จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในปี 2564 มีมากถึง 139,206 คนต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,073 คนต่อปี
โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
ซึ่งการรักษามะเร็งในปัจจุบันก็มีวิวัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งในเรื่องของเทคโลยีการคัดกรอง การให้ยาเคมีบำบัด ที่สามารถลดผลข้างเคียงและได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับคนไข้แต่ละบุคคลมากขึ้น
นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยาและเคมีบำบัด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า การรักษามะเร็งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการค้นหาสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งของแต่ละบุคคลว่าเกิดจากสาเหตุใด
ซึ่งการค้นหาสามารถทำได้โดยการตรวจเซลล์มะเร็งของคนไข้ ว่าเซลล์ที่ผิดปกติจนทำให้เกิดเป็นมะเร็งเกิดขึ้นจากกลไกใด และยาชนิดใดที่จะสามารถยับยั้งกลไกที่ทำให้เกิดมะเร็งได้
เราจะได้เลือกใช้ยาให้ถูกต้อง เป็นแบบเฉพาะบุคคลมากและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเราจะเรียกการรักษาแบบนี้ว่า Precision Cancer Medicine เพราะมะเร็งที่อวัยวะเดียวกัน อาจจะเกิดจากเซลล์มะเร็งที่มีกลไกการเกิดโรคคนละแบบได้
นพ.วิกรม กล่าวต่อว่า Precision Cancer Medicine คือการตรวจวิเคราะห์เซลล์มะเร็งที่จะได้ข้อมูลมากกว่า ชนิด ระยะ หรือหน้าตาของมะเร็ง แต่จะเป็นการตรวจแบบเจาะจงลงไปในระดับรหัสพันธุกรรมมะเร็ง
ซึ่งแพทย์จะใช้การเจาะเลือด หรือชิ้นเนื้อผู้ป่วย นำไปตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ และนำไปวิเคราะห์บนฐานข้อมูลกลาง ที่เราเรียกว่า Big DATA
ซึ่งจะสามารถบ่งชี้ถึงกลไกการเกิดโรค ที่มีความแตกต่างกันของแต่ละบุคคล ทำให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยารักษามะเร็งที่เหมาะสม ลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ทำให้สามารถลดและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดขึ้นตั้งแต่แรกได้
“การรักษาแบบ Precision Cancer Medicine เราจะต้องนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งของคนไข้แต่ละรายที่ได้จากชิ้นเนื้อ ไปวิเคราะห์ผ่านเครื่องวิเคราะห์ยีน เพื่อดูข้อมูลความผิดปกติ และ การกลายพันธุ์ของยีน อย่างละเอียด
แล้วนำข้อมูลไปวิเคราะห์เปรียบเทียบบนฐานข้อมูลกลางที่เราเรียกว่า Big DATA ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าคนไข้มีความผิดปกติที่เซลล์มะเร็งแบบไหนและเราจะสามารถให้การรักษาด้วยวิธีไหนจึงจะดีและเห็นผลมากที่สุด
ทั้งนี้ การรักษาจะต้องวิเคราะห์รวมไปถึงโรคประจำตัว ความกังวล และข้อกำหนดของคนไข้ด้วยว่ามีอะไรบ้าง เช่นบางคนอาจจะกลัวผมร่วง เราจะมีวิธีการรักษาแบบไหนที่ตอบโจทย์และได้ผลกับคนไข้รายนี้ ดังนั้นการรักษาแบบ Precision Cancer Medicine จึงเป็นการออกแบบมาเพื่อการรักษาแบบเฉพาะบุคคลอย่างแท้จริง”
นพ.วิกรม กล่าวอีกว่า เมื่อแพทย์ได้ทราบถึงสาเหตุที่สำคัญของการเกิดมะเร็งจากการตรวจ Precision Cancer Medicine แล้ว การวางแผนให้ยาในการรักษามะเร็งก็จะเป็นแบบเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยวิธีการรักษา จะมีตั้งแต่
การให้ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy) เป็นยาที่เข้าไปยับยั้งการทำงานและหรือการสร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งจะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศได้ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย และ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง เป็นต้น
การใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) จากผลการวิเคราะห์กลไกการเกิดโรคมะเร็งของคนไข้แต่ละคน ทำให้เราทราบว่ากลไกหรือการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมมะเร็งใด ที่ทำให้เซลล์ปกติเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง เราก็จะเลือกใช้ยาที่ไปยับยั้งโดยตรงแบบจำเพาะที่กลไกนั้นๆ ทำให้รักษามะเร็งได้อย่างตรงจุด
การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการเปิดสวิตซ์ให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมาะสำหรับเซลล์มะเร็งที่มีตัวบ่งชี้ว่าสามารถตอบสนองต่อการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้ดี
การรักษาด้วยเซลล์บำบัด (Cell therapy) เราสามารถเสริมเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการกำจัดเซลล์มะเร็งเสริมให้ผู้ป่วย โดยเลือกเสริมให้เหมาะกับสภาพร่างกายของคนไข้แต่ละคน และจำเพาะกับโรคหรือเซลล์มะเร็งของคนไข้แต่ละคนได้
การรักษาโดยวัคซีนมะเร็ง (Cancer Vaccine) เป็นการรักษามะเร็งที่เกิดขึ้นแล้ว โดยวัคซีนจะมีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็งของคนไข้แต่ละคน ทำให้ช่วยชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ทำให้ลดขนาดของก้อนมะเร็ง ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง หรือ กำจัดเซลล์มะเร็งที่ไม่ถูกฆ่าโดยการรักษาวิธีอื่น เช่น การผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัด
ดังนั้น การรักษาด้วยวิธี Precision Cancer Medicine จึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็ง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ตรงจุดและเฉพาะบุคคลมากขึ้น ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและช่วยลดการเกิดผลข้างเคียง