ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชาหลังการเลือกตั้ง และความท้าทายของไทย

ผลการเลือกตั้งกัมพูชาที่ผ่านมาถือเป็นการเปิดหน้าการส่งต่ออำนาจทางการเมืองที่น่าจับตามอง การส่งไม้ต่อให้แก่ ฮุน มาเนต บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงกัมพูชาสู่ยุคสมัยใหม่ ผู้ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศอยู่นานถึง 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1993 สิ่งที่เกิดขึ้นในกัมพูชากระทบถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในไทยอย่างไร ผู้เขียนอยากชวนมาตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน

กัมพูชาโฉมใหม่กับทุนต่างชาติ

ภายใต้การนำในยุคของฮุน เซน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ชั้นนำในกัมพูชาอย่างชัดเจน ภาพเมืองเก่าทรุดโทรมด้อยพัฒนา อันเป็นผลจากสงครามกลางเมืองถูกลบทิ้ง หากใครเดินทางไปกรุงพนมเปญตอนนี้จะได้พบกับภาพเมืองใหม่ที่รายล้อมด้วยตึกสูงทั้งห้างร้าน โรงแรมชั้นนำ ร้านอาหารและคาเฟ่สมัยใหม่ อีกหนึ่งจุดคือสีหนุวิลล์ซึ่งถูกพัฒนาจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มาเก๊าแห่งเอเชีย” ยุคใหม่

ผู้นำกัมพูชาเองเคยประกาศต่อสาธารณะว่าจะนำประเทศหลุดพ้นจากการมีเป็นประเทศพัฒนาน้อยภายในปี 2027 ซึ่งตัวเลขชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประเทศก็ชี้ไปทางเดียวกัน ปัจจุบันข้อมูลจากธนาคารโลกเผยว่ากัมพูชามี GDP ต่อหัวราว 1,600 เหรียญสหรัฐ เทียบกับ 300 เหรียญสหรัฐ

ในปี 2000 โตขึ้นเกือบ 5 เท่า ในสองทศวรรษ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5.4 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว โดยมีรัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือทางการเงิน มีการอนุญาตให้จีนเข้ามาสร้างธุรกิจภายในประเทศ โดยสนับสนุนพื้นที่ลงทุน โดยมีสีหนุวิลล์เป็นตัวอย่างของการสร้างเขตเศรษฐกิจ

ซึ่งสิ่งนี้ทำให้กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ The Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน นอกจากนี้ยังมีประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ต่างมีอิทธิพลและเป็นตัวเสริมอิทธิพลให้กับรัฐบาลภายใต้การนำของฮุน เซน

ใต้เงาความเจริญทางเศรษฐกิจกับการเป็นต้นทางแหล่งธุรกิจใต้ดินของภูมิภาค

ย้อนมามองอีกมุมการเติบโตของกัมพูชาถือว่าสร้างผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านมากทีเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติความมั่นคงชายแดน หลายพื้นที่ของกัมพูชาโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเป็นที่รับรู้ว่าคือแหล่งธุรกิจผิดกฎหมาย และการฟอกเงินจากธุรกิจสีเทา รวมถึงแหล่งผลิตสินค้าเลียนแบบตราสินค้ายอดนิยม

ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เหล้า เบียร์ และบุหรี่ ที่แผ่ปัญหากระจายไปทั่วภูมิภาค ในไทยเองเราได้เห็นข่าวกองทัพมดและผู้ค้ารายใหญ่ลักลอบขนสินค้าละเมิดภาษีหรือปลอมแปลงตราสินค้าเข้ามาขายในไทยหรือผ่านแดนไปที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งในปัญหาใหญ่ของรัฐไทยและหลายประเทศตอนนี้คือเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (call center) ที่ระบาดหนักและสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว

ในการข่าวของหน่วยงานความมั่นคงไทยเองก็ทราบดีว่ากัมพูชาคือแหล่งต้นทางสำคัญของกลุ่มธุรกิจสีเทานี้ มีคนไทยจำนวนมากตกเป็นเหยื่อกระบวนการหลอกลวงเหล่านี้และจำนวนไม่น้อยต้องจบชีวิตลง โดยในปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยว่า พบการโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (call center) ทั้งสิ้น 6.4 ล้านครั้งในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2563 สูงถึง 270%

โดยการประเมินว่าสร้างความเสียหายสูงกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสอบสอนกลางที่มีการปฏิบัติการทลายเครือข่ายเหล่านี้ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนของกัมพูชา

การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจการเมืองยุคใหม่

กัมพูชาพยายามปักหมุดเมืองสีหนุวิลล์ ให้เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญหลักของประเทศ รองจากกรุงพนมเปญ และเสียมเรียบ สำหรับการดึงดูดนักลงทุนกัมพูชาได้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 3 โรง กำลังการผลิตรวมร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ซึ่งลงทุนโดย กัมพูชา จีน และมาเลเซีย

ทั้งยังมี นิคมอุตสาหกรรมในสีหนุวิลล์ ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) 7 แห่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 300 โรงงาน นิคมที่ใหญ่ที่สุด คือ Sihanoukville SEