ก่อนอื่น………
ขอกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษจาก “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
ที่ข้าพระพุทธเจ้า ได้เขียนถึง “พระนาม” คลาดเคลื่อนไปเป็น “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
ในบทความเรื่อง “ว่าด้วยเสื้อกระดุมในตัว” ในไทยโพสต์ ฉบับประจำวันที่ ๓๑ กรกฏาคม ๒๕๖๒ นั้น
บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ได้แก้ไขเป็นที่ถูกต้องแล้ว
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า “เปลว สีเงิน” ขอเดชะ
ครับ…
ก็มาคุยกันต่อเรื่อง “หมู่บ้านหุบกะพง” ที่ชะอำ เพชรบุรี อันเป็นโครงการพัฒนาที่ดิน “ตามพระราชประสงค์” จะบอกว่านี่คือต้นแบบ “เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อประชาชนฐานราก” แห่งแรกในประเทศก็ย่อมได้
เมื่อวาน คุยไว้ครึ่งๆ กลางๆ วันนี้คุยต่อ
คือสมัยก่อน ช่วงกันยา.ไปแล้ว น้ำจะท่วมถนนเพชรเกษมจากราชบุรีไปถึงชุมพร ทุกปี
ผมตะลอนไปทำข่าวบ่อย ช่วงปี ๒๕๑๐-๒๕๑๑ เห็นป้ายเล็กๆ ปักริมทาง “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)” ก็แวะเข้าไปดู
ลุยเข้าไปค่อนข้างลึกจากเพชรเกษม พอถึงโครงการ บอกตรงๆ ว่า อยากขอเขาอยู่ที่นี่เหลือเกิน เพราะภาพที่เห็น…….
ผืนดินหมื่นกว่าไร่ ที่สภาพดิน ต้นไม้ไม่มีกะจิตกะใจจะงอก ถูกปรับสภาพบ้างแล้ว ว่างเปล่าสุดลูกตา มีท้องฟ้าเป็นหลังคลุม สว่างเวิ้งว้าง เหมือนหลุดเข้าไปอีกโลก
“สวรรค์ชาวดิน” ที่เขาว่ากัน เป็นเช่นนี้กระมัง?
ในผืนดินว่างเปล่านั้น แบ่งส่วนเป็นเป็นล็อกๆ ปลูกกระท่อมไม้ไผ่สีสุก รั้วขัดแตะเป็นบริเวณแต่ละกระท่อมเรียงรายกันไป สำหรับราษฏรผู้ยากไร้ ๘๐-๙๐ ครอบครัว หน้ากระท่อมแต่ละหลัง จำได้ว่ามีเสาแขวนกระป๋องน้ำสำหรับดับเพลิง แต่ละหลัง ปลูกไม้ประดับหลากสี มีจักรยานจอด สำหรับขี่้ไปตามคันดินที่ยกเป็นถนน
มองไกลๆ ด้วยกระท่อมไผ่สีสุกเรียงเป็นแถวในพื้นที่โล่งใต้ท้องฟ้าโปร่งใส สีสุกของไผ่สะท้อนฟ้า ทำให้ดูเหมือนสีแห่ง “ทองคำนิคม”!
คนในนิคมรุ่นบุกเบิก ไม่เพียงมีชีวิตใหม่ ยังได้รับการเจียรนัยเป็นชีวิตศิวิไลซ์ ด้วยเป็นสังคมอารยะ มีระเบียบ-ระบบ เป็นสังคมอยู่ร่วมปรองดอง สามัคคี เป็นพี่-เป็นน้อง ทำการใด ก็ประชุมเป็น “มติร่วม” ออกมา
ไม่เพียงชีวิตสะอาด …….
คนทั้ง ๘๐-๙๐ ครอบครัว ที่พระหัตถ์แห่งองค์ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงฉุดจากจุดมืดดำแห่งชีวิตหม่น ขึ้นมาพบลำแสงแห่งชีวิตใหม่
นอกจากชีวิตที่ทรงให้……กระทั่ง “ทางเดินสู่ชีวิตใหม่” พระผู้ ธ สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ เสด็จฯบุกป่าฝ่าโคลน มาพลิกฟื้นให้จากทรายเม็ดแรกด้วยพระองค์เอง
เอาหละ……..
