๑๓ ก.ค.จุดจบ ‘พิธา’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

กว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ ก็คงจะวันที่ ๒๐ กรกฎาคมโน้น แหละครับ

จับตาดูดีๆ คนที่ออกมาพูดเรื่องโหวต ๓ วันคือ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” กับ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” แต่รองประธานสภาฯ คนที่ ๑ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” จากพรรคก้าวไกล ยังเงียบกริบอยู่

ช่วงนี้ บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็เล่นบทพ่อพระ ต่อไป

ยังเก็บงำ วิญญาณหมาป่า ไม่ให้ปรากฏภาพ รอขย้ำสาวน้อยหมวกส้ม เกรงกองเชียร์จะแตกฮือ จัดทัวร์ในโซเชียล

แต่ก็มีหลุดออกมาบ้างเหมือนกัน

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พูดให้คิด!

“เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลต้องไปปรับกลยุทธ์เพื่อประโยชน์ในการเลือกนายกฯ”

ประโยคนี้มาจากคำถาม การแก้ ม.๑๑๒ ของพรรคก้าวไกล

ก็ประมาณว่า หากก้าวไกลไม่ยอมลดเพดานการแก้ ม.๑๑๒ ลงบ้างก็จะเจอปัญหา ไม่ได้รับการยอมรับจากวุฒิสภา

เสียงเตือนก็คล้ายๆ กันหมดครับ ส.ว.ก็เตือนแบบนี้

แต่ก้าวไกลเชื่อมั่นในตัวเองอย่างแรงกล้า

ไม่ลดเพดานการแก้ ม.๑๑๒ แม้สักนิดเดียว

“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ผู้จัดการรัฐบาลสมัครเล่น ไม่ลดราวาศอกจริงๆ

“…ไม่แน่ใจว่าลดเพดานหมายถึงอะไร ที่ผ่านมาเราพยายามอธิบายว่าเจตนารมณ์ของเราเป็นอย่างไร เรามองเห็นปัญหาอย่างไร เราคิดว่าแนวทางแบบนี้ดีต่อระบอบประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า…”

ว่าไปแล้วเนื้อหาการแก้ ม.๑๑๒ ของก้าวไกล ถูกชำแหละมาเยอะพอสมควรแล้ว

และส่วนใหญ่สรุปตรงกัน ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเทียบเท่าประชาชนธรรมดา

สิ่งที่เปลี่ยนไป สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นความมั่นคงของรัฐ

สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเผชิญหน้ากับประชาชนโดยตรง เพราะผู้ฟ้อง ม.๑๑๒ ตามที่ก้าวไกลต้องการคือ สำนักพระราชวัง

เรื่องโทษที่เบาลงก็พูดกันไปเยอะแล้ว

แนวทางของก้าวไกลคือเบาลงทั้งแผง แม้กระทั่งหมิ่นศาล

ในยุคโซเชียลที่มีการแสดงความเห็นแบบไร้ความรับผิดชอบอย่างกว้างขวางนี้ ใครโจมตีสถาบันก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะก้าวไกลต้องการให้เป็นเช่นนั้น

ฉะนั้นถ้าคนของก้าวไกลไปอธิบายให้ฟังเป็นอย่างอื่น แสดงว่านั่นคือการโกหกหลอกลวง

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม วันแรกของการเลือกนายกฯ

เริ่มต้นมาก็คงถกเถียงกันนานนับชั่วโมง ถ้าเลือกไม่ได้จะทำอย่างไร ต้องเลือกกันกี่วัน

เสร็จแล้ว จะมีการเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาได้โหวตเสียงกัน

ก่อนโหวต จะมีการแสดงวิสัยทัศน์

หากเสนอเพียงชื่อเดียวคือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อย่าเพิ่งดีใจ

ชื่อเดียวก็ต้องลงมติ ถ้าไม่ผ่าน ๓๗๖ เสียง ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ ไม่เหมือนการเลือกประธานสภาฯ ไม่มีคู่แข่งถือว่าได้เป็นโดยอัตโนมัติ

ในการแสดงวิสัยทัศน์ถ้า “พิธา” ไม่พูดเรื่อง ม.๑๑๒ จะมี ส.ส.และ ส.ว.หลายคนลุกขึ้นทวงถาม ว่าจะแก้อย่างไร วางสถาบันไว้ตรงไหน

ไอ้ที่คุยเอาใจด้อมส้มว่าไม่ลดเพดาน ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้

หาก ส.ว.และ ส.ส.อีกฟากฟังแล้วสมควรให้ “พิธา” เป็นนายกฯ ก็ม้วนเดียวจบ

ประเทศไทยได้นายกฯ ชื่อ “พิธา” จากนั้นต้องแถลงนโยบาย แล้วเข้าบริหารประเทศ อย่างเป็นทางการ ไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างไปจากนี้

