ความขัดแย้ง..ยุ่งตายห่า?

ผสมโรง

สันต์ สะตอแมน

สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ก่อตั้งปี 2534..

ก็..ไม่ได้จะเท้าความอะไรหรอก เพียงแค่จะบอก ตั้งแต่เกิด “องค์กร” นี้ ก็ได้มีการมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ หรือ “รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ” ขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยร่วมกับ คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย กรมประชาสัมพันธ์ (ยุคนั้น) ตามนโยบายรัฐบาล..

 เพื่อการสนับสนุน ส่งเสริม ยกย่อง เชิดชูผู้มีผลงานดีเด่นแต่ละสาขาในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย!

และแม้ต่อมา..ปี 2553 ได้มีการรวบรวมสมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ทั้งสิ้น 20 สมาคมมาอยู่ในองค์กรเดียว และได้เปลี่ยนชื่อจากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ..

เป็น “สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ” การแจก-มอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติก็ยังคงจัดติดต่อกันมาทุกปีไม่เคยว่างเว้น!

ซึ่งแต่ละปีก็ไม่เคยมีการแก้ไข-เปลี่ยนแปลงกฏ-กติกาให้เกิดความขัดแย้ง หรือถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ภายในองค์กรมาก่อน

เพิ่งจะครั้งนี้ ในยุคที่คุณสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ เป็นประธาน ได้มีความคิดที่จะตั้งกฎกติกาขึ้นมาใหม่..ความขัดแย้งในองค์กรจึงเกิดขึ้น!

ผม..ในฐานะ (เคย) มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ฯอยู่บ้าง ก็พอจะเข้าใจ และเดาได้ใน “เจตนา” ว่าที่เปลี่ยนกฎ-กติกานั้น

แท้จริงน่าจะเกิดจากความวิตกกังวล..ขืนแจกรางวัลให้กับหนังที่คนไม่ได้ดูอยู่ทุกๆปีก็ยิ่งจะทำให้หนังไทยถูกมอง..

นี่หรือหนังไทยที่ได้รางวัล ไม่เห็นจะมีคนดู ไม่เห็นจะดีตรงไหน (ในสายตาคนทั่วไป) และเมื่อคนไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา ก็พาลที่จะไม่ดูหนังไทยเอา

ขณะเดียวกันผมก็ให้เข้าใจ-เห็นใจฝ่ายผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะในเมื่อผู้กำกับก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร พวกเขาก็ต้องมีสิทธิ์ที่เท่าเทียม..ไม่ว่าผลงานจะได้ฉายกี่รอบกี่โรง รายได้กี่ร้อยกี่พัน..

หนังของเขาก็สามารถที่จะส่งเข้าชิงรางวัลได้เช่นกัน!

ฉะนั้น..ในความเห็นผม สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์ฯน่าจะใช้วิธี “จัดประเภทหนัง” เพื่อประกาศมอบรางวัลให้ชัดเจนจะดีกว่ามั้ย? 

หมายถึงแบ่ง-แยกรางวัล..หนังอินดี้ก็ประเภทหนึ่ง  หนังในกระแสก็ประเภทหนึ่ง อย่างนี้จะได้ไม่ต้องกังวลกับความรู้สึกประชาชนคนดูหนัง ที่จะตั้งข้อสงสัย..หนังอะไร ทำไมได้รางวัล?

และนอกจากจะเป็นการยกย่อง เชิดชู ให้เกียรติต่อคนทำหนังอย่างเท่าเทียม ยังจะเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพของวงการหนังไทยอย่างแท้จริง!

ขนาดรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน เป็นองค์กรระดับ “สมาพันธ์ฯ” แต่หนังไทยก็แทบจะเอาตัวไม่รอด แล้วยิ่งมา “แตกแยก” กับแค่เรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็เกรงว่า จะพากันตายเปล่าๆ.. 

เพลาๆ ความขัดแย้งกันลงเสียบ้างเถอะ ลำพังปัญหาชาติบ้านเมือง ก็..

ยุ่งตายห่าแล้ว!

 

Written By
More from pp
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ จัดงานประชุมนานาชาติ RCD 2020   และการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 45 ประจำปี 2563
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ขอเชิญแพทย์ผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติ  RCD 2020  ครั้งที่ 24   หรือที่เรียกว่า  Regional Conference of  Dermatology (Asian – Australasion) และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ครั้งที่ 45  ของสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย (A 20/20  Vision  of  Future Dermatology) ระหว่างวันที่  25-28 กุมภาพันธ์ 2563  ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์...
Read More
0 replies on “ความขัดแย้ง..ยุ่งตายห่า?”