กรมควบคุมโรค เตือนนักท่องเที่ยวช่วงมรสุมไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล อาจเสี่ยงจมน้ำได้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

3 สิงหาคม 2566 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวช่วงมรสุมไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล เนื่องจากมีคลื่น ลมแรง และอาจถูกกระแสน้ำย้อนกลับ คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด เสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้ หากจะลงเล่นน้ำให้เล่นในบริเวณที่กำหนดไว้ และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด พร้อมแนะวิธีสังเกตธงสัญลักษณ์คำเตือนในการลงเล่นน้ำ
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลจะเป็นช่วงหน้ามรสุมในการท่องเที่ยวทางน้ำ ช่วงมรสุมนี้จะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม ส่งผลให้ทะเลมีคลื่นลมแรงไม่สามารถเล่นน้ำได้ หรือหากจะเล่นน้ำให้เล่นในบริเวณ ที่กำหนดไว้ และให้ระวังคลื่นลมแรง กระแสน้ำย้อนกลับ คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด (Rip Current) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้แทบทุกหาด

กระแสน้ำย้อนกลับ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด (Rip Current) เป็นกระแสน้ำรุนแรงที่เกิดขึ้นตามชายหาด เกิดจากการที่คลื่นทะเลซัดเข้าหาฝั่ง แล้วไหลออกสู่ทะเล แต่เจอสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหินหรือสันทรายขวางอยู่ ทำให้น้ำทะเลไหลรวมกันผ่านช่องแคบๆ ระหว่างสิ่งกีดขวางเหล่านั้น กระแสน้ำจึงพัดออกจากฝั่งด้วยความแรง ส่วนบริเวณที่เกิดคลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ดนั้น สามารถสังเกตได้จาก สีของน้ำทะเล จะมีสีที่ขุ่นขาวกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากกระแสน้ำได้พัดเอาตะกอนใต้น้ำฟุ้งขึ้นมา บริเวณชายหาด จะมีคลื่นแบบไม่ปะติดปะต่อกัน มีลักษณะเป็นร่อง แนวคลื่นขาดหาย และบริเวณปลายกระแสน้ำ มักเป็นรูปคล้ายดอกเห็ด

ด้านนายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์การจมน้ำ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 เพียง 6 วัน พบว่ามีเหตุการณ์การจมน้ำบริเวณทะเลทั้งสิ้น จำนวน 6 เหตุการณ์ เกิดเหตุในจังหวัดภูเก็ต (3 เหตุการณ์) กระบี่ ระยอง และตรัง (จังหวัดละ 1 เหตุการณ์) มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย (ชาวไทย 5 ราย ชาวต่างชาติ 3 ราย) เป็นเพศชายทั้งหมด อายุระหว่าง 9 – 44 ปี และจมน้ำแต่ไม่เสียชีวิตอีก จำนวน 12 ราย สาเหตุทั้งหมดเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศถึง 4 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีถึง 2 เหตุการณ์ที่นักท่องเที่ยวฝ่าฝืนและลงเล่นน้ำบริเวณจุดปักธงแดงแจ้งเตือนอันตราย ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงมรสุมทำให้มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกเป็นบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ ทะเลมีคลื่นลมแรง และมีคลื่นสูง ทำให้เสี่ยงจมน้ำได้ง่าย

สำหรับการท่องเที่ยวทะเล นักท่องเที่ยวควรสังเกต “ธง” สัญลักษณ์คำเตือนในการลงเล่นน้ำทะเล ที่ปักไว้บริเวณชายหาด ซึ่งความหมายของธงต่างๆ มีดังนี้

1.ธงแดง 2 ผืน มีความอันตรายมาก ห้ามลงเล่นน้ำเด็ดขาด

2.ธงแดง 1 ผืน อันตราย ห้ามลงเล่นน้ำ

3.ธงเหลือง ให้เล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง

4.ธงเหลือง-แดง บริเวณนี้มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard สามารถเล่นน้ำได้)

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแจ้งเตือนประชาชนให้เกิดความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการจมน้ำ จึงมีคำแนะนำ ดังนี้

1) ให้ติดตามสภาพอากาศหรือพยากรณ์อากาศก่อนเดินทางท่องเที่ยว

2) ตรวจสอบแหล่งน้ำก่อนลงเล่น โดยดูระดับน้ำ ความแรงของคลื่น กระแสน้ำย้อนกลับหรือคลื่นทะเลดูด (Rip Current) รวมถึงสัตว์มีพิษต่างๆ

3) เล่นน้ำในบริเวณที่กำหนดไว้ หรือบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ชีวพิทักษ์ (Lifeguard)

4) ไม่เล่นน้ำในบริเวณที่มีป้ายหรือธงสัญลักษณ์เตือนอันตราย บริเวณที่ติดธงแดงจะเป็นบริเวณที่อันตรายห้ามลงเล่นน้ำ

5) หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำบริเวณที่มีสกูตเตอร์ บานาน่าโบ๊ท เจ็ตสกี

6) ไม่เล่นน้ำขณะฝนตกหรือหลังฝนตก

7) สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเล่นน้ำ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ และ

8) ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็ก เล่นน้ำหรืออยู่ตามลำพังบริเวณชายหาด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Written By
More from pp
รับมืออย่างมั่นใจ เมื่อพบ “เนื้องอกมดลูก” ขณะตั้งครรภ์
ตรวจพบเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ต้องทำอย่างไรคะ? ฝากท้องแล้วอัลตราซาวด์พบเนื้องอก จะกระทบต่อการตั้งครรภ์ไหมคะ? หากผ่าคลอด ให้คุณหมอผ่าเนื้องอกออกพร้อมกันได้หรือเปล่าคะ? สารพันความกังวลใจของคุณแม่ หลังพบปัญหาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกขณะตั้งครรภ์ ล้วนเกิดเป็นนานาคำถามที่ต้องการคำตอบ ว่าควรรับมืออย่างไร ปฏิบัติตัวแบบไหน เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์สามารถลืมตาดูโลกได้อย่างปลอดภัย ความจริงแล้ว...
Read More
0 replies on “กรมควบคุมโรค เตือนนักท่องเที่ยวช่วงมรสุมไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล อาจเสี่ยงจมน้ำได้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด”