วังวนแห่งประชาธิปัตย์ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

คึกคัก!

เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากเป็นพิเศษช่วงหนึ่งเลยทีเดียว

วันเสาร์พรรคประชาธิปัตย์ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๖๕

วาระการประชุม เป็นการรับรองรายงานการประชุมใหญ่ สามัญ พรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี ๒๕๖๔

รับรองงบการเงินประจำปี ๒๕๖๔

พิจารณาแผนยุทธศาสตร์ของพรรค แผนหรือโครงการที่จะดำเนินการกิจกรรมสำหรับปีต่อไป

แต่กลายเป็นว่าประเด็นหลักคือ ความเสียหายที่เกิดกับพรรคจากกรณี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์”

ก็ยังเห็นรอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์

กว่าจะเลือกตั้งใหม่ เลือดอาจไหลอีก!

ประเด็นที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงการแสดงความรับผิดชอบ อาจเป็นการจุดไฟให้ลุกเพิ่มขึ้นมาอีก

 “…ที่คุณวิทยา แก้วภราดัย ได้ออกมายกตัวอย่างว่าในยุคที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยถูกกล่าวหาทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ท่านก็ได้แสดงความรับผิดชอบหรือแสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่กรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้ลาออก และไม่ได้หนีปัญหา แต่ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาด้วยการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค

จนกระทั่งมีมติให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี ให้ผมซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุขแทน เพื่อแก้ปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นมาตรฐานหรือเป็นสิ่งที่เราได้เคยปฏิบัติมา

ยุคนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนมาตรฐาน และยุคนี้ก็ได้ปฏิบัติ ไปตามนั้น เมื่อ คุณปริญญ์ ได้เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหา คุณปริญญ์ก็ได้ลาออกไปจากทุกตำแหน่งในพรรค ส่วนกรรมการบริหารพรรคก็ไม่มีหน้าที่ที่จะแสดงความรับผิดชอบจนเกินเลยขอบเขตของความรับผิดชอบ จนกลายเป็นการหนีความรับผิดชอบ…”

ครับ…วันก่อน “วิทยา แก้วภราดัย” ลาออกจากประชาธิปัตย์ พร้อมคำเตือน

“..อย่าให้พรรคช้ำจนไม่เหลือชื่อประชาธิปัตย์ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่เหลือพรรค…”

ในสายตาคนนอกมองเข้าไป มันชัดเจนว่า ความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ ยังต้องระเบิดอีกหลายระลอก

“วิทยา” อยู่สาย กปปส.

สายเดียวกับ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ที่ยำใหญ่ “จุรินทร์” ในที่ประชุมพรรคเมื่อวันเสาร์

“…พรรคใช้สโลแกน ‘พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค’ ถ้าคนของพรรคมีปัญหา พรรคก็ต้องรับผิดชอบ หัวหน้าพรรคในฐานะที่ผลักดันบุคคลนี้เข้ามา และมีปัญหาในเรื่องจริยธรรม แม้จะแถลงขอโทษ แต่หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเท่าที่ควร เช่นนี้สังคมจะเชื่อถือพรรคได้อย่างไร…”

“…ผมรู้ว่าตำแหน่งนี้ได้มายาก แต่ตำแหน่งไม่ได้มีความสำคัญเท่ากับเกียรติภูมิและอุดมคติ กับจุดยืนทางจริยธรรมของพรรค…”

ขยี้กันแบบนี้ มันไม่ธรรมดาจริงๆ

ประชาธิปัตย์มีแผลเก่าที่ยังแห้งไม่สนิท

แต่ไม่มีอะไรต้องแปลกใจ เพราะมันเหมือนย้อนเวลาไปช่วงก่อน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลงจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค

เป็นยุค สามก๊กประชาธิปัตย์

กลุ่ม กปปส.พยายามโค่น “อภิสิทธิ์” ออกจากตำแหน่ง หลัง “อภิสิทธิ์” ไม่สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ

ก่อนการเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ “อภิสิทธิ์” ประกาศชัดเจน

 “…ชัดๆ เลยนะครับ ผมไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ แน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่

๕ ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว…”

นั่นเพียงพอทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะการไม่จับขั้วกับพลังประชารัฐ ก็เท่ากับไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่ (ก้าวไกล)

ข่าวสารช่วงเวลานั้น เล่นแรงถึงขนาดปล่อยภาพ  “อภิสิทธิ์” หารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของหลายพรรค ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ เพื่อร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

การมาของ “จุรินทร์” คือความพ่ายแพ้ของเครือข่าย กปปส.ในประชาธิปัตย์

เป็นเหตุให้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” คู่ชิงของ “จุรินทร์” ซึ่งสนับสนุนโดย กปปส. ต้องโบกมือลาไปทำงานกับ  พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนก๊กที่เหลือแตกกระจาย กรณ์ จาติกวณิช และ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ล้วนไปมีเส้นทางเดินใหม่ของตัวเอง

แต่เลือดยังข้น เครือข่ายแกนนำ กปปส.ยังคงอยู่ประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น ถาวร เสนเนียม, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ, วิทยา แก้วภราดัย, ชุมพล จุลใส, สาทิตย์ วงศ์หนองเตย, อิสสระ สมชัย

กระนั้นก็ตามการเป็นหัวหน้าพรรคของ “จุรินทร์” นั้น  กลุ่ม กปปส.ถูกลดบทบาททางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อมีกรณี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” เกิดขึ้น มันก็เหมือนกับเอาคืน!