แต่ถ้า “พิธา” ไม่ผ่านในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม แล้วเอาไงต่อ

ประเด็นนี้กำลังตกเป็นที่ถกเถียงกัน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าให้ทำอย่างไรต่อ

เริ่มมีบางคนออกมาพูดแล้ว การประชุมนัดถัดไปคือ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม สามารถเสนอชื่อ “พิธา” ใหม่ได้

ทำได้จริงหรือ? ในเมื่อรอบแรกไม่ผ่าน ๗ วันผ่านไปมีอะไรใหม่ที่สามารถจูงใจให้ คนที่โหวตไม่เลือก “พิธา” เปลี่ยนใจ

ปลุกม็อบหรือ?

หรือจะลดเพดานแก้ ม.๑๑๒

แต่ก็น่าจะสายไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ใครจะเป็นคนกำหนดว่า สามารถโหวตชื่อ “พิธา” ได้อีกรอบ

“วันนอร์” กำหนดได้หรือไม่?

คนวางพล็อตเรื่องนั่งกระดิกนิ้วตีนรออยู่แล้วครับ

มันต้องจบด้วย ที่ประชุมเสียงข้างมาก ว่าจะดำเนินการประชุมอย่างไรต่อไป

ถ้าเสียงส่วนใหญ่โหวตให้เลือก “พิธา” รอบ ๒ ได้ ก็ต้องโหวตรอบ ๓, ๔, ๕ ได้เช่นกัน

หากบอกว่า “พิธา” จบไปแล้ว ก็ต้องเริ่มชื่อใหม่

ฉะนั้นกูรูกูรู้ในก้าวไกลที่ออกมาทุบโต๊ะว่าโหวต “พิธา” กี่รอบก็ได้ ต้องหยุดฟังก่อนว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร แล้วค่อยให้เป็นไปตามนั้น

นี่คือประชาธิปไตย

จึงไม่ง่ายครับ ๑๙ กรกฎาคม ที่ประชุมรัฐสภาจะโหวตชื่อ “พิธา” กันอีกรอบ

เว้นเสียว่า พรรคก้าวไกล มีแคนดิเดตนายกฯ มากกว่า ๑ รายชื่อ กรณีนี้ก็อาจพอคุยกันได้

แต่…ก้าวไกล มี “พิธา” คนเดียว

ผิดกับเพื่อไทยส่งเต็มพิกัดมี ๓ คน

เพื่อไทยคงกินนิ่มๆ ทัวร์ลงน้อย ปล่อยไหลไปจบวันที่ ๒๐ กรกฎาคม เป็นรัฐบาลเพื่อไทย ที่ไม่มีก้าวไกลร่วมรัฐบาล

ครับ…สำหรับก้าวไกล ลดเพดาน ม.๑๑๒ ไม่ทันแล้ว เพราะ ส.ส.ยังไปโชว์ตัวร่วมกับแก๊งล้มเจ้า

ประกาศตัวชัดเจนยืนข้าง ผู้ต้องหา จำเลยคดี ม.๑๑๒ ทุกกรณี

ยังคงแสดงเจตนารมณ์เช่นเดิม

ชัดเจนแบบนี้ก็ดีไปอย่าง

ส.ว.คงจะรู้ดีอยู่แล้วว่า พวกทะลุแก๊ส ทะลุวัง กลุ่มนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่แค่การแก้ ม.๑๑๒ เท่านั้น

การแสดงออกที่ผ่านมาคือล้มล้างสถาบัน

การเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ จึงเป็นการเลือกหัวหน้าพรรคที่มีนโยบายแก้ ม.๑๑๒ = ยกเลิก เข้าไปบริหารประเทศ

และสิ่งที่พวกเขายืนกรานโดยไม่สนใจอีก ๗ พรรคพันธมิตร คือ จะต้องเอา ม.๑๑๒ เข้าสภาฯ ให้ได้

ใครคิดจะคบกับก้าวไกลก็เชิญครับ

แต่ต้องร่วมรับผิดชอบกับผลที่ตามมาด้วย

ม.๑๑๒ ไม่ได้เป็นผลร้ายกับใคร

แต่สำหรับคนที่ต้องการล้มล้าง หรือเปลี่ยนแปลง พวกนี้กำลังหาช่องทางอยู่

วิธีที่ดีที่สุดคือแก้ ม.๑๑๒ ให้โทษการหมิ่นสถาบันเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากนั้นลงมือทำในสิ่งที่คิดมานาน

Written By
More from pp
พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ไร้ชื่อ ‘ธรรมนัส’ อ้างฟังเสียงส่วนใหญ่
16 ส.ค. 64 – ที่รัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล...
Read More
0 replies on “๑๓ ก.ค.จุดจบ ‘พิธา’ – ผักกาดหอม”