กรมการจัดหางาน เร่งรัดนายจ้างยื่นเอกสารต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว ย้ำ ทุกขั้นตอนต้องเสร็จสิ้น ภายใน 15 พ.ค. 66 พ้นกำหนด หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 กำหนดให้คนต่างด้าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยต้องยื่นเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 โดยที่ยังสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและทำงานได้อย่างถูกต้อง
เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการยังคงจ้างแรงงานเหล่านั้นได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งภาครัฐยังสามารถกำกับและบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งมิติของความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระบุว่า มีคนต่างด้าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 1,873,798 คน ซึ่งมีผู้ที่ยังยื่นเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วนอีกจำนวนหนึ่ง กรมการจัดหางานจึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังนายจ้างและคนต่างด้าวให้เร่งดำเนินการยื่นเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 โดยดำเนินการ ดังนี้
1.คนต่างด้าวที่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแล้ว ให้ดำเนินการยื่นเอกสารหลักฐานดังนี้
– ยื่นหนังสือเดินทาง (Passport : PP) หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ได้แก่ เอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) กรณีแรงงานกัมพูซา และเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) กรณีแรงงานเมียนมา
– หลักฐานการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (Visa) หรือย้ายรอยตราประทับ
– หลักฐานการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและซื้อประกันสุขภาพ
– หลักฐานการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจโรคต้องห้าม (สำหรับคนต่างด้าวตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 กลุ่มที่มีสถานะไม่ถูกต้องที่ยังดำเนินการไม่ครบถ้วน)
2. ยื่นเอกสารหลักฐานดังกล่าวที่ระบบต่ออายุใบอนุญาตทำงานคนต่างด้าว (4 สัญชาติ) ทางอิเล็กทรอนิกส์ และกรอกข้อมูลดังกล่าวในระบบเดียวกัน โดยเลือกหัวข้อ “มีเอกสาร Passport และ Visa ที่ยังไม่หมดอายุ” และกด “ยื่นแบบ บต. 50”
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าวมีสิทธิทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หรือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามแต่ละกรณี
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด หากกรมการจัดหางานตรวจสอบพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั้งนายจ้างคนไทยและลูกจ้างคนต่างด้าว โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ
และนายจ้างซึ่งรับคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน กรณีกระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนายจ้างจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ
“ขอให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวตามมติครม. วันที่ 7 ก.พ. 66 เร่งดำเนินการยื่นเอกสารให้ทันภายในกำหนด มิฉะนั้นการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานจะเป็นอันสิ้นสุด แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางและหากประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องดำเนินการตามกระบวนการนำเข้า MOU” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694