ผักกาดหอม
เลื่อน….
เลื่อนหมดครับ หลังศาลรัฐธรรมนูญ ได้เลื่อนพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปวันที่ ๑๖ สิงหาคม
ไปลุ้นกันวันหวยออกพอดี!
สาเหตุก็เป็นไปตามข่าว… ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าคำร้องนี้มีประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีประเด็นเชิงหลักการการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม
จึงให้เลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้อง และให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ฉะนั้น ประเด็นสามารถเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้หรือไม่ ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.๒๕๖๓ ข้อ ๔๑ หรือเปล่า ยังต้องรอกันต่อไป
การประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ (๔ สิงหาคม) ก็ต้องเลื่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดออกมา
ส่วนพรรคเพื่อไทยก็เลื่อนแถลงข่าวความคืบหน้าจัดตั้งรัฐบาลออกไปเช่นกัน
ก็ล้อกันไปแบบนี้ครับ ไม่มีอะไรพิเศษ หรือแปลกประหลาดอะไร
แต่ที่ยังไม่รู้ว่าจะเลื่อนด้วยหรือไม่คือ “ทักษิณ ชินวัตร”
จะเลื่อนกลับไทยในวันที่ ๑๐ สิงหาคมนี้ ออกไปหรือเปล่า
ถ้าเลื่อนน่าจะถูกด่ายับ
เพราะตอนลูกสาวให้ข่าวว่า พ่อจะกลับไทยวันที่ ๑๐ สิงหาคม พากันปฏิเสธคอเป็นเอ็น ไม่เกี่ยวกับการเมือง
ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล
นี่…พอเขาเลื่อนตั้งรัฐบาลออกไป จะเลื่อนกลับไทยด้วย มันก็ชัดๆ “ทักษิณ” เกี่ยวพันกับการตั้งรัฐบาลเพื่อไทยเต็มๆ
กระนั้นก็ตาม การเลื่อนวันโหวตเลือกนายกฯ เป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทย เพราะมีรูให้หายใจได้อีกพักใหญ่
ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละครับ การเลือกนายกฯ เต็มไปด้วยความระแวง ต่างฝ่ายต่างระแวงอีกฝ่ายว่าจะทรยศหักหลังกันหรือไม่
มีงูเห่าซ้อนงูเห่าหรือเปล่า
สว.ไม่ไว้ใจ เพื่อไทยกลัวก้าวไกลรีเทิร์น
เพื่อไทยก็กลัวพรรคลำดับที่ ๓ คว้าพุงปลาไปกิน
๕ พรรคขั้วรัฐบาลเดิมก็กลัวถูกหลอกให้โหวตฟรี
เมื่อต้องเลื่อนแบบนี้ก็มีเวลาคุยกัน ตกลงกันให้เรียบร้อย การตั้งรัฐบาลจะได้ไม่มีปัญหาตามมา ไม่งั้น “ลุงตู่” เบื่อแย่ ต้องรักษาการไปอีกยาว
เข้าใจว่าเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม เพื่อไทยเตรียมจะแถลงถึงพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาล เป็นการให้คำมั่นสัญญาว่า พรรคที่ถูกกล่าวถึงคือพรรคที่ต้องมาบริหารประเทศด้วยกัน
ก็เก็งกันยกใหญ่ครับ มี ๒ สูตรหลักๆ
คือ สูตรมีลุง กับไม่มีลุง
สูตรไม่มีลุง มีเพื่อไทย, ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา, ประชาชาติ, ชาติพัฒนากล้า, เสรีรวมไทย และพรรคเล็ก
รวมกันได้ ๒๖๔ เสียง
ได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
แต่ถ้ามีลุง ๓๐๐ ที่นั่งยืนพื้น
ก็ไม่รู้ว่าที่เพื่อไทยเลือกไว้เป็นสูตรไหน แต่ในแง่เสถียรภาพของรัฐบาล ต้องเลือก มีลุง
ถ้ากลัวทัวร์ลง ก็ไม่มีลุง
แต่เข้าใจว่า หน้าตาของเพื่อไทยวันนี้ หนาพอที่จะยิ้มรับทัวร์ ไม่ว่าจะคณะเล็ก คณะใหญ่ สุดท้ายก็ต้องเจออยู่ดี
เพราะทัวร์ที่แท้ทรูคือ ทัวร์ด้อมส้ม มาจากความไม่พอใจที่ ก้าวไกล ไม่ได้เป็นรัฐบาล
ฉะนั้นเลือกไม่ยากครับ ระหว่างทัวร์ลง กับเสถียรภาพของรัฐบาล เพื่อไทยต้องเลือกเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นอันดับแรก
เริ่มมีคำถามแล้วว่า “เศรษฐา แสนสิริ” เหมาะที่จะเป็นผู้นำประเทศหรือเปล่า?
น่าคิดครับ!
ถ้าไม่เหมาะแล้วใครเหมาะกว่า
แพทองธาร ชินวัตร
ชัยเกษม นิติสิริ
อนุทิน ชาญวีรกูล
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ที่เข้าเกณฑ์ ก็มีเท่านี้
เอารายชื่อมาวาง บวกด้วยความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเรื่องจำนวน สส. โอกาสที่จะผันแปร ก็จะได้คำตอบครับ
สุดท้ายแล้วประเทศไทยต้องมีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม จะเป็นใครก็ว่าไปตามกลไกรัฐสภา ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ส่วนเรื่อง ชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี ก็ต้องไปว่ากันหลังจากนี้
ใช่ครับ…มาถึงบทสำคัญที่ประชาชนต้องปรับความรู้สึกกันพอสมควร รัฐบาลเพื่อไทยจะมีพรรคลุง หรือไม่ก็ ประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย
นายกฯ จากพรรคเพื่อไทยต้องนั่งหัวโต๊ะ ส่วนรัฐมนตรีจากพรรคลุง หรือพรรคประชาธิปัตย์ นั่งเป็นพระรอง
รสชาติก็จะออกมาแนว ฝืดๆ ขมๆ บ้าง
เมื่อไม่เอาก้าวไกล ตัวเลือกมันมีแค่นี้แหละครับ
ถึงกระนั้นเถอะ…ก็ยังสงสัยในสูตรตั้งรัฐบาลเพื่อไทยที่มีประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย
ปลาคนละน้ำจะอยู่บ่อเดียวกันได้หรือเปล่า
เข้าใจดีว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูที่ถาวร กาลเวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยนได้
แต่…คนอย่าง ชวน หลีกภัย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, บัญญัติ บรรทัดฐาน จะมีปฏิกิริยาอย่างไร เมื่อสมาชิกพรรคไปนั่งใน ครม.ระบอบทักษิณ
ก็…ไม่มีอะไรหรอกครับ เพราะเห็นบรรดาแม่ยกโอดครวญว่า ถ้าออกมาเหลี่ยมนี้ ถึงเวลาได้พักผ่อนซะที ไม่อยากไปข้องแวะกับพรรคประชาธิปัตย์อีก
สงสารแม่ยก
เอาไว้ตั้งรัฐบาลให้เสร็จ มีประเด็นให้ก้าวไกลเสียวเล่นอีก
เรื่องคือว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐๖ บัญญัติว่า
“ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”
ถ้า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ต้องการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน “หมออ๋อง- ปดิพัทธ์ สันติภาดา” รองประธานสภาฯ คนที่ ๑ ต้องลาออกก่อนหรือเปล่า
นักกฎหมายลับปากรอแล้วครับ