โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke มักส่งผลกระทบต่อการทำงานด้านต่าง ๆ ของสมอง หนึ่งในนั้นคือก่อให้เกิดปัญหาด้านความจำ ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองปัญหาด้านความจำหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้ด้วยแบบทดสอบ ได้แก่ TMSE และ MoCA เพื่อวางแผนการรักษาและป้องกันความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่เบื้องต้น
แพทย์หญิงวรัชยา วลัยลักษณาภรณ์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน ทำให้เซลล์สมองตายและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ต่อร่างกาย
“ปัญหาด้านความจำ” เป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยพบว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีปัญหาด้านคยววามจำตามมาภายในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จะมีความจำแย่ลงถึงขั้นถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมได้
อาการเริ่มต้นของปัญหาด้านความจำ ได้แก่ อาการหลงลืมง่าย, คิดออกยาก, ใช้เวลานานในการนึกถึงสิ่งที่ต้องการ, มีปัญหาในการวางแผน, ความเร็วในการคิดตัดสินใจช้าลง, มีสมาธิในการจดจ่องานลดลง, ผู้ป่วยบางรายอาจประสบปัญหาด้านการใช้ภาษาร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ยังอยู่ในวัยทำงาน
ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองปัญหาด้านความจำเบื้องต้นด้วยการทำแบบทดสอบ Thai-Mental State Examination(TMSE) และ Montreal Cognitive Assessment (MoCA) ใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองในช่วงแรกของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ยังไม่สามารถนำมาสรุปได้ว่าเกิดจากความผิดปกติของโรคหลอดเลือดสมอง เพราะอาจมีสาเหตุแฝงอื่นร่วม เช่น ความผิดปกติของเกลือแร่ การใช้ยาหลายชนิด ความกระวนกระวายจากการรับมือกับโรคร้ายแรงที่กำลังประสบ หรือ ภาวะด้านจิตใจอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความจำ ดังนั้น จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองในระยะยาว หลังพ้นความเจ็บป่วยช่วงแรกไปแล้ว หากพบความผิดปกติที่บ่งชี้ถึงการทำงานผิดปกติของสมอง แพทย์จะพิจารณาตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด
ปัญหาด้านความจำหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สามารถบรรเทาได้ด้วยยา เป้าหมายของการรักษาคือช่วยเพิ่มความจำในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา เช่น อาการวิงเวียนเละท้องเสีย นอกจากนี้ยังสามารถรักษาด้วยวิธีการฝึกสมองกระตุ้นความจำโดยใช้เทคโนโลยี Virtual Reality หรือภาพจำลองเสมือนจริง ซึ่งพบว่าสามารถช่วยฟื้นฟูความจำได้ดีกว่าการฝึกสมองแบบดั้งเดิม และช่วยลดอาการหลงลืม คิดออกยาก รวมถึงเพิ่มสมาธิในการจดจ่องาน
“จากข้อมูลพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดปัญหาด้านความจำตามมาภายหลัง เกิดจากการกลับมาเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง อีกส่วนเกิดจากหลอดเลือดขนาดเล็กในเนื้อสมองมีการตีบตัน เพราะฉะนั้น การควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด การงดสูบบุหรี่ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันการเกิดหลอดเลือดสมองซ้ำซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านจำได้” แพทย์หญิงวรัชยากล่าว
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาด้านความจำแล้ว โรคหลอดเลือดสมองยังก่อให้เกิดปัญหาในด้านอื่น ๆ เช่นกัน ได้แก่ อัมพาตครึ่งซีก, พูดไม่ชัด, ปัญหาในการมองเห็น, มีปัญหาในการกลืน, และปัญหาด้านอารมณ์ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรมาตรวจติดตามอาการกับแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แพทย์ได้ประเมินความเสียของสมองและอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากพบได้เร็วก็จะสามารถรักษาให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้