ก้าวข้าม ‘ชินวัตร’?-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ตามคาด!

ทัวร์ลง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

นักการเมืองทุกคน พรรคการเมืองทุกพรรค ล้วนมีข้อด้อยให้การเมืองฝ่ายตรงข้ามหยิบมาโจมตีได้เสมอ

เพียงแต่ สาระของเรื่องที่นำมาโจมตี อาจมีน้ำหนักไม่เท่ากัน

บางคนเรื่องส่วนตัวมีปัญหาเยอะ อาจกระทบส่วนรวมบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นทำให้สังคมวิกฤต

แต่บางคน เรื่องส่วนตัวคือ นิสัยปล้นแผ่นดิน แบบนี้ปล่อยไปไม่ได้

ย้อนกลับไปที่คำพูดของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบสภา ท่อนที่พูดถึง ทักษิณ รัฐประหาร  เพื่อไทย และ แลนด์สไลด์

สรุปความได้ว่า สังคมมีความกังวลประเด็นเหล่านี้

“ต้องยอมรับว่าความกังวลตรงนี้มีแน่นอน เพราะเกิดความรู้สึกว่าในที่สุดพรรคเพื่อไทย ก็ยังก้าวไม่พ้นครอบครัวชินวัตร สมมติว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คนในครอบครัวมาดำรงตำแหน่งอีก ลำพังตรงนั้นก็ไม่เป็นไรถ้าประชาชนเลือก เพียงแต่ว่าอย่าย้อนกลับไปสู่ พฤติกรรมหรือการกระทำที่เป็นลักษณะของการเอื้อประโยชน์ ให้ครอบครัว ให้พวกพ้อง หรือไปทำอะไรที่ฝืนกับหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมาย  ซึ่งอาจจะรวมไปถึงแนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรม”

 “เพราะฉะนั้นว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลนั้นผ่านการเลือกตั้ง ชนะการเลือกตั้งมาเราก็ต้องยอมรับ แต่ปัญหาคือทำอย่างไร ซึ่งตนพูดเสมอว่าการได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งมา เป็นความยินยอมพร้อมใจของประชาชนให้เข้ามาผลักดันนโยบาย หรือทำงานให้กับประเทศชาติ แต่ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เข้ามาทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักของกฎหมาย”

ดูตามนี้ ก็ไม่มีอะไรที่ สมุน “ทักษิณ” จะต้องออกมาโวยวาย

เพราะเป็นการพูดตามหลักการ ถ้า “อุ๊งอิ๊ง” ไม่ทำแบบ  “ยิ่งลักษณ์” พรรคเพื่อไทยก็ไม่ควรต้องมีอะไรกังวล

“อภิสิทธิ์” พูดเชิงบวกด้วยซ้ำว่า ถ้า “อุ๊งอิ๊ง” พาเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ประชาชนก็ต้องยอมรับ เพราะมันคือกติกาที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ

เพียงแต่…ชัยชนะในการเลือกตั้งไม่ใช่ใบเบิกทางไปทำเรื่องขัดกฎหมาย เช่น พา “ทักษิณ” กลับบ้านแบบเท่ๆ โดยไม่สนใจกฎหมาย

ประเด็นรัฐประหารก็เช่นกัน “อภิสิทธิ์” ไม่เห็นด้วย ก็ถูกต้องแล้ว

แต่การมีรัฐบาลโกงก็เป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารได้เช่นกัน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเห็นด้วยกับรัฐประหาร

แต่ คนในครอบครัวชินวัตร และลิ่วล้อในเพื่อไทยแสดงความโกรธออกมา

“โอ๊ค พานทองแท้” งับเข้าให้

“อยากจะ PR ตัวเอง เพื่อกลับมากอบกู้พรรคฯ จากเรื่องหื่น เรื่องฉาว ของรองหัวหน้าฯ ก็ทำไป อย่ามาใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ เลยครับ”

พรรคประชาธิปัตย์มีปัญหาเน่าในจริง แต่ก็อยู่ในกระบวนการชำระล้างอยู่ คนที่ทนไม่ได้ก็ออกไป ที่เหลืออยู่ก็ก้มหน้าก้มตารับสภาพ

เพราะในแง่จริยธรรมทางการเมือง มันกระเทือนทั้งพรรค ไม่ว่าคนก่อปัญหา หรือคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาเลย  ก็โดนหางเลขกันไปหมด

การเมืองฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่หรือที่เอาไปโจมตี ว่าทั้งพรรคต้องรับผิดชอบ

นั่นแค่เรื่อง “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ถูกกล่าวหามีปัญหาด้านจริยธรรม เรื่องคุกคามทางเพศ และประพฤติผิดทางเพศนะครับ

แล้วลองกลับไปที่พฤติกรรมของ “ครอบครัวชินวัตร” กระทบกับใครบ้าง

“ทักษิณ” หนี

“ยิ่งลักษณ์” หนี

สองพี่น้องเป็นนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจมิชอบ ศาลพิพากษาว่าโกง ลงโทษ จำคุก

