สงครามโพล-ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ก่อนนี้การเมืองมี ๒ ขั้ว

แต่พอใกล้เลือกตั้ง ขั้วเดิมเริ่มจะไม่มีความหมาย เพราะแต่ละพรรคการเมืองต้องการเก้าอี้ ส.ส.ในสภาให้ได้มากที่สุด

สนามเลือกตั้งเริ่มจะเห็นว่า ไม่มีพรรคพี่ พรรคน้อง พรรคเพื่อน พรรคแนวร่วม

มีแต่พรรคใครพรรคมัน

ก็เป็นธรรมดาของการเลือกตั้ง

แต่ก็มีแนวรบ ที่ดุเดือดเลือดพล่าน กองเชียร์-กองแช่ง โห่กันเกรียว

แนวรบที่ว่าคือ “โพล”

เห็นด่ากันเละ โพลแท้ โพลเทียม

ขนาดโพล ยังถูกวิจารณ์ว่ามีการแบ่งค่าย อิงกับขั้วการเมือง ถูกใจโพลไหนก็พากันซูฮก ของแท้แน่นอน โพลไหนขวางหูขวางตา ด่ายับโพลรับเงิน

วานนี้ (๑๖ เมษายน) ๒ โพลคือ นิด้าโพล กับ ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจในหัวข้อเดียวกัน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๒” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๓-๗ เมษายน จากประชาชนที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวน ๒,๐๐๐ หน่วยตัวอย่าง

“นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ ๙๗.๐

พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า

อันดับ ๑ ร้อยละ ๔๗.๒๐ ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ ๒ ร้อยละ ๒๑.๒๐ พรรคก้าวไกล

อันดับ ๓ ร้อยละ ๑๐.๘๐ พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ ๔ ร้อยละ ๔.๗๕ พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ ๕ ร้อยละ ๓.๗๕ พรรคภูมิใจไทย

อันดับ ๖ ร้อยละ ๒.๗๕ ยังไม่ตัดสินใจ

อันดับ ๗ ร้อยละ ๒.๑๕ พรรคเสรีรวมไทย

อันดับ ๘ ร้อยละ ๒.๑๐ พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ ๙ ร้อยละ ๒.๐๕ พรรคไทยสร้างไทย

อันดับ ๑๐ ร้อยละ ๑.๕๐ พรรคชาติพัฒนากล้า

และร้อยละ ๑.๗๕ ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคกล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคเทิดไท

พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า

อันดับ ๑ ร้อยละ ๔๗.๐๐ ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ ๒ ร้อยละ ๒๑.๘๕ พรรคก้าวไกล

อันดับ ๓ ร้อยละ ๑๑.๔๐ พรรครวมไทยสร้างชาติ

อันดับ ๔ ร้อยละ ๔.๕๐ พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ ๕ ร้อยละ ๓.๐๐ พรรคภูมิใจไทย

อันดับ ๖ ร้อยละ ๒.๖๕ พรรคเสรีรวมไทย

อันดับ ๗ ร้อยละ ๒.๓๕ ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ

อันดับ ๘ ร้อยละ ๒.๑๐ พรรคไทยสร้างไทย

อันดับ ๙ ร้อยละ ๑.๘๐ พรรคพลังประชารัฐ

อันดับ ๑๐ ร้อยละ ๑.๕๕ พรรคชาติพัฒนากล้า

และร้อยละ ๑.๘๐ ระบุอื่นๆ ได้แก่ พรรคกล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคสร้างอนาคตไทย และพรรคเทิดไท

เป็นไงครับผลสำรวจของ นิด้าโพล คอการเมืองส่วนใหญ่อุทาน มันใช่หรือ

ยกตัวอย่างกรณี พลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ผลสำรวจหน้ามือเป็นหลังตีน

โดยองค์ประกอบของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย มีอดีต ส.ส.เกินครึ่งร้อย แต่ละพื้นที่เขามีแฟนคลับหนาแน่น เหมือนที่ ส.ส.เก่าพรรคอื่นมีนั่นแหละครับ

หากผลเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย กลายเป็นพรรคต่ำสิบ ก็จะกลายเป็นปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อ ล้านปีอาจจะเกิดสัก ๑ ครั้ง

ไปดู สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลการศึกษาต่อเนื่อง เรื่อง โพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ ๔ : ข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ (ภูมิภาค) กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศอายุ ๑๘ ปีขึ้นไปใน ๔๐๐ เขตเลือกตั้ง

ดำเนินโครงการศึกษาแหล่งข้อมูลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ด้วยเครื่องมือประเมินขั้นสุทธิ (Net Assessment) จำนวนตัวอย่างในการศึกษาเพื่อประมาณการรวมทั้งสิ้น ๖,๙๙๐ ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ ๕-๑๕ เมษายน โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ ๕ ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ ๙๕

ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งจำนวน ๔๐๐ ที่นั่ง จำแนกตามข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า

อันดับ ๑ พรรคเพื่อไทย มีความเป็นไปได้ที่จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งแบบแลนสไลด์ในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ ๑๓๓ ที่นั่ง หรือร้อยละ ๓๓.๓ ของจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ

ชอันดับ ๒ พรรคภูมิใจไทย ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้ง ๑๐๑ ที่นั่งทั่วประเทศ หรือร้อยละ ๒๕.๓

ชอันดับ ๓ พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เขต ๕๓ ที่นั่ง หรือร้อยละ ๑๓.๒

ชอันดับ ๔ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต ๔๔ ที่นั่ง หรือร้อยละ ๑๑

ชอันดับ ๕ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส.เขต ๓๕ ที่นั่ง หรือร้อยละ ๘.๘

ชอันดับ ๖ พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.เขต ๑๐ ที่นั่ง หรือร้อยละ ๒.๕

ทั้ง ๒ โพล ไม่รู้ไปถามคนประเทศเดียวกันหรือเปล่า ผลถึงได้ออกมาต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กรณี ซูเปอร์โพล ก็มีจุดที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือ พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เขต แค่ ๑๐ เขต

น่าจะได้มากกว่านี้ เพราะฐานคือรุ่นใหม่ เว้นเสียว่า คนรุ่นใหม่แกงพรรคก้าวไกล หันไปเลือกพรรคเพื่อไทย ให้ “ทักษิณ” กลับบ้านแทน

ที่เหลือ สมเหตุสมผล เมื่อเทียบกับข้อมูลที่แต่ละพรรคมีอดีต ส.ส.อยู่ในมือ

แต่ก็ไม่ตรงเป๊ะครับ แค่เอาไว้พิจารณาเป็นแนวทางเท่านั้น ความคลาดเคลื่อนยังสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ห่างไกลข้อมูลที่มีอยู่อย่าง นิด้าโพล

กรณีนิด้าโพล หากผลออกมาเช่นนั้นก็เท่ากับว่า ส.ส.เก่าสอบตกเกินครึ่ง

ในประวัติศาสตร์ไม่เคยปรากฏมาก่อน ว่าการเลือกตั้งครั้งไหนจะมี ส.ส.หน้าใหม่ เกินครึ่งสภา

๓๐ เปอร์เซ็นต์ก็ถือว่าเยอะแล้ว

ฉะนั้นหากเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เท่ากับเป็นความมหัศจรรย์ทางการเมืองนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

Written By
More from pp
มิชลิน ไกด์ รุกก้าวสู่ปีที่ 6 ด้วยการขยายขอบเขตการคัดสรรร้านอาหาร ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ “ภาคอีสาน” ของไทย
นายมานูเอล มอนตานา ประธานกลุ่มมิชลินประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย พร้อมด้วยนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการขยายขอบเขตคัดสรรร้านอาหารเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือ “ภาคอีสาน”
Read More
0 replies on “สงครามโพล-ผักกาดหอม”