคอื่นขอหรือเปล่า

เขาขอแค่ ไม่แก้ ม.๑๑๒

ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่คิดจะหยิบยื่นให้ใคร แล้ววันนี้จะมาคาดหวังว่าคนอื่นจะหยิบยื่นให้ได้อย่างไรกัน

เมื่อยอมแลกตำแหน่งนายกฯ กับการแก้ ม.๑๑๒ ผลที่ออกมาพรรคก้าวไกลจะโทษใครไม่ได้ เพราะตัดสินใจที่จะไม่ถอยเอง

ครับ…สุดท้าย พรรคก้าวไกลก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน “หมออ๋อง หมูกระทะ” ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ

ไม่งั้นขัดรัฐธรรมนูญ

อีกพรรคก็วุ่นไม่แพ้กัน

ประชาธิปัตย์

ไปๆ มาๆ กลายเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ ยังลงไปไม่ถึงจุดต่ำสุด

ส.ส.ตั้งก๊วน อยากเป็นรัฐบาล แต่พรรคยืนกรานต้องเป็นฝ่ายค้าน

พฤติกรรมยุคก่อนๆ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เป็นแบบนี้ครับ มติพรรคถือเป็นที่สุด พรรคมีมติออกมาอย่างไร ต้องว่าไปตามนั้น

แต่ยุคนี้ ว่าไปตามใจอยาก!

“…ความดิ้นรนอยากเป็นรัฐบาล ต้องผ่านพรรค เป็นมติพรรค ไม่ได้เป็นปัญหา อยากร่วมรัฐบาลก็ทำได้ ไม่ใช่แอบไปเจรจาแล้วเขาไม่รับ…”

“…ในที่ประชุมพรรคผมพูดว่าไม่อายหรือที่ไปเสนอตัว เพราะคุณเศรษฐาเคยประกาศแต่แรกว่าจะไม่เชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล แต่ยังไปติดต่อด้วยตัวเอง ไปเจรจากับนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยตัวเอง ซึ่งความดิ้นรนนี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพรรคเสียหาย…”

นายหัวชวน เหลืออด กรีด แก๊ง ๑๖ ส.ส. ที่นำโดย “เดชอิศม์ ขาวทอง” จากนี้ไปก็คงจะอยู่ร่วมกันยากแล้วครับ

ถ้าจะให้จบ ต้องใช้มติพรรคขับ ๑๖ ส.ส.ออกจากพรรค เปิดโอกาสให้หาพรรคใหม่เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลสมใจอยาก

ประชาธิปัตย์จะเหลือ ส.ส.อยู่แค่ ๙ คน แต่จำนวนไม่ใช่อุปสรรคต่อการฟื้นฟูพรรค

มันอยู่ที่อุดมการณ์ของพรรค

“เดชอิศม์ ขาวทอง” ทำลายอุดมการณ์ของพรรคลงอย่างย่อยยับ

ทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็นตัวตลกทางการเมือง

ฉะนั้นจุดต่ำสุดรอบนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ อาจเหลือ ส.ส. ๙ คน

กลายเป็นพรรคต่ำสิบ

การฟื้นฟูพรรคจึงจำเป็นต้องอาศัยบารมีอดีตหัวหน้าพรรคอย่าง นายหัวชวน พี่มาร์ค ช่วยกันกอบกู้

ไม่ใช่ดูถูกดูแคลนครับ การเลือกตั้งครั้งถัดๆ ไป บางพรรคจะหายไป หรือกลายเป็นพรรคต่ำสิบ เช่น พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ เพราะเมื่อพรรคไม่ได้อยู่ในมือ ๒ ลุงแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาความรุ่งโรจน์เอาไว้ได้

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ แต่ก็อยู่ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่รุนแรงกว่าเดิม

เพราะคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปคือ ก้าวไกล กับ เพื่อไทย

ฉะนั้นการเลือกที่จะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับใคร มันช่างยากจริงๆ

แต่ในระยะ ๔-๘ ปีนี้ การเป็นฝ่ายค้านที่้ทรงประสิทธิภาพ คือการฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง

Written By
More from pp
เปิดอย่างยิ่งใหญ่!! งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9 “รวมพลังขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์” เร่งไทยช่วยหยุดโลกเดือด ชวนช้อปสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรทั่วประเทศ
3 วันเท่านั้น!! “งานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 9” เริ่มตั้งแต่วันนี้- 28 มกราคม 2567 งานเดียวเที่ยวได้ทั้งครอบครัว ช้อปได้ครบครัน ทั้งความรู้...
Read More
0 replies on “ประชาธิปัตย์ กับ ก้าวไกล – ผักกาดหอม”