ไทยไม่มีนายกฯชื่อ “พิธา” – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ก็ไม่ทราบมาจากไหน ใครเป็นคนปล่อย

ข่าวที่ว่า ขั้วรัฐบาลเดิมจะตั้งรัฐบาลแข่ง

เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ดูเพ้อเจ้อไปเยอะทีเดียว

แทบปิดประตูตาย การตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย มีความเป็นไปได้น้อยมากๆ

ขณะนี้ ว่าที่ ๘ พรรคร่วมรัฐบาลมีส.ส.รวม ๓๑๒ คน

พรรคขั้วรัฐบาลเดิมต้องเติมเสียงส.ส.เท่าไหร่ ถึงจะได้เกิน ๒๕๐ เสียง คือจำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

พรรคภูมิใจไทย มีส.ส. ๗๑ คน

พรรคพลังประชารัฐ ๔๐ คน

พรรครวมไทยสร้างชาติ ๓๖ คน

พรรคประชาธิปัตย์ ๒๕ คน

พรรคชาติไทยพัฒนา ๑๐ คน

รวม ๑๘๒ คน

ขาดอีก ๖๙ เสียง ถึงจะเป็นเสียงข้างมากในสภา แต่เป็นเสียงข้างมากที่เกินครึ่งมาเพียง ๑ ที่นั่งเท่านั้น

หากจะอยู่รอดปลอดภัยต้องหามาเพิ่มราวๆ ๑๐๐ เสียง

จะหาจากไหน

มีการวิเคราะห์ว่า มีความพยายามตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อาศัยวุฒิสภาโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากขั้วรัฐบาลเดิม เป็นนายกฯให้ได้ก่อน

จากนั้นขี้คร้าน ๘ พรรคจะแตกแถวขอร่วมรัฐบาลด้วย

ตั้ง ๑๐๐ เสียง พรรคไหนจะยอมสลัดขั้วบ้าง

พรรคก้าวไกล ๑๕๑ คน

พรรคเพื่อไทย ๑๔๑ คน

พรรครวมไทยสร้างชาติ ๓๖ คน

พรรคประชาชาติ ๙ คน

พรรคไทยสร้างไทย ๖ คน

พรรคเพื่อไทรวมพลัง ๒ คน

พรรคชาติพัฒนากล้า ๒ คน

พรรคเสรีรวมไทย,พรรคประชาธิปไตยใหม่,พรรคใหม่,พรรคท้องที่ไทย,พรรคเป็นธรรม,

พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคละ ๑ คน

ถ้าจะย้ายขั้วไปเติมเต็มให้ขั้วรัฐบาลเดิมเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ก็มีอยู่แค่ ๒ พรรคเท่านั้น ก้าวไกล กับ เพื่อไทย

ทีนี้เห็นหรือยังว่าการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หลังเลือกนายกฯเสร็จก็แจกกล้วย เพื่อให้ได้ส.ส.เพิ่มราวๆ ๑๐๐ ที่นั่งนั้น เกิดขึ้นได้กรณีเดียวคือ พรรคเพื่อไทย ย้ายขั้ว

เพื่อไทยต้องทิ้งศักดิ์ศรี ไปสยบยอมอยู่ใต้พรรคการเมืองที่มีส.ส.น้อยกว่ามากกว่าครึ่ง ต้องอธิบายกับคนเสื้อแดงกันยืดยาวเลยทีเดียว

เผลอๆเลือกตั้งสมัยหน้า เพื่อไทย สูญพันธุ์ เอาง่ายๆ

มันมีวิธีที่สมเหตุสมผลกว่านี้เยอะครับ หากเพื่อไทยจะย้ายขั้ว

วันที่ ๑๑ กรกฎาคม นี้ ว่าที่ ๘ พรรคร่วมรัฐบาลจะหารือเรื่องการโหวตนายกฯในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พรรคก้าวไกลจะให้ความชัดเจนเรื่องจำนวน ส.ว. ที่จะสนับสนุน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี

พูดง่ายๆ ๗ พรรคที่เหลือก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่า พรรคก้าวไกล สามารถล็อบบี้ ส.ว.ได้ถึง ๖๕ เสียงแล้วหรือยัง

ถ้ายัง บางพรรคคงมุ่งหน้าสู่แผน ๒ แล้ว

อีกประเด็นที่ ๗ พรรค อยากได้ความชัดเจนกันคือ… ต้องเลือกชื่อ “พิธา” กี่รอบ

จะโหวตจนส.ว.หมดวาระเดือนพฤษภาคมปีหน้าหรือเปล่า

ครับ…สถานการณ์ของ ๗ พรรคเหมือนถูกขังอยู่ในถ้ำ พรรคก้าวไกลแทบไม่แจ้งความคืบหน้าให้รับรู้เลย ผิดวิสัยพรรคการเมืองที่เซ็นต์เอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน

แต่…ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม วันพฤหัสบดี สีส้ม ทั้ง ๘ พรรคจะไม่มีการแตกแถว ยังคงโหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯ ตามที่เซ็นเอ็มโอยูกันไว้

คิดในทางบวกสำหรับก้าวไกล มีวุฒิสมาชิกหนุนหลังเกิน ๖๕ เสียง เพราะเริ่มมีส.ว.บางคน ออกมาแสดงเจตจำนงแล้วว่า จะเลือกแคนดิเดตนายกฯจากพรรคการเมืองที่มีจำนวนส.ส.มากที่สุด

เช่น….

“วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์” ร่อนจดหมายเปิดผนึก ยกพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ กรกฎาคม ขณะ ทรงประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรก

“…ประเทศชาติ จะมีความเจริญเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญา ความสามารถ และความสุจริตบริสุทธิ์ของท่านที่จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวง โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด หากทุกท่านจะได้สำนึกตระหนักเช่นนี้อยู่เสมอ ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วง เป็นประโยชน์ เป็นความเจริญมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์ และชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง…”

“วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์” ตีความว่า การน้อมนำ และยึดมั่นตามแนวทางในกระแสพระราชดำรัส คือ ให้การสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

คือเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ

“อำพล จินดาวัฒนะ” เป็นสมาชิกวุฒิสภา อีกคนที่ประกาศชัดเจน ว่า เตรียมโหวตให้คนที่พรรคการเมืองรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนฯเสนอชื่อ เพื่อให้เข้าไปเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากบริหารประเทศต่อไป

“ใช้เหตุผลเดียวกันกับที่เคยใช้ตอนโหวตเลือกนรม. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อปี ๖๒ จะกลับกลิ้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ประวัติศาสตร์จะจารึกและบันทึกไว้”

ถือเป็นสิทธิของส.ว.ทั้ง ๒ คนนี้ที่จะเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ ซึ่งมิได้ผิดแผกอะไร

แต่อย่าลืมว่า ประวัติศาสตร์จะจารึกไว้เช่นกันว่า การใช้วิจารณญาณของส.ว.แต่ละคน จะนำไปสู่ผลลัพธ์เช่นไรหลังจากนั้น

ประเทศจะเจริญหรือไม่ขึ้นกับสติปัญญาของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

เช่นเดียวกันประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ ก็ขึ้นกับการใช้สติปัญญาของสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้

การเลือกนายกฯครั้งนี้ ต่างจากปี ๒๕๖๒ แทบจะสิ้นเชิง

แม้จะเลือกด้วยวิธีเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แต่เงื่อนไขแวดล้อมไม่เหมือนกัน

ปี ๒๕๖๒ พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีปัญหาการเลือกประธานสภาฯ ไม่มีปัญหาเรื่องแนวคิด นโยบาย ที่สุ่มเสียงจะกลายเป็นการล้มล้างการปกครอง

แต่ครั้งนี้ มีเรื่องน่าตกใจเยอะเหลือเกิน

ทั้งแก้ม.๑๑๒ แยกดินแดน

ฉะนั้นวุฒิสภา ต้องสร้างประวัติศาสตร์

ต้องให้ประวัติศาสตร์จารึก ประเทศไทยไม่เคยมีนายกฯ ชื่อ “พิธา”

Written By
More from pp
ไทยโพสต์ เดลิเวอรี่ (4) ตี่โภชนา – สันติ อิ่มใจจิตต์
ช่วงนี้รัฐบาลยังมีคำสั่งห้ามนั่งกินอาหารภายในร้าน ต้องซื้อใส่กล่องกลับบ้านหรือสั่งเดลิเวอรี่จากบริษัทต่างๆ ที่กำลังแข่งกันให้โปรโมชั่นมากมายแก่ลูกค้า
Read More
0 replies on “ไทยไม่มีนายกฯชื่อ “พิธา” – ผักกาดหอม”