“ศ.ดร.นฤมล” ชี้ศก.ไทยปี’66 เปราะบางตามศก.โลก แนะรัฐเร่งแก้ไขหนี้ครัวเรือนไม่เกิน 80% ของGDP

www.plewseengern.com

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ Facebook สะท้อนมุมมองถึงการรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจทุกสำนัก บอกตรงกันหมดว่าปี 2566 เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่ได้เห็นผลกระทบบ้างแล้ว เดือนพ.ย.2565 ส่งออกไทยหดตัวไป 6% โดยทั้งปี 2565 ส่งออกไทยน่าจะขยายตัวแค่ 3.2% น้อยกว่าปี 2564 ที่ 6% ส่วนปีหน้า 2566 คาดว่าส่งออกไทยจะขยายตัวเพียง 2.7% เท่านั้น

ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ภาวะการเงินในตลาดโลกยังเปราะบาง แต่ในปี 2566 อัตราเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงสุดและความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลดลง ปัจจัยเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อในปี 2566 จึงไม่มากเท่าที่เป็นมาในปี 2565 ประกอบกับสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ยังเข้มแข็ง อีกทั้งรัฐบาลไทยมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ และไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ตลาดการเงินไทยจึงยังถือได้ว่ามีเสถียรภาพสูงและสามารถรองรับความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ยังน่าเป็นห่วงในปี 2566 คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และธุรกิจขนาดกลางและย่อม( SMEs) ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว ทั้งที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินและที่เป็นหนี้ non-bank มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และมาตรการเสริมเฉพาะจุดในการช่วยลดค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ จึงยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องในปี 2566
ปัญหาหนี้ครัวเรือน จำเป็นต้องใช้นโยบายที่แก้ไขอย่างยั่งยืน เมื่อดูสถิติย้อนหลัง จะพบว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมากในปัจจุบันเกิดขึ้นในสองช่วงเวลาด้วยกัน คือ

1) วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ 2554 และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนั้นทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มจากร้อยละ 60 ของ GDP ในปี 2553 เป็นร้อยละ 80 ของ GDP ในปี 2557 และ

2) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัว นโยบายพักหนี้และส่งเสริมการให้สินเชื่อเพื่อประคองเศรษฐกิจทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 ของ GDP ในปี 2562 เป็น ร้อยละ 90 ของ GDP ในปี 2565

นโยบายแก้หนี้ครัวเรือน ถ้ายังทำแต่เรื่องพักหนี้ และเติมสินเชื่อ โดยไม่กำหนดเป้าหมายหนี้ครัวเรือนที่ชัดเจน นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้แล้ว ยังจะทำให้ครัวเรือนติดกับดักภาระหนี้ ทำให้ปัญหาฝังรากลึกลงไปอีก เป้าหมายหนี้ครัวเรือนควรกำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 80 ของ GDP เพราะระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินร้อยละ 80 ของ GDP แทนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จะกลับส่งผลลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2566 ต้องคำนึงถึงผลลบนี้ด้วย

Written By
More from pp
TOA ยกทัพนวัตกรรมสี และวัสดุก่อสร้างแบบครบวงจร ร่วมงานสถาปนิก’65
บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานสถาปนิก’65 (Architect’22) ยกทัพนวัตกรรมและเทคโนโลยีสุดล้ำ โชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์สีทาอาคาร และวัสดุก่อสร้างแบบครบวงจร (Total Solution) เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีกว่าให้กับผู้บริโภคและโลกใบนี้
Read More
0 replies on ““ศ.ดร.นฤมล” ชี้ศก.ไทยปี’66 เปราะบางตามศก.โลก แนะรัฐเร่งแก้ไขหนี้ครัวเรือนไม่เกิน 80% ของGDP”