แต่อย่าลืมนะครับ อีกก๊ก ต้องการให้ “อภิสิทธิ์” กลับมา

ฉะนั้นการเมืองภายในประชาธิปัตย์ยังไม่จบง่ายๆ

จะมีใครลาออกอีกหรือไม่ ต้องจับตาอย่ากะพริบ จะไหลไปรวมกันที่ไหน ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน

แต่พรรค กปปส. ของ กำนันสุเทพ มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญ พอบอกนัยบางอย่างได้เช่นกัน

เปลี่ยนชื่อพรรค จาก “พรรครวมพลังประชาชาติไทย”  เป็น “พรรครวมพลัง” ใช้ พญานาคสีเหลือง เป็นโลโก้พรรค

ความเชื่อเกี่ยวกับ พญานาค สื่อถึงความยิ่งใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ มีวาสนา

เป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล

หาก “รวมพลัง” ได้ ความยิ่งใหญ่เกิดแน่นอน

ถ้าไม่ได้ก็หนังม้วนเก่า

ครับ…แวะไปที่เพื่อไทย ตีเกราะ เคาะกะลา มาหลายวัน ให้หัวหน้าครอบครัว “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” มาชี้อนาคตพรรค

ก็ไม่ผิดหวังสำหรับสมาชิกพรรคเพื่อไทย

“อุ๊งอิ๊ง” โชว์วิสัยทัศน์ ประเทศไทย

๑.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจสู่ระดับประชาชน

๒.ดึงศักยภาพคนไทยด้วยการใช้ Soft Power  ๑ คนต่อ ๑ ครอบครัว

๓.ใช้ Ai เพื่อการเกษตร

๔.Digital Transformation ภาครัฐและเอกชน สร้าง Digital Government

๕.เตรียมคนไทยเข้าสู่ยุค Metaverse

ก็จำเอาไว้ให้แม่นนะครับ ตอนหาเสียงเป็นแบบนี้

เพื่อไทยยังฝันถึงผลเลือกตั้งแลนด์สไลด์ เป้าหมายหลักที่จะทำหลังจากนั้น ถ้าเป็น ๕ ข้อข้างบนอย่างไม่บิดพลิ้ว ก็ถือว่าประเทศได้ประโยชน์

แต่หากเอาผลเลือกตั้งแลนด์สไลด์ไปเคลมว่า คนส่วนใหญ่ต้องการให้ “ทักษิณ” กลับมา ก็เตรียมวนกลับไปปี  ๒๕๕๖-๒๕๕๗ อีกรอบ



Written By
More from pp
ถามตัวเอง..ต้องการอะไร? – สันต์ สะตอแมน
สันต์ สะตอแมน ผ่านพ้นไปแล้วท่ามกลางความอิ่มเอิบ-สุขใจ.. ใช่..ผมกำลังพูดถึงกิจกรรม “One man and the river หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ของนักร้อง-นักแสดง...
Read More
0 replies on “วังวนแห่งประชาธิปัตย์ – ผักกาดหอม”

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
'); }); var ratingTotalIndicator = function() { var indicator = document.querySelectorAll('.rating-total-indicator'); if (typeof indicator === 'undefined' || indicator === null) { return; } for ( var i = 0, len = indicator.length; i < len; i++ ) { var circle = indicator[i].querySelector('.progress-ring__circle'); var radius = circle.r.baseVal.value; var circumference = radius * 2 * Math.PI; circle.style.strokeDasharray = `${circumference} ${circumference}`; circle.style.strokeDashoffset = `${circumference}`; function setProgress(percent) { const offset = circumference - percent / 100 * circumference; circle.style.strokeDashoffset = offset; } var dataCircle = indicator[i].getAttribute('data-circle'); setProgress(dataCircle); } }; ratingTotalIndicator(); var slideDock = function() { var slide_dock = document.querySelector('.slide-dock'); if (typeof slide_dock === 'undefined' || slide_dock === null) { return; } function isVisible (elem) { var { top, bottom } = elem.getBoundingClientRect(); var vHeight = (window.innerHeight || document.documentElement.clientHeight); return ( (top > 0 || bottom > 0) && top < vHeight ); } viewport = document.querySelector('#footer'); window.addEventListener('scroll', function() { if ( isVisible(viewport) ) { slide_dock.classList.add('slide-dock-on'); } else { slide_dock.classList.remove('slide-dock-on'); } }, false); var close = document.querySelector('.close-dock'); close.addEventListener('click', function(e) { e.preventDefault(); slide_dock.classList.add('slide-dock-off'); }); }; slideDock();