30 เมษายน 2566 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6 กลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 2,324 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25–30 เมษายน 2566 เมื่อถามถึงความตั้งใจจะไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ครั้งนี้ พบแนวโน้มคนตั้งใจจะไปเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 70.8 ในช่วงสัปดาห์ก่อน ขึ้นเป็นร้อยละ 73.2
ในการสำรวจล่าสุดสัปดาห์นี้ ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกของผู้นำการเมืองที่เชื่อว่าจะมีผลงานแก้วิกฤต ดูแลสุขภาพ สวัสดิการกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า
- อันดับแรกหรือร้อยละ 30.2 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล
- อันดับสองหรือร้อยละ 27.3 ระบุนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
- และอันดับสามหรือร้อยละ 27.2 เท่า ๆ กันกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- อันดับสี่หรือร้อยละ 24.4 ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
- และอันดับห้า หรือร้อยละ 23.3 ระบุเป็น นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตามลำดับ
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ต้องการเห็นร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 40.6 ระบุพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และอื่น ๆ
รองลงมาคือร้อยละ 30.2 ระบุ พรรคก้าวไกล เพื่อไทย และอื่น ๆ ร้อยละ 12.3 ระบุ พรรคภูมิใจไทย เพื่อไทย และอื่น ๆ ร้อยละ 5.1 ระบุ พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอื่น ๆ และร้อยละ 11.8 ระบุอื่น ๆ เช่น พรรคอะไรก็ได้ ไม่ระบุ
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรก ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับหนึ่งได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 22.0 ทิ้งห่างไม่ถึง 1% จากอันดับสอง ได้แก่
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 21.5 อันดับสามได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 18.8 อันดับสี่ได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 16.1 และอันดับห้า ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 11.1 ตามลำดับ
รายงานของซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูลและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีกระแสความนิยมสนับสนุนสูสีแบบหายใจรดต้นคอไม่แตกต่างกัน
อาจเป็นเพราะทั้งสองท่านนี้อยู่ในกระแสของความต้องการเปลี่ยนแปลงทั้งคู่แต่ต่างกันตรงที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยอาจจะอยู่ในซีกของการเปลี่ยนแปลงเชิงอนุรักษ์นิยม แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะอยู่ในซีกเปลี่ยนแปลงเชิงเสรีนิยม
จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนว่าจะตัดสินใจอย่างไรในวันเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ว่าจะเทคะแนนของตนเองไปในทิศทางใด