ทีนี้มาดู “หุบกะพง” สภาพเดิมว่าเป็นอย่างไร และทรงทำอย่างไร จากผืนดินไร้ค่าชนิด “ให้เปล่า” ก็ไม่มีใครเอา
ปัจจุบัน กลายเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง” มูลค่าเกินราคา
จะบอกว่า “กระดุมทุกเม็ด” ที่แสวงหา อยู่ที่นี่ครบแล้ว ไม่เพียงเพื่อชาวบ้านยากไร้ หากแต่สำหรับ “ทุกคน” ที่ต้องการ “สร้างอนาคต-สร้างชาติ” ให้รวยด้วย “สุขแท้”
แม้เขาอดตายกันทั้งโลก แต่เราสามารถนอนกระดิกเท้าหัวร่อล้อสังคมโลก “เหลือกิน-เหลือขาย” ได้สบายๆ เพียงมุ่งมั่น อดทน มี “อิทธิบาท ๔” เป็นหลักยึด
คำว่า “ความจน” จะหมดไปจากคนไทย โดยไม่ต้องรอให้นักการเมืองคนไหน เอาปลาทูมาทาจมูกไปแต่ละรอบเลือกตั้ง
ถ้าศึกษาถึงแนวทางที่ “พ่อของเรา” ทรงทำแก้ปัญหาชาวบ้านไร้ที่ทำกิน ก็จะพบว่า ที่ใดทุรกันดาร ทั้งมนุษย์และสัตว์เมิน ด้วยต้นไม้ พืชพรรณใดก็ไม่งอกเงย ด้วยเหตุใหญ่ ๒ ประการ คือ
-ดินเลว
-แล้งน้ำ
ที่นั้น องค์พระผ่านฟ้าและ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” เสด็จฯเยี่ยมเยียนราษฎร ณ ที่ใด จะทรงสอบถามและเสด็จฯ ดั้นด้น ที่เรียก “ลงน้ำ-บุกป่า-ลุยโคลน” ไปสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ ศึกษา สภาพดิน สภาพน้ำ
จะว่าแทบไม่มีแผ่นดินตรงไหนของประเทศที่พระบาทขององค์พระผ่านฟ้าไม่เคยประทับไว้ พูดไปก็ไม่เกินจริงในความหมาย
เช่นที่ “หุบกะพง” เดิมเป็นดินเลว เพาะปลูกอะไรไม่ได้ ปล่อยทิ้งเป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ไร้ค่า-ไร้ราคา
เมื่อครั้ง ทั้ง ๒ พระองค์ แปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน ทราบมีราษฎร ๘๐ กว่าครอบครัวบริเวณนั้น ลำบากยากแค้นมาก เพาะปลูกอะไรก็ไม่งอก เรียกว่า ทั้งจนจ่อและจนจุ่น หนทางไปจบสิ้นแล้ว ทั้ง ๒ พระองค์ก็ทรงดั้นด้นไปดู
ครั้งแรก ทรงทดลอง ให้ราษฏรที่นั้นยืม ๓ แสน เป็นทุนทรัพย์ มีเงื่อนไข เพาะปลูกมีกำไรแล้วเอามาคืน ไม่มีใครมาคืนเลย เพราะ “ดินไม่งอก” นั่นแหละ
ก็ชัดเจนว่า ดินเสื่อมสภาพจริง ภูมิประเทศตรงนั้นอับฝน ทั้งดินในน้ำก็ไม่มี ทรงลงมือโครงการทันที
ทาง “รัฐบาลอิสราเอล” ทราบข่าว ในฐานะผู้ชำนาญปลูกพืชในที่แห้งแล้ง จึงขอร่วมโครงการในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เป็นโครงการระยะ ๕ ปี จากปี ๒๕๐๙ ตั้งชื่อว่า “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)”
เดิมเรามี “กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ” แต่ถูกยุบในยุคจอมพลถนอม เมื่อปี ๒๕๑๕ ตอนนั้น กระทรวงพัฒนาฯ กับกระทรวงเกษตรฯ เป็นแม่งาน กันที่ดินตรงนั้นออกจากการเป็น “ป่าคุ้มครอง” หมื่นกว่าไร่
“พระผ่านฝ้า” ทรงใช้สิทธิเยี่ยงราษฎรคนหนึ่งเดินตามขั้นตอนกฎหมายขอจับจอง
จากนั้น ทรงพัฒนา ทรงจัดทำระบบน้ำ แล้วแบ่งสรรให้ราษฏรทั้ง ๘๐ กว่าครอบครัวที่สิ้นไร้ไม้ตอกบริเวณนั้นคนละ ๒๕ ไร่ ใน ๒๕ ไร่ นั้น ๑๘ ไร่ ทรงให้ปลูกพืชพึ่งฝน อีก ๗ ไร่ ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน จัดโซนปลูกบ้านให้ พระราชทานทุนทรัพย์ตั้งต้นให้ด้วย
ตอนผมไปดู เขาปลูก “หน่อไม้ฝรั่ง” กัน ได้ผลดี ขายดี จนผมอิจฉา
ก็มาไล่เลียงตามลำดับ เมื่อพระองค์จัดการเรื่องที่ดินตามกฎหมายแล้ว ในขั้นดำเนินโครงการ ทำกันดังนี้
-จัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ
-สำรวจแหล่งเก็บกักน้ำและดิน
-สำรวจแหล่งน้ำใต้ดิน
ผลสำรวจปรากฏว่าสภาพดินมี ๒ ส่วน “ส่วนใหญ่” มีคุณภาพเลว ประมาณ ๖,๕๐๐ ไร่ ที่เหลือ เป็นดิน “เลวปนดี” พอที่ทำกสิกรรมได้บ้าง
จากนั้น ก็พัฒนาที่ดินและจัดระบบชลประทานในพื้นที่ ๕๐๐ ไร่ “น้ำบาดาล” พอมี ขุดเจาะแล้ว มีปริมาณน้อย
เมื่อศึกษา-สำรวจ-วิจัย ได้ข้อมูล ก็ตั้ง “ศูนย์สาธิตทดลองการเกษตร” ขึ้น จากนั้น เริ่มขั้น “ลองวิชา” ทรงให้นำ ๒ ครอบครัวมาทดลองปลูกพืช ตามสูตร ๒๕ ไร่ ที่บอกไปก่อน
เพื่อ “หาข้อมูล” ทางด้านต่างๆ เช่น
-ด้านรายได้ รายจ่าย
-ด้านความเหมาะสมการใช้แรงงานในครัวเรือนกับขนาดพื้นที่ที่จัดให้
-การจัดบริการด้านสินเชื่อและการตลาด
-ด้านข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การเกษตร
-ด้านปัญหาสังคมเกษตรกร
ตรงนี้สำคัญ เพราะต้องใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพื่ออพยพครอบครัวเกษตรกรที่เหลือเข้ามาอยู่ต่อไปในโครงการ
ครับ…..นี่แหละ วิธีการเป็น “ต้นแบบ” แก้ปัญหาชาวบ้านไร้ที่ทำกิน เมื่อมีที่ทำกินแล้ว ในขั้นตอนต่อไป ควรทำอย่างไร ซึ่งไม่เพียงแค่สำเร็จ แต่ต้องให้ “แตกยอด” ด้วย
ที่หุบกะพง เมื่อทดลองจาก ๒ ครอบครัวแล้ว ปีต่อมา ก็ให้ ๘๐-๙๐ ครอบครัวเข้าทำกิน เมื่อที่ดินพัฒนาดี มีระบบชลประทาน มีอ่างเก็บน้ำ
จากนั้น “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามสูตร “เกษตรทฤษฏีใหม่” อบรมให้มีความรู้ด้านการเกษตร
รู้การเพาะปลูกแล้ว ก็ต้องรู้การขาย-การตลาดด้วย ไม่ใช่ปลูกอย่างเดียว แต่ไม่รู้จะขายให้ใคร ที่ไหน?
“พ่อของเรา” ทรงสอนให้รู้จักกระทั่งการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าต้นทุน ๑ บาท ให้เป็น ๑๐๐ บาท จากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วก็ทรงให้ชาวนิคมหุบกะพงเข้าชื่อขอจดทะเบียนเป็น “สหกรณ์การเกษตร” เป็น “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” ก็นี่แหละ เดือนสิงหา.นี้
วันเฉลิมพระชนมพรรษา “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ๑๒ สิงหา.พอดี ที่ก่อตั้ง แต่เมื่อปี พศ.๒๕๑๔
ปัจจุบันนี้ หุบกะพง จะเรียกว่าเป็น “ศูนย์เรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของสังคมโลก” ก็ย่อมได้ ความมหัศจรรย์ของหญ้า, กังหันชัยพัฒนา, โครงการหลวง, ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง, เกษตรทฤษฎีใหม่ และฝนหลวง อยู่ที่นี่ครบ
ผ่าน “วิจัย-ค้นคว้า-ทดลอง-พัฒนา-ต่อยอด” นำไปแก้ปัญหายากจนคนไร้ที่อยู่-ที่กินได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องพูดว่า “ขอเวลาศึกษาก่อน..ยังติดปัญหานั่น-นี่” ซึ่งไม่ต้องศึกษา ไม่ต้องติดอะไรแล้ว
เพราะ “พระผ่านฟ้า” ทรงศึกษา ทรงแก้ไว้ให้หมดแล้ว จะติด ก็ติดอย่างเดียว คือ…
“ใจติด” คิดแต่จะอ้าง แต่ไม่คิดจะทำจริง!
อ่านด้วยสายตาที่พร่ามัว เพราะน้ำตานองหน้าครับ