“ทิพานัน” ชี้ดัชนีเชื่อมั่น SME เดือนพ.ย. สูงสุดในรอบ 11 เดือน พุ่ง 53.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติด ส่งสัญญาณธุรกิจฟื้นตัวเกือบเป็นปกติ สะท้อนผลสำเร็จมาตรการช่วยเหลือของ’พล.อ.ประยุทธ์’ ประคองธุรกิจ พยุงการจ้างงาน กระจายความเจริญไปทุกภูมิภาค
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ได้ผลักดันมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จากผลกระทบวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น มาตรการด้านสินเชื่อ การลดภาระค่าธรรมค้ำประกันของผู้ประกอบการ SMEs
และโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อประคับประคองธุรกิจและพยุงการจ้างงานของประเทศ
ส่งผลให้ล่าสุดสสว. รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME หรือ SMESI อยู่ที่ระดับ 53.8 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4 เดือน และสูงสุดในรอบ 11 เดือนซึ่งมีปัจจัยมาจากการขยายตัวต่อเนื่อง ของภาคการท่องเที่ยวและ ภาคการค้าที่ชัดเจนจนเกือบเป็นปกติ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ส่วนในรายภาคธุรกิจ พบว่าภาคการบริการมีค่าดัชนี SMESI สูงสุดอยู่ที่ 55.3 จากการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว และที่น่าสนใจคือ ภาคการเกษตร มีค่าดัชนี SMESI เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 3.2 มาอยู่ที่ 53.4 จากการขายได้ราคาที่ดีขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มพืชไร่
เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว และกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนภาคการค้าขยายตัวทั้งการค้าปลีกและค้าส่งโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ที่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว และยังทำให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นจากกำลังซื้อและต้นทุนที่มีแนวโน้มดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ดัชนีเชื่อมั่น SMEsที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจ SMEs อันเป็นผลสำเร็จจาก มาตรการต่างๆ ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังส่งผลให้แนวโน้มดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาคจากการคาดการณ์การขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้น
รวมถึงสัญญาณบวกจากแนวโน้มต้นทุนธุรกิจทำให้คลายกังวลต่อค่าครองชีพและกำลังซื้อของผู้บริโภคในอนาคต
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจ SMEsในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (เดือนมกราคม-กันยายน) นั้น มีข้อมูลจากนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า
การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (GDP SMEs) มีมูลค่ารวม 4.54 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.1% คิดเป็นสัดส่วน 35.2% ของGDPประเทศ คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวเป็น 6.02 ล้านล้านบาท จากSMEsในระบบฐานข้อมูลของ สสว. 3.178 ล้านราย คิดเป็น 99.57% ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งหมด มีการจ้างงานกว่า 12.6 ล้านคน คิดเป็น 71.86% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และคาดว่าจะขยายตัว 4.1-5.8% ค่ากลาง 4.9% ในปี 2566
“พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือและพัฒนาเพิ่มศักยภาพของ SMEs เนื่องจากเป็นกลไกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานและกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