‘พิธา’ รอดหรือไม่? – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ลุ้นระทึก!

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะตกม้าตายหรือเปล่า

ประเด็นการถือหุ้นสื่อของนักการเมือง ไม่ต่างจากฝันร้าย เพราะจุดจบมันคือ ถูกตัดสิทธิ์ ต้องเว้นวรรค และยุบพรรค

กรณีของ “พิธา” เรียกแขกได้เยอะพอควร เพราะในมุมกฎหมาย ควรจะทำให้ชัดเจน

หากวันนี้ไม่เคลียร์ วันหน้า “พิธา” ก็โดนตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ดี

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ “พิธา” ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน ๔๒,๐๐๐ หุ้น

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส

“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” นักร้องเสียงทอง ไปขุดคุ้ยพบว่า ข้อมูล ณ วันที่ ๗ เมษายน “พิธา” ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ในลำดับที่ ๖,๑๒๑ เลขทะเบียนผู้ถือหลักทรัพย์ ๔๐๓๐๙๕๔๑๖๘ จำนวน ๔๒,๐๐๐ หุ้น

เมื่อตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พบว่าเป็นนิติบุคคลที่ยังดำเนินกิจการอยู่

ธุรกิจตอนจดทะเบียน ระบุการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงยกเว้นทางออนไลน์

วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ระบุสถานีโทรทัศน์ หมวดธุรกิจ ระบุว่ากิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์

ปีที่ส่งงบการเงิน คือปี ๒๕๖๐ ต่อเนื่องถึงปี ๒๕๖๔

ตรวจสอบข้อมูลบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จากเว็บไซต์ พบว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการรับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกชนิดทุกประเภท มีรายได้ปี ๒๕๖๕ รวม ๒๑ ล้านบาท

มีรายได้ปี ๒๕๖๔ รวม ๒๔ ล้านบาท

บริษัทมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๖๖ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) เมื่อวันพุธที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๖

ข้อมูลของ “เรืองไกร” แสดงว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยังดำเนินกิจการอยู่

แต่เป็นการดำเนินกิจการในรูปแบบไหน?

ข้อมูลอีกด้านจาก “อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์” รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส

สรุปความมาตามนี้ครับ

๑.หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีตั้งแต่ ๒๔.๐๐ น. วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐ สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)

๒.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗

๓.ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฎหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า

การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๒,๘๙๐ ล้านบาท

๓.๑ ต่อมา สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.

๓.๒ มกราคม ๒๕๖๔ สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

๔.ปีบัญชี ๒๕๖๕ ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ ๒๐.๕ ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ ๘.๕ ล้านบาท

๕.ไอทีวี มีบริษัทย่อย ๑ บริษัท คือ บ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ

๖.กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน บ.ไอทีวีในปัจจุบัน คือ บ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

๗.การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของ บ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับ สปน. (ความเห็นผู้เขียน)

ครับ…สถานะของไอทีวี ไม่ได้ปิดอย่างถาวร

ปี ๒๕๖๕ ยังมีรายได้จากการลงทุน

มีบริษัทลูกให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการ หยุดกิจการไปแล้ว แต่ไม่บอกรายละเอียดว่าปิดไปเมื่อไหร่

เมื่อไอทีวียังคงมีความเคลื่อนไหว การตั้งบริษัทลูกขึ้นมาใหม่ย่อมทำได้

ปัจจุบันกิจการสถานีโทรทัศน์ สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว

แพลตฟอร์ม อื่นๆ อาทิ ยูทูบ เฟซบุ๊ก ติ๊กต๊อก ล้วนได้รับความนิยมมากกว่า ฟรีทีวีด้วยซ้ำ

ฉะนั้นประเด็นเรื่อง ไอทีวี ยังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ คงต้องพิจารณากันอย่างละเอียด

เพราะหากเปลี่ยนคำถามว่า ไอทีวียังมีความพร้อมในการประกอบกิจการสื่อหรือไม่ ก็จะได้รับคำตอบที่ต่างออกไป

แล้ว “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ขัดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) ไม่ได้บอกว่า ถือหุ้นเท่าไหร่ ถึงจะขัดรัฐธรรมนูญ

บอกเพียงว่าห้ามเป็น “เจ้าของ” หรือ “ผู้ถือหุ้น”

สดๆ ร้อนๆ มีคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำเขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดนครนายก ทำหนังสือแจ้งตัดสิทธิ์ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

คำพิพากษาระบุว่า….

…คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องมีหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง ๒๐๐ หุ้น จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด ๒,๙๗๓,๙๒๕,๗๙๑ หุ้น และมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษั แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี ๒๕๖๕ เป็นเงิน ๕๗๙.๙๗๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในขณะที่หุ้นของผู้ร้องมีมูลค่าตามราคาตลาดในวันเดียวกันเป็นเงินเพียง ๓๘,๐๐๐ บาท

การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จำนวนเพียง ๒๐๐ หุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจสั่งการให้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้องหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้อง หรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้ เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นในจำนวนมากพอที่จะสามารถกระทำเช่นนั้นได้ การตีความบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพียง ๒๐๐ หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ จังหวัดนครนายก จึงเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘ (๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๒ (๓)

จึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านเพิ่มชื่อนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง และประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ ๒ จังหวัดนครนายก ของพรรคประชาธิปัตย์…

คดี “ชาญชัย” จะเป็นบรรทัดฐานให้กรณี “พิธา” หรือไม่

จบที่ศาลครับ

Written By
More from pp
มิวเซียมสยาม ชวนรองผู้ว่าฯ กทม. และ The Cloud ร่วมแชร์มุมมอง ในงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “108 เรื่องมิวเซียม กับ คนกรุงเทพ”
คุณสุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มอบของที่ระลึกให้กับ คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ คุณทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร นิตยสารออนไลน์...
Read More
0 replies on “‘พิธา’ รอดหรือไม่? – ผักกาดหอม”