8 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายแพทริก เบิร์น (H.E. Mr. Patrick Bourne) เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับหน้าที่ และพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเอกอัครราชทูตฯ อย่างเต็มที่ ยินดีกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน พร้อมกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์เยือนไทยในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมและยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ไอร์แลนด์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ลีโอ วรัทการ์ เชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสให้ไทยและไอร์แลนด์ร่วมกันผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในสาขาต่าง ๆ ให้เกิดผล เป็นรูปธรรมต่อไป
เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ฯ ยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่งที่ประเทศไทย ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง และเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก พร้อมปฏิบัติหน้าที่เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในทุกระดับ และทุกมิติ
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและไอร์แลนด์ยังมีศักยภาพอีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน จึงหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถขยายความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น พร้อมได้กล่าวเชิญไอร์แลนด์เข้ามาลงทุนเพิ่มในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอุตสาหกรรม ที่ไอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญสูง และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเดินหน้าไปอย่างดี โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนไอร์แลนด์เข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จึงหวังที่จะกระชับความสัมพันธ์ในด้านนี้ระหว่างให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ไทยและไอร์แลนด์พร้อมที่จะกระชับความร่วมมือด้านการศึกษา และการอุดมศึกษาระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีหวังที่จะได้รับการสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา พร้อมขอบคุณไอร์แลนด์ที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือในด้านการอุดมศึกษากับไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายทุนการศึกษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2558 ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจดับลิน (University College Dublin: UCD) จึงหวังว่าไอร์แลนด์พิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่ไทยเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านนี้ ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์พร้อมที่จะพัฒนาความร่วมมือในด้านนี้กับไทยมากยิ่งขึ้น
ด้านความร่วมมือด้านวัฒนธรรม นวัตกรรม และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ทั้งสองประเทศหวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทของสถานเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำประเทศไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม ผ่านโครงการต่าง ๆ พร้อมยังได้เชิญชวนชาวไอร์แลนด์เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับประชาชนระหว่างสองประเทศ โดยเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระดับประชาชน ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญของทั้งสองฝ่าย และหวังที่จะให้ประชาชนของทั้งสองประเทศไปมาหาสู่กันเหมือนก่อนสถานการณ์โควิด-19
ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ ที่กรุงบรัสเซลส์ และบรรลุการเจรจา PCA ซึ่งได้มีการลงนามโดยทั้งสองฝ่าย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไทยและไอร์แลนด์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไทยและสหภาพยุโรปจะสามารถฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างกันได้โดยเร็ว เพื่อเพิ่มพูนการค้าระหว่างกัน ซึ่งความร่วมมือด้านความยั่งยืนและการพัฒนาสีเขียวระหว่างกันเป็นส่วนสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ไทยขอขอบคุณที่อียูให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในเรื่องดังกล่าว ซึ่งไทยได้มีโอกาสเสนอแนวคิด BCG และได้รับการตอบรับอย่างดีในเวทีระหว่างประเทศ จึงมุ่งหวังที่จะส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ซึ่งในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับประเด็นระหว่างประเทศที่เป็นที่สนใจอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าการแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้จากการหารือกันอย่างสินติ เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในโลก