เต็ม ๑๐ ให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เท่าไหร่? – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ไปกันใหญ่

ปรากฏการณ์ ลูกนายใหญ่ว่าขี้ข้าพลอย ดูจะเลยเถิด

จูงมือกันเข้ารกเข้าพง แล้วยังมีหน้าบอกว่า ที่พูดไปนั้นถูกต้องทุกประการ

กรณี “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” พูดในเวที “๑๐ เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม ๑๐” พาดพิงไปยังแบงก์ชาติ ทำนองว่าเป็นตัวปัญหา

“…กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล

ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้…”

พูดจบทัวร์ สมุนน้อยใหญ่ต้องออกมาแปลไทยเป็นไทย

แปลไปกี่รอบมันก็อีหรอบเดิม คือการเมืองเลว รัฐบาลเลว

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับธนาคารกลางของชาติเป็นหลักสากล ก้าวก่ายแทรกแซงกันไม่ได้ เพราะมีหายนะเป็นเดิมพัน

แต่รัฐบาลเศรษฐาพยายามแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งๆ ที่น่าจะรู้ว่า ผลของการแทรกแซงนั้นนำมาสู่หายนะทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว แต่ก็ยังเดินหน้าโจมตีแบงก์ชาติอย่างไม่หยุดยั้ง

นี่คือดีเอ็นเอของระบอบทักษิณ

ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ปะทะกันดุเดือด

“สุชาติ ธาดาธำรงเวช” รมว.คลัง ขณะนั้น ถือตำราเศรษฐศาสตร์ โจมตีการทำงานของ “ธาริษา วัฒนเกส” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อหน้าสาธารณชนอย่างรุนแรง ว่าการดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติ มีความขัดแย้งกับกระทรวงการคลัง

เล่นกันถึงขนาดไล่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกจากตำแหน่ง เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือนรัฐบาล

ฉะนั้นแนวคิดปลดผู้ว่าแบงก์ชาติออกจากตำแหน่งมีมาเป็นระยะๆ แล้ว

ต่างจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาล คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ ที่เคารพในกติกา รู้ว่าต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ ต่างฝ่ายต่างมีบทบาทที่ตัวเองต้องทำ

ไม่มีการก้าวก่าย

แล้วทำไมรัฐบาลระบอบทักษิณถึงได้รู้สึกเดือดร้อนกับการมีผู้ว่าแบงก์ชาติ ที่ยืนหยัดทำในสิ่งถูกต้องนักหนา

คำตอบน่าจะเป็นเพราะขวางทาง

ในอดีต มีผู้ว่าแบงก์ชาติถูกปลดพ้นจากตำแหน่งมาแล้วทั้งสิ้น ๔ คน

“โชติ คุณะเกษม” ถูกปลดโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สาเหตุพัวพันกรณีจ้างต่างชาติพิมพ์ธนบัตร

“นุกูล ประจวบเหมาะ” ถูกปลดในสมัยรัฐบาลป๋าเปรม เพราะขัดแย้งนโยบายเงินฝาก

“กำจร สถิรกุล” ถูกปลดในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากความขัดแย้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” ถูกรัฐบาลทักษิณปลด เพราะไม่ทำตามที่รัฐบาลต้องการให้ทบทวนนโยบายด้านดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สถานการณ์ของ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ไม่ต่างไปจากหม่อมเต่าสักเท่าไหร่ เพราะรัฐบาลจ้องจะปลดจากความขัดแย้งด้านดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

รัฐบาลปลดผู้ว่าแบงก์ชาติได้หรือไม่
คำตอบคือได้ แต่ในโลกนี้ไม่ค่อยมีใครทำกัน หากไม่ใช่ความผิดร้ายแรง

พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๘๕ ฉบับปรับปรุงล่าสุด ๒๕๕๑ มาตรา ๒๘/๑๙ (๔) บัญญัติไว้ว่า “…คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่…”

และมาตรา ๒๘/๑๙ (๕) บัญญัติว่า “… คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง…”

ฉะนั้นหากรัฐบาลเศรษฐาจะปลดผู้ว่าเศรษฐพุฒิ ต้องไปหาว่าบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ อย่างไร

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น ลองไปอ่านบทความเรื่อง “การเสริมสร้างความเป็นอิสระของธนาคารกลาง เพื่อปกป้องเศรษฐกิจโลก” ในไอเอ็มเอฟบล็อก ที่เขียนโดย “คริสตาลินา จอร์เจียวา” ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บางช่วงบางตอน เสียก่อน

“…ปัจจุบันธนาคารกลางในหลายประเทศเผชิญความท้าทายมากมายต่อการดำเนินงานที่เป็นอิสระ โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก่อนเวลาอันควร

มีแนวโน้มว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงความเสี่ยงถูกแทรกแซงทางการเมืองที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆ ในธนาคารกลาง…”

“…รายงานของไอเอ็มเอฟฉบับหนึ่ง ได้ทำการศึกษาธนาคารกลางหลายสิบแห่งตั้งแต่ปี ๒๐๐๗-๒๐๒๑ แสดงให้เห็นว่า ธนาคารที่มีคะแนนความเป็นอิสระสูง มักประสบความสำเร็จมากกว่าการควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของประชาชน ซึ่งช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ…”

“ความเป็นอิสระถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเครื่องมือที่เหนือกว่า ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จให้คุณค่าในเรื่องนี้”

“…รัฐบาลมีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยเหลือธนาคารกลางให้ดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้รับคำสั่ง และผ่านพ้นอุปสรรคข้างหน้า รวมถึงไม่เพียงแต่การออกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติตามรายละเอียดของกฎหมาย และเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวด้วย…”

“…ความรับผิดชอบของรัฐบาลอีกประการหนึ่ง มักต้องแบ่งปันให้แก่ธนาคารกลางนั่นคือ การรักษาระบบการเงินที่แข็งแกร่ง และมีการควบคุมอย่างดี เพราะเสถียรภาพทางการเงินเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยใจ และลดความเสี่ยง กรณีธนาคารกลางไม่เต็มใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเกรงว่าทำให้เกิดการล่มสลายทางการเงิน…”

“…เมื่อธนาคารกลางและรัฐบาลต่างมีบทบาท เราได้เห็นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ดีขึ้น ผลลัพธ์ในการเติบโตและการจ้างงานที่ดีขึ้น และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่ลดลง…”

ครับ…รัฐบาลเศรษฐากำลังทำในสิ่งที่สวนทางกับทัศนะจาก ผอ.ไอเอ็มเอฟแทบจะสิ้นเชิง

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความว่า “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่องค์กร หรือสถาบันที่ “ประชาชน” จะกล่าวถึงหรือ “วิพากษ์ วิจารณ์” หรือ “แตะต้อง” ไม่ได้

แบงก์ชาติไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์

ส่วน “นายกฯ เศรษฐา” บอกว่า “อุ๊งอิ๊ง” ต้องการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน

ถูกต้องครับ แบงก์ชาติเป็นองค์กรที่วิจารณ์ได้ แตะต้องได้

แต่การเมืองจะไปแทรกแซงไม่ได้

หาก “อุ๊งอิ๊ง” ต้องการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ก็ควรสะท้อนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ไม่ใช่เลือกสะท้อนเฉพาะคนที่เลือกพรรคเพื่อไทย

เรื่องนักโทษมีบารมีเหนือรัฐบาล

เรื่องรัฐบาลเตรียมก่อหนี้ก้อนโตกว่า ๕ แสนล้านในโครงการผลาญเงินดิจิทัลวอลเล็ต

เรื่องจริยธรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ของคนเป็นรัฐมนตรี

หากพรรคเพื่อไทยอยากได้ ๑๐ คะแนนเต็ม

ทั้งหมดนี้ล้วนจำเป็นต้องสะท้อน

Written By
More from pp
ดีอีเอส เตือน!!! ก่อนเล่น “ลอยกระทงออนไลน์” อาจโดนหลอกดูดข้อมูลส่วนบุคคล
8 พฤศจิกายน 65 – นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับการแจ้งเหตุพบ “มิจฉาชีพ” ฉวยโอกาสใช้สถานการณ์วันสำคัญก่อเหตุ
Read More
0 replies on “เต็ม ๑๐ ให้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เท่าไหร่? – ผักกาดหอม”