ผักกาดหอม
ช่วงนี้ “พิธา” เนื้อหอมครับ
ให้สัมภาษณ์สื่อไทยสื่อเทศไม่เว้นวัน
ความน่าสนใจของ “พิธา” อยู่ที่ความ สด ใหม่ หากได้เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะเปลี่ยนไป
ครับ…ที่พูดถึงกันมากในวันนี้ คือการให้สัมภาษณ์ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักข่าว BBC
เห็นมีประเด็นดรามา “ด้อมส้ม” พากันโวยวาย เพราะทีวีบางช่องตัดฉับ ไม่ยอมออกอากาศคำสัมภาษณ์ของ “พิธา”
ทั้งๆ ที่ ด้อมส้ม แทบไม่เคยกดดูทีวีช่องที่ว่านี้
แต่…นั่นประเด็นเล็กครับ ประเด็นใหญ่ อยู่ในคำสัมภาษณ์ “พิธา” เผยตัวตนมากกว่าให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยเป็นไหนๆ
บทสัมภาษณ์นี้ทางบีบีซี จั่วหัวว่า…
“Pita Limjaroenrat: Thai election upstart who vows to be different”
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ลั่นวาจาเป็นนายกฯ ‘ที่แตกต่าง’ เพื่อคนไทย”
มาดูบางช่วงบางตอนในคำสัมภาษณ์นี้ครับ
ไปดูคำถามจาก “โจนาธาน เฮด” กันก่อนครับ
“…เราพูดกันถึงเรื่องสถาบัน และสิ่งที่ติดชะงักมาเนิ่นนาน เราคุยกันถึงว่า ปัญหาในไทยเกิดขึ้นเพราะมีกองทัพ ที่แทรกแซงการเมืองเสมอมา แต่เราก็มีเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเราทุกคนพูดถึงได้อย่างจำกัด แต่ดำรงอยู่ แล้วยังมีวัฒนธรรมธุรกิจแบบนายทุนใหญ่ ที่ธุรกิจยักษ์ใหญ่มีอำนาจมหาศาลในประเทศนี้ แล้วจุดไหนที่คุณจะทำให้ประเทศทันสมัยและคล่องตัว…”
ทีนี้มาดูคำตอบจาก “พิธา”
“…ผมคิดว่าอยู่ตรงกองทัพ และการเงิน และกลุ่มคนรายล้อมสถาบันกษัตริย์ ที่ไม่เข้าใจบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ควรเป็นอย่างไรในไทยยุคใหม่ศตวรรษที่ ๒๑
แล้วเราจะจัดการ ๒ ประการแรกคือกองทัพและการเงินอย่างไร เราต้องเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใส เพราะหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันเกิดใต้โต๊ะทั้งหมด กฎหมายหลายฉบับถูกปรับแก้เมื่อหลายปีก่อน แต่หลายคนก็ไม่รู้ เราจึงมั่นใจว่า การนำเงินภาษีไปใช้ต้องมีความน่าเชื่อถือ…”
“…นี่คือช่วงเวลาที่จะยุติวงจรการรัฐประหาร และคือเวลาที่จะยุติการคอร์รัปชันทางการเมืองซึ่งเปิดประตูสู่การรัฐประหาร…”
มีประเด็นเห็นด้วยกับ “พิธา” ครับ
ยุติการคอร์รัปชันทางการเมือง
หากมองในมุมการปฏิรูปประเทศแล้ว ประเด็นนี้น่าจะสำคัญที่สุด หากการเมืองปลอดคอร์รัปชัน รัฐประหารยากที่จะเกิด
ถ้าเกิด เอาให้ตาย!
แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ปัญหาเดียว ปัญหาอื่นๆ ขี้ผงครับ หลายปัญหาจะคลี่คลายไปโดยอัตโนมัติเมื่อไม่มีการคอร์รัปชัน
แต่ก็อยากตั้งคำถามให้ “พิธา” ได้ตอบ
คิดอย่างไรกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอดีต รัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า ติดคุกเพราะรวมหัวกันโกง ส่วนนายกฯ หนี
อย่าตอบว่าเพราะรัฐประหาร การเมืองกลั่นแกล้ง มันจะมักง่ายไป
การร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนรัฐบาลคอร์รัปชันเพื่อปราบคอร์รัปชัน ฟังยังไง การปราบคอร์รัปชัน ก็เป็นแค่วาทกรรมที่สวยหรูเท่านั้นเอง
เนื้อในสกปรกโสมม
ทีนี้มาดูประเด็นที่ “พิธา” เผยตัวตน
จับคำพูดได้ว่า “กองทัพ และการเงิน และกลุ่มคนรายล้อมสถาบันกษัตริย์” คือประเด็นหลักที่ “พิธา” ต้องการสื่อกับบีบีซี
ทำไมต้องเป็น ทุน กองทัพ สถาบัน
คำพูด “บิ๊กจิ๋ว” ลอยมาทันที
“มันมีขบวนการไม่หวังดี ขบวนการล้มปืน ล้มทุน ล้มเจ้า มีมากน้อยเท่าไร ไม่รู้ ไม่พูดกันดีกว่า”
“พิธา” ไม่ได้มุ่งไปที่สถาบันโดยตรง แต่พยายามเข้าไปเปลี่ยนคนรายล้อมสถาบัน
คือกองทัพ กับ ทุน
กองทัพพอเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร
แต่ “ทุน” คือใคร
ไม่ใช่ไทยซัมมิทครับ แต่เป็นทุนขนาดใหญ่ที่ก้าวไกลมักเอามาโจมตีอยู่บ่อยครั้ง
ในคำให้สัมภาษณ์นี้ช่วงต้นๆ “พิธา” บอกว่าช่วงแรกๆ “ธนาธร” อยากให้ช่วยปฏิรูปการเกษตร
“พิธา” ยังบอกกับ “โจนาธาน เฮด” ว่า นโยบายสุราเสรี เป็นสิ่งที่เราพยายามทำ
แค่นี้ภาพ ๒ ทุนยักษ์ใหญ่ก็ลอยมาแล้ว
ไม่อยากจะสรุปว่าต้องการตัดแขนตัดขา แต่การที่ “พิธา” บอกว่าปัญหาอยู่ที่กลุ่มคนรายล้อมสถาบันกษัตริย์ ก็แสดงว่า จะเข้าไปจัดการกับสิ่งนั้น
ประเด็นจึงอยู่ที่จัดการกับกองทัพ และทุน เท่านั้นหรือ
แล้วทำไมต้องใช้คำว่า “กลุ่มคนรายล้อมสถาบันกษัตริย์”
ประเด็น ม.๑๑๒ “โจนาธาน เฮด” ถามว่าทำไมไม่บอกว่าขอพักไว้ก่อน เพื่อก้าวข้ามกระแสขัดแย้งจากสมาชิกวุฒิสภา แล้วไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น
คำตอบจาก “พิธา” คือ…
“…นั่นเพราะเราสัญญากับประชาชนไว้ เราชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนหาเสียง เรายื่นเสนอแก้ไขกฎหมายเมื่อ ๒-๓ ปีก่อนจะมีการเลือกตั้งเสียอีก นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียง แม้จะเป็น ๑ ใน ๓๐๐ นโยบายที่เราเสนอไป ทุกนโยบายมันมีความท้าทายมากมาย ไม่ใช่แค่ ม.๑๑๒ แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้…”
“โจนาธาน เฮด” พยายามถามว่าเป็นนโยบายที่อ่อนไหวที่สุดและยากที่คนไทยจำนวนมากจะรับได้
“พิธา” ตอบว่า
“…เราต้องแยกกันให้ออก เรามีฉันทามติมากพอ เราได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน ๑๔ ล้านเสียง และพวกเขาก็เข้าใจดี เราชัดเจนและโปร่งใสว่านี่คือหนึ่งในวาระที่เราต้องการผลักดัน แน่นอนว่ามี ส.ว.แต่งตั้งบางคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ความรู้สึกของยุคสมัยมันได้เปลี่ยนไปแล้ว…”
“…ผมคิดว่าตอนนี้เรามีวุฒิภาวะ และการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้อื่นกันมากขึ้นในการพูดถึงเกี่ยวกับสถาบัน แม้แต่คนกลุ่มอนุรักษนิยมก็เข้าใจดีว่าบทบาทของระบอบรัฐธรรมนูญควรเป็นเช่นไรในศตวรรษที่ ๒๑…”
จำได้ว่าตอนนี้ ม.๑๑๒ ไม่ปรากฏในเอ็มโอยูตั้งรัฐบาล มีคำตอบจากก้าวไกลว่า ๑๔ ล้านเสียงที่เลือกก้าวไกล ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการแก้ ม.๑๑๒ แต่เลือกเพราะนโยบายที่ก้าวหน้า
มาวันนี้ “พิธา” ยก ๑๔ ล้านเสียงขึ้นมาเพื่อบอกว่า ประชาชนที่เลือกก้าวไกลต้องการให้แก้ ม.๑๑๒ และพรรคต้องแก้ตามที่สัญญาไว้
ทั้งหมดนี้คือความคิดของ “พิธา” ก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เอ็มโอยูตั้งรัฐบาลเขียนว่า ทุกพรรคเห็นร่วมกันภารกิจของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันจะไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัตริย์
แต่ก้าวไกลอ้าง ๑๔ ล้านเสียง ดันทุรังจะแก้ ม.๑๑๒
หาก ม.๑๑๒ ถูกแก้ตามแนวทางก้าวไกล จะเอื้อให้เกิดการละเมิดต่อองค์พระมหากษัติย์ได้ง่ายขึ้น
แบบนี้ก็เท่ากับฉีกเอ็มโอยูกันตั้งแต่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้