ป.ป.ส. ชี้ปัจจัยสำคัญลดปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด คือ สถาบันครอบครัวและชุมชน แนะวิธีสังเกต 6 สัญญาณเตือนอาการผิดปกติทางจิต พบเข้าข่ายควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และส่งบำบัด ตามนโยบายรัฐบาล “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย”

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เผยปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากการเสพยาเสพติด เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อสังคม ชี้การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ สถาบันครอบครัวในการป้องกันและดูแลช่วยเหลือ แนะวิธีสังเกตสัญญาณเตือน หากพบขอให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำตัวเข้ารับการบำบัดก่อนปัญหาบานปลาย

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน สถาบันครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุตรหลาน แต่ถ้าหากคนในครอบครัวใช้ยาเสพติด การพูดคุยด้วยความรักและความเข้าใจ พร้อมชักชวนให้ลด ละ เลิก ยาเสพติดถือเป็นสิ่งสำคัญ หากพบสัญญาณเตือนที่เข้าข่ายจะมีอาการทางจิต ขอให้รีบพาเข้ารับการบำบัดก่อนที่จะมีอาการรุนแรง และเมื่อเข้ารับการบำบัดแล้วต้องดูแลประคับประคองไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ ที่สำคัญคือ คนใกล้ชิด ชุมชน ต้องเข้าใจ และให้เวลาผู้ป่วยเพราะการเลิกยาเสพติดไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในทันที

สำหรับผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวช จากรายงานผู้เข้ารับการบำบัดและมีการรักษาอาการทางจิตร่วมด้วย พบว่า ในปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – 22 กรกฎาคม 2563) มีจำนวน 5,532 ราย จากผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด 145,029 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.81 และสิ่งที่น่ากังวลคือ ยังมีผู้ใช้ยาเสพติดอีกจำนวนหนึ่ง ที่เริ่มมีอาการทางจิตแต่ไม่ได้เข้ารับการบำบัดรักษา

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่า ป.ป.ส. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้บูรณาการดำเนินงานเพื่อป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต ซึ่งขั้นตอนการป้องกันเฝ้าระวัง ถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญที่สุด โดยญาติ ครอบครัว และคนในชุมชนสามารถสังเกตได้จาก 6 สัญญาณเตือนต่อไปนี้คือ

1. แยกตัวออกจากสังคม 2. เกิดอาการประสาทหลอน 3. ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา 4. พูดจาคนเดียว 5. ฉุนเฉียวหงุดหงิด และ 6. คิดหวาดระแวง

และหากมีสัญญาณเตือนที่จะก่อความรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกายตนเอง ส่งเสียงดัง และ ทำลายข้าวของ ขอให้รีบนำส่งสถานพยาบาล หรือหากมีอาการที่รุนแรง มีอาวุธ ขอให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669 เพื่อให้การช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านต่อไป และเมื่อผู้ป่วยกลับมาบ้านหรือชุมชน ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความเข้าใจ ให้ทานยาอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสภาวะกดดัน

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวตอนท้ายว่า ชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญในการต่อสู้กับปัญหายาเสพติด ความเข้มแข็งของชุมชนจะเป็นปราการในการป้องกันไม่ให้สมาชิกในชุมชนข้องแวะกับยาเสพติด และช่วยดูแลสมาชิกในขุมชนที่ผ่านการบำบัดไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ หากครอบครัว ชุมชน หรือผู้ใกล้ชิด นำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ปล่อยไว้จนกระทั่งอาการทางจิต ก็ถือเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

ซึ่งสามารถนำเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติดได้ด้วยการร่วมกันดูแล และเฝ้าระวังผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตจากการใช้ยาเสพติด โดยสามารถปรึกษาปัญหาได้ที่สายด่วน กรมสุขภาพจิต โทร. 1323 และหากพบบุคคลที่มีพฤติการณ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด แจ้งเบาะแสยาเสพติดได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชม.

“ผู้เสพ คือผู้ป่วย” สมัครใจเข้าบำบัด ไม่เสียประวัติ ไม่มีความผิด


Written By
More from pp
กรมการจัดหางาน เตรียมงานกว่า 6 หมื่นอัตรา ทั้งในและต่างประเทศรองรับแรงงานกลับจากอิสราเอล
นางสาวบุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใยแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในอิสราเอล
Read More
0 replies on “ป.ป.ส. ชี้ปัจจัยสำคัญลดปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด คือ สถาบันครอบครัวและชุมชน แนะวิธีสังเกต 6 สัญญาณเตือนอาการผิดปกติทางจิต พบเข้าข่ายควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และส่งบำบัด ตามนโยบายรัฐบาล “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย””