9 มกราคม 2565-นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)ในวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า การจัดอีเวนต์ใหญ่โตเพียงแค่ต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์เข้าพรรค ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะได้คะแนนนิยมดีขึ้น
ตรงกันข้ามจะเกิดคำถามตามมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการตามครรลองครองธรรมของการเมืองที่ควรจะเป็นหรือไม่ หรือสร้างสิ่งแปลกประหลาดขึ้นมาใหม่ให้ผู้คนติฉินนินทาเหมือนการแต่งตั้งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. มาเป็นเลขาธิการนายกฯ
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ผ่านขั้นตอนตามปกติคงเข้ามาเป็นเพียงสมาชิกพรรค ที่มีเลขาฯตัวเองเป็นหัวหน้าพรรคตัวเอง จนไม่รู้ใครเป็นหัวหน้าใคร มีระบบพรรคการเมืองที่ไหนที่ให้สมาชิกพรรคคนหนึ่งมีบทบาทเหนือกว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารทุกคน
นางสาวตรีชฎา กล่าวว่า ตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา แม้พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แต่การถูกเสนอชื่อจากพรรคนี้ให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในทางพฤตินัย ย่อมหมายถึงสถานะของพล.อ.ประยุทธ์มีความสำคัญยิ่งใหญ่กว่าการเป็นสมาชิก หากพปชร.ไม่เสนอชื่อ เป็นไปได้หรือที่จะนั่งเก้าอี้นายกฯ
มาวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรค รทสช.ซึ่งจะมีผลตามกฎหมาย ขณะที่ในทางพฤตินัยยังตัดไม่ขาดจากพรรคพปชร. เท่ากับพล.อ.ประยุทธ์ “เหยียบเรือสองแคม”หรือไม่ ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีทางการเมืองหรือเป็นแบบอย่างของพรรคการเมืองที่พึงปฏิบัติ
“เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครทสช.ก็ควรสลัดตัดขาดกับพรรคพปชร.ด้วยการลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อมิให้มีพันธะผูกพันกับพรรคเดิม จากนั้นจะไปร่วมหัวจมท้ายกับ รทสช.อย่างไรก็ทำได้ตามใจชอบ เพื่อไม่เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้กับคนทำงานการเมืองรุ่นต่อไป” นางสาวตรีชฎากล่าว