ผักกาดหอม
ให้ร้อยเต็มสิบเลยครับ
ดรามาก้มอ่านไอแพดยังไม่จบ!
วานนี้ (๗ ตุลาคม) นายกฯ โพยทองธาร บอกว่า “ไอแพดเป็นเรื่องที่ทุกคนใช้กันทั่วโลก”
แบบนี้ “ทิม คุก” ยิ้มแก้มปริสิ
ถ้าทุกคนใช้กันทั่วโลก ยอดขายไอแพดทะลุ ๘ พันล้านเครื่องเลยนะนั่น
แต่…ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่าพูดผิด จำต้องพูดขยายความต่อว่า “จะใช้ไม่ใช้ก็แล้วแต่บุคคล”
ครับ…ดูเหมือนแค่การพูดผิดเล็กๆ น้อยๆ จะมาจับผิดทำไมกัน
ใช่ครับพูดผิดเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นการพูดผิดท่ามกลางคำถามเรื่อง “ภาวะผู้นำ” แล้วจะละเลยไม่หยิบยกมากล่าวถึงได้อย่างไรกัน
นายกฯ โพยทองธาร ยังรั้นหัวชนฝาครับ ยืนยันไอแพดยังคงมีความจำเป็นในการเจรจาความเมือง
“…เวลาไปพูดที่ต่างประเทศ เป็นภาษาอังกฤษ มีคำศัพท์เฉพาะในเรื่องกฎหมาย รวมถึงความอ่อนไหวระหว่างประเทศ ซึ่งจริงๆ บางคำดิชั้นรู้ตอนมาเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ว่าคำศัพท์นี้ต้องใช้ในเรื่องนี้ ถ้าเป็นภาษาไทยเรารู้อยู่แล้วจะสบายกว่าเยอะ
อย่างตอนกล่าวในงานสัมมนานี้ ดิชั้นใช้ไอแพดในการดูหัวข้อ เช่นเดียวกับเวลาไปคุยระหว่างประเทศก็จะใช้แบบนี้เช่นกันเพื่อดูหัวข้อ
แต่ถ้าเป็นเรื่องกฎหมายที่อ่อนไหว ดิชั้นอ่านทั้งประโยคเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อันนี้สำคัญมาก เพราะหากผิดทีเป็นลมเลย แต่เมื่อมีการพูดคุยสอบถามเรื่องการลงทุนจะอย่างไร เราก็ปิดไอแพดแล้วขายของเราไปต่อ
แต่สปีชที่นั่งโต๊ะประชุมใหญ่ต้องอ่านทุกคน อันนี้ทั่วโลกทำ มันต้องทำแบบนั้น เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาหลายหน้า แล้วดิชั้นต้องอ่านตามนั้นให้ที่ประชุมรับรู้ตรงกัน…”
ยิ่งพูดยิ่งออกทะเล!
ยิ่งพูดยิ่งประจานความเป็นนายกฯ หุ่นเชิด
ที่พูดมาทั้งหมดเพราะ นายกฯ โพยทองธาร ไม่มีพื้นความรู้ด้านการเมืองการปกครองมาก่อนเลย
เมื่อเข้ามาเจอในสิ่งที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีเป็นพื้นฐานความรู้ กลับรู้สึกว่าแทบทุกสิ่งคือ “สิ่งใหม่” ที่ตัวเองไม่เคยรู้มาก่อน
อันตรายมากครับ!
การเจรจาความเมือง จะอาศัยการท่องจำไม่ได้
คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีความรู้ความเข้าใจในทุกเรื่องที่ต้องพูด
หากติดขัดเรื่องภาษา ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสามารถพูดผ่านล่ามได้ ดีกว่าดันทุรังพูดภาษาที่ไม่ถนัด แถมเพิ่งจะรู้ความหมายของคำบางคำ
ในโซเชียลมีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้เยอะพอควร
เช่น “อัษฎางค์ ยมนาค” โพสต์ข้อความไว้น่าสนใจทีเดียว
“ทำไมพรรคเพื่อไทยใช้เด็กฝึกงานมาเป็นผู้นำประเทศ”
การใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่น iPad ในการเจรจาทางการทูต ไม่ได้แสดงถึงความทันสมัยและการเปิดรับเทคโนโลยี แต่เป็นภาพลักษณ์ที่อาจถูกตีความในเชิงลบ
๑.ในการเจรจาทางการทูต ภาษากาย (body language) และการแสดงออกทางสายตาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและแสดงถึงความเคารพต่อคู่เจรจา การที่ผู้นำใช้ iPad อ่านบทสนทนาอาจทำให้ดูเหมือนขาดการมีส่วนร่วมทางสายตากับคู่เจรจา และอาจทำให้คู่เจรจารู้สึกไม่ได้รับความใส่ใจอย่างเต็มที่
๒.การขาดการมีส่วนร่วมทางสายตาและการสื่อสารที่เป็นมิตร ในการเจรจาทางการทูต การสบตาเป็นส่วนหนึ่งของภาษากายที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความไว้วางใจและความเป็นกันเอง ทำให้คู่เจรจารู้สึกว่าผู้นำไม่ให้ความสำคัญต่อการสนทนาในขณะนั้น หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเคารพอย่างที่ควร
๓.ในบางวัฒนธรรม การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเจรจาอาจถูกตีความว่าไม่เป็นทางการหรือขาดการเคารพ
๔.การใช้ iPad ยังอาจทำให้เกิดคำถามว่าผู้นำไม่ได้เตรียมตัวมากพอในการสนทนา ทำให้ไม่มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะพูด โดยเฉพาะในเวทีทางการทูตที่การแสดงออกถึงความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญ การไม่สบตากับคู่เจรจาและการพึ่งพา iPad ในการอ่านอาจถูกมองว่าไม่พร้อมในการสนทนาอย่างเต็มที่
ข้อแนะนำ:
๑.เตรียมข้อมูลและฝึกฝนการเจรจาล่วงหน้า
๒.เน้นการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูด (Non-verbal Communication): ควรฝึกฝนภาษากาย การแสดงออกทางใบหน้า และการสบตา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่เจรจา การสบตาและภาษากายที่เปิดกว้างจะช่วยให้คู่เจรจารู้สึกว่าผู้นำไทยใส่ใจและให้เกียรติในการสนทนา
๓.ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีด้วยความระมัดระวัง หากมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี ควรใช้ให้เหมาะสมและระมัดระวังความปลอดภัยด้านข้อมูล
๔.สร้างความสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีและความเป็นทางการ: การใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ดี แต่ในเวทีทางการทูต การสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นทางการและน่าเชื่อถือมีความสำคัญไม่แพ้กัน ควรเลือกใช้เทคโนโลยีในบางจังหวะที่เหมาะสม เช่น การตรวจสอบข้อมูลสำคัญระหว่างช่วงพักการประชุม แทนที่จะใช้ระหว่างการสนทนาหลัก
ในเวทีการเจรจาทางการทูต การกระทำในลักษณะนี้บ่งบอกถึงการขาดการมีส่วนร่วมที่เป็นมิตร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง นี่เราชาวบ้านเดินดินธรรมดา ต้องมานั่งอบรมนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำของเราไปจนครบเทอมกันเลยหรือเปล่า
ทำไมพรรคเพื่อไทย ใช้เด็กฝึกงานมาเป็นผู้นำประเทศ…”
ไม่ได้กล่าวเกินจริงเลยครับที่ว่า “นายกฯ โพยทองธาร” ถูกมองเป็น “เด็กฝึกงาน”
อย่างที่ทราบกัน ก้มอ่านไอแพดตั้งแต่ช่วยน้ำท่วมยันเจรจากับต่างประเทศ
มันเยอะไป
แทนที่จะเห็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น กลับใช้วิธีตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์
ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะใช้นิสัยคุณหนู มาบริหารไม่ได้
ไม่ใช่ครั้งเดียวนะครับที่ “นายกฯ โพยทองธาร” อ่านข้อความจากไอแพดผิด จนต้องแก้แบบเคอะเขิน
หลายหนแล้ว
ไปดูโพสต์ของ “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” กันบ้างครับ “…สิ่งที่อุ๊งอิ๊งต้องยอมรับ ภาพการอ่านไอแพด บางครั้งก็อ่านผิดๆ ถูกๆ คือภาพความจำของประชาชน ต่อนายกรัฐมนตรีคนนี้ อุ๊งอิ๊งต้องพัฒนาตนเอง ให้คนลืมภาพการอ่านโพยให้ได้ เพราะนี่หมายถึง สติปัญญาของอุ๊งอิ๊งเอง
ที่สำคัญที่สุด อุ๊งอิ๊งต้องเข้าใจด้วยว่า การมาเป็นนายกรัฐมนตรี คือตำแหน่งสูงสุดที่ต้องดูแล รับฟังประชาชน เป็นตำแหน่งที่อุ๊งอิ๊งต่อสู้มาเพื่อให้ได้เป็น ไม่ใช่ประชาชนขอให้เป็น อุ๊งอิ๊งจึงต้องมีวุฒิภาวะมากกว่านี้
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประชาชน ต้องคาดหวังในความรู้ความสามารถ สติปัญญา ไหวพริบและวุฒิภาวะ ว่าเหนือกว่าคนทั่วไป ไม่ใช่แค่แต่งตัวสวยๆ แล้วเดินไปเดินมาที่ทำเนียบรัฐบาล
ผ่านมาประมาณหนึ่งเดือน อุ๊งอิ๊งน่าจะได้รสชาติของตำแหน่งนี้แล้วนะ คิดว่าถ้าใช่ตัวเองเลย ก็ลุยเต็มที่ เพราะถ้าสนุกกับงานจะพัฒนาได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่สนุก หรือสามเดือนแล้วยังยืนอ่านตลอด แสดงว่าสติปัญญาไม่เพียงพอ ต่อตำแหน่งนี้ ก็ควรหาทางลงเอง ดีกว่ารอให้คนมาไล่…”
ครับ…คาดว่าหลังจากนี้ “นายกฯ โพยทองธาร” คงจะออกมาตอบโต้ เสียงวิจารณ์จากโซเชียล
แต่อาจจะช้าหน่อย