ผักกาดหอม
การเมือง ไม่ได้มีมุมเดียว และวันเดียว
ฉะนั้นจะยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากหลังจากนี้
อีกมุมที่ยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก เพราะสถานการณ์ยังมาไม่ถึง นั่นคือ พรรคก้าวไกล ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน
“ด้อมส้ม” อาจไม่ถูกใจสิ่งนี้!
แต่จะบอกว่า มีบางคนในพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้าเริ่มคิดแล้ว เพราะหนทางข้างหน้า ณ เวลานี้ยังไม่ใช่วันของพรรคก้าวไกล
การทำงานการเมือง และแนวนโยบายแบบก้าวไกล หากจะให้คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ ต้องเป็นรัฐบาลพรรคเดียว
หรือชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เกิน ๒๕๐ เสียง
อย่างแย่สุดต้องได้เกิน ๒๐๐ เสียง ตั้งรัฐบาลผสม ดึงพรรคขนาดกลางสัก ๒ พรรค เป็นพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะพรรคขนาดกลางมีเงื่อนไขที่จะต่อรองทางการเมืองไม่สูงนัก
การร่วมรัฐบาลกับพรรคขนาดใหญ่ ที่มีเสียงห่างกัน ๑๐ เสียง แบ่งโควตารัฐมนตรีเท่ากัน แทบไม่เกิดประโยชน์กับพรรคก้าวไกลเลย
ฉะนั้นเมื่อพ่ายศึกเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร พลาดท่าให้กับพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลอาจเปลี่ยนเกม เพราะรู้ดีว่าการตั้งรัฐบาล โดยพรรคก้าวไกลนั้นได้ล่มไปแล้ว
เกมที่เปลี่ยนคือ พรรคก้าวไกลมองไปยังการเลือกตั้งครั้งถัดไป
และเกมที่เปลี่ยนนี้ต้องทำไปพร้อมกับการสร้างภาพจำให้ประชาชนเสียใหม่ คือทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นผู้ทรยศต่อฝ่ายประชาธิปไตย
นี่คือมุมมองที่เริ่มปรากฏในหมู่นักวางยุทธศาสตร์พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า
“ปิยบุตร แสงกนกกุล” ก็เริ่มคิดเรื่องนี้จริงจังขึ้น
พรรคก้าวไกลเป็นสิ่งแปลกแยกในแวดวงการเมืองไทย ฉะนั้นการจะเดินไปสู่จุดหมาย ไม่อาจยืมจมูกคนอื่นหายใจได้
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแก้ ม.๑๑๒
ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
เปลี่ยนวันชาติ
ให้สิทธิชาติพันธุ์ปกครองตนเอง หรือผลมันคือ แบ่งแยกดินแดน
นโยบายเหล่านี้ล้วนต้องทำด้วยตัวเองทั้งสิ้น
หรือแม้กระทั่งนโยบายระดับรองลงมา
อาทิ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
การตัดงบกองทัพ ปฏิรูปกองทัพ
รัฐสวัสดิการ
ปฏิรูประบบภาษี
ปฏิรูปการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ปฏิรูประบบการศึกษา
ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ทำลายทุนใหญ่ผูกขาด
กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
การเป็นรัฐบาล ๘ พรรค ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ หากต้องสูญเสียกระทรวงสำคัญไปให้พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย
เพราะคร่าวๆ แค่นี้ พรรคก้าวไกลต้องได้เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงหลักหลายกระทรวง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
กระทรวงเหล่านี้ หากรัฐมนตรีว่าการเป็นของพรรคเพื่อไทย จะกระทบกับนโยบายของพรรคก้าวไกลทันที
และในข้อเท็จจริง พรรคเพื่อไทยไม่น่าจะยอม หากกระทรวงเหล่านี้ตกเป็นของพรรคก้าวไกลทั้งหมด
ฉะนั้นการเปลี่ยนแผนมองไปยังการเลือกตั้งครั้งถัดไป อาจส่งผลดีต่อการเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกลมากกว่า เพราะมีโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์
จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
การไปสู่จุดนั้นได้ พรรคก้าวไกลต้องรักษารูปทรง ไม่ให้คะแนนนิยมตกลงไป ด้วยการเล่นการเมืองในแนวที่่ตัวเองถนัด
และมันอยู่ที่ประชาชนจะเชื่อตามพรรคก้าวไกลมากน้อยแค่ไหน
หลังเลือกตั้งเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา จากเดิมในแง่การบริหารงานราชการแผ่นดินสำหรับพรรคก้าวไกลแล้ว ความดีไม่มี ความชั่วไม่ปรากฏ เพราะไม่เคยมีบทบาท
แต่เมื่อตั้งท่าว่าจะได้เป็นรัฐบาล กลับมีเรื่องราวแง่ลบทั้งจากพรรคก้าวไกล และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ออกมามากมาย
มีสิ่งที่น่าตกใจแอบแฝงอยู่ในนโยบายของพรรคก้าวไกล
เอาแค่การจะเปลี่ยนวันชาติ ที่ “รังสิมันต์ โรม” แถในวินาทีสุดท้ายว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่พฤติการณ์ที่เกิดในพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า มันล้ำกว่าคำพูดของ “รังสิมันต์” เสียอีก
ดู “ช่อ-พรรณิการ์” เป็นตัวอย่าง
ถึงกับโทร.หาบอก “ปรีดี พนมยงค์” ถึงความสำเร็จที่กำลังจะเกิดขึ้น
ใกล้ครบ ๑๐๐ ปี จะได้จัดงานฉลองยิ่งใหญ่!
แม้จะมีจุดบอดอยู่บ้าง แต่คุณงามความดีของ “ปรีดี พนมยงค์” รัฐบุรุษของไทย ก็มีให้ระลึกอยู่มากมายครับ
เมื่อเวลาล่วงเลยเกือบ ๑๐๐ ปีให้หลัง กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าคนรุ่นใหม่ เอา “ปรีดี” มาพิงหลัง
ขุด “ปรีดี” ขึ้นมาอธิบายโดยบริบทของปี ๒๕๖๖ พยายามเชื่้อมต่อว่ามีเจตนารมณ์เดียวกัน
ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า แม้คณะราษฎรจะปล้นอำนาจ หรือจะเรียกว่ารัฐประหาร หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ตามที ขึ้นกับใครเป็นผู้เรียก แต่อย่างน้อยยังคงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่
แต่คนรุ่นปี ๒๕๖๖ ไปไกลกว่า…
ต้องการล้มล้าง เปลี่ยนระบอบการปกครอง
พฤติกรรมที่ฟันธงว่าต้องการล้มล้างล่าสุด ก็คือการเปลี่ยน “วันชาติ” นี่แหละครับ
“วันชาติ” ประเทศในโลกกำหนดแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นวันก่อตั้งรัฐ หรือดินแดน หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ
บางประเทศกำหนดตามวันสำคัญทางศาสนา
บางประเทศถือวันเกิดของประมุขแห่งรัฐเป็นวันชาติ เช่นไทย
มีบางประเทศถือเอาวันล้มล้างระบอบการปกครองเก่า เป็นวันชาติ ซึ่งมีไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือฝรั่งเศส
วันบัสตีย์ เป็นวันชาติของฝรั่งเศส
การทลายคุกบัสตีย์ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์การลุกฮือของชาติสมัยใหม่
การปฏิวัติฝรั่งเศสนำมาซึ่งการสถาปนาสาธารณรัฐที่ ๑ และการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยปี ๒๔๗๕ ถูกคนบางกลุ่มนำไปเปรียบเทียบว่าเกือบจะคล้ายการปฏิวัติฝรั่งเศส
บางคนในนั้นเสียดายที่คณะราษฎรยังดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้
การระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และพยายามยกให้เป็น “วันชาติ” มีเบื้องหลังความคิดที่ประชาชนต้องตามให้ทัน
ฉะนั้นอย่าคิดว่าคนอื่นไม่รู้ว่าพวกคุณคิดอะไรอยู่