5 มิ.ย.63 ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจการค้าเติบโตสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ อย่างยั่งยืนภายในปี 2565″ โดยระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้นโยบาย กระทรวงพาณิชย์ โดยกำหนดทิศทางการค้าและดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างและส่งเสริมการค้าให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน
โดยกระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตร ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความสมดุลย์ระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการบรรเทาปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าส่งสุด พร้อมทั้งการส่งเสริมอีคอมเมิร์ซเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยมุ่งเน้นทำการตลาดส่งออกเชิงรุกประชาสัมพันธ์แบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ พร้อมเสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศด้วย
ดร.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า กระทรวงพาณิชย์มีแนวทางที่จะยกระดับการให้บริการด้านการค้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า เช่นการใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียว (Nation single window) เพื่อโอนถ่ายข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถลดต้นทุน ลดระยะเวลา ในการดำเนินการให้ผู้ประกอบการ
“แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจไทยบางสาขายังเติบโตท่ามกลางปัญหา เช่น สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โต +4.4% สาขาการเงินและการประกันภัยโต 4.5% และสาขาการขายปลีกและขายส่งโต 4.5% การส่งออกไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือนเมษายน 2563 และขยายตัว 1.19% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563
สินค้าส่งออกไทยหลากหลายรายการยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าอาหารในโลกที่เพิ่มขึ้น
และจากความเข้มแข็งของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย ตัวอย่างสินค้าที่เติบโตอาทิ ซาดีนกระป๋อง +17.1% ทูน่ากระป๋อง +2.7% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป +11.2% นมและผลิตภัณฑ์นม +9.7% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป +7.8%
นอกจากนั้นยังมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ +4.5% โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ +6.2% เนื่องจากผู้ประกอบการไทยเริ่มปรับตัวรองรับสงครามการค้าสหรัฐและจีนได้ในระดับหนึ่ง”
ดร.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า การส่งออกของไทยเติบโตกระจายตัวในหลายตลาดมากขึ้น ขยายตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2563 เช่น สหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ล่าสุดการส่งออกไปตลาดหลักอย่างจีน และญี่ปุ่น ฟื้นตัวกลับมาเติบโตเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ +9% และ 9.3% ตามลำดับ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่เริ่มคลี่คลายใน 2 ประเทศ
อีกประการหนึ่งคือการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ของประเทศต่างๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เยอรมันอิตาลี และนิวซีแลนด์ น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยในระยะกลาง ส่วนมาตรการภาครัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 และการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ รวมทั้งโอกาสการส่งออกในอนาคต จะช่วยฟื้นฟูการค้าทั้งในประเทศและระหว่างประเทศและเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้