ความเสียหายที่เกิด ไม่ได้กระทบแค่คนสองคน แต่กระเทือนไปทั้งประเทศ

ณ วันนี้ พรรคเพื่อไทยให้คำตอบกับสังคมได้หรือไม่ว่า  ได้ก้าวข้ามทักษิณ ก้าวข้ามตระกูลชินวัตรไปแล้ว

โกหกตัวเองได้ครับ แต่โกหกคนอื่นไม่ได้

“ทักษิณ” ยังบงการ พรรคเพื่อไทยเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ส่งลูกสาวมาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย คิดหรือว่า  “อุ๊งอิ๊ง” เดินไปเคาะประตูพรรคเพื่อไทยด้วยตัวเอง แล้วบอกว่า วันนี้ขอมาคุมพรรคเพื่อไทย

ถ้า “ทักษิณ” ไม่สั่ง ไม่ขอ “อุ๊งอิ๊ง” อยู่กับลูกกับผัว ไม่มีความสุขกว่าหรือ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเส้นทางการเมืองต้องเจอกับอะไร

ถ้า “ทักษิณ” ไม่คอยควบคุมอยู่ข้างหลัง แทบเป็นไปไม่ได้ที่ “อุ๊งอิ๊ง” จะอยากทำงานการเมืองด้วยตัวเอง

แล้ว “อภิสิทธิ์” พูดผิดตรงไหน?

 ประเด็นรัฐประหาร ก็ยังคาใจกันอยู่ว่า เป็นเพราะรัฐบาลโกงจนกลายเป็นเงื่อนไขให้ทหารเข้ามา หรือเพราะประชาชนที่ต่อต้านคนโกงชุมนุมประท้วงเป็นผู้เปิดทางให้ทหารกันแน่

ลองแยกแยะกันให้ดีครับ

หากประเทศไทยมีรัฐบาลใจซื่อมือสะอาด พัฒนาประเทศรุดหน้าแบบก้าวกระโดด ทหารหน้าไหนจะกล้าทำรัฐประหาร

มันไม่มีเงื่อนไขให้ทำ

ถึงทำไปก็อยู่ไม่ได้

ประชาชนไม่เอา

และเช่นกันรัฐบาลที่บริหารประเทศอย่างซื่อตรง ทำเพื่อประชาชน แล้วประชาชนหน้าไหนจะออกมาชุมนุม ขับไล่  เว้นทาสคนโกงที่จะทำเช่นนั้น

ฉะนั้นหากนักการเมืองไม่เคยโทษตัวเองว่า เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร ก็อาจมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก!

การที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ตอบโต้ “อภิสิทธิ์” สะท้อนเรื่องนี้ชัดเจน

“…ก่อนการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ อภิสิทธิ์ร่วมอยู่กับการบอยคอตการเลือกตั้งที่ชักชวนให้กองทัพยึดอำนาจและเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ก็บอกว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็น

ก่อนการรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ เข้าร่วมขบวนการเป่านกหวีดของ กปปส. นำพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหาร และเมื่อเกิดการรัฐประหารก็เออออห่อหมกไปด้วยอย่างออกนอกหน้า

เมื่อนึกย้อนหลังไปแล้ว คงต้องสรุปว่าการแสดงความเห็นครั้งหลังสุดที่ว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย อาจนำไปสู่การรัฐประหารได้นี้ เป็นความเห็นที่คงเส้นคงวาของนายอภิสิทธิ์ในการที่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำได้ และในบางสถานการณ์ก็เป็นสิ่งที่ดีถึงขั้นที่ต้องช่วยสร้างเงื่อนไขหรือเชื้อเชิญให้เกิดขึ้น…”

ถามกลับว่า ต้นตอมันอยู่ตรงนี้จริงหรือ หรือมีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นก่อน

ก่อนรัฐประหาร ๒๕๔๙ รัฐบาลทักษิณใจซื่อมือสะอาด  ไม่ใช้อำนาจรัฐเข้าไปโกงแม้แต่บาทเดียวอย่างนั้นหรือ

ก่อนรัฐประหาร ๒๕๕๗ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ บาทเดียวไม่เคยเอาจริงหรือ

แน่นอนครับรัฐประหารไม่ควรเกิด แต่รัฐบาลโกงก็ไม่ควรมีเช่นกัน

หน้าที่ของนักการเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร ไม่ใช่ออกมาชี้หน้าด่าคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุ

“พวกคุณทั้งหลาย” นั่นแหละ หยุดโกง ได้เมื่อไหร่  ทหารที่ไหนจะกล้ายึดอำนาจ

ใช่มั้ย “จาตุรนต์”



0 replies on “ก้าวข้าม ‘ชินวัตร’?-ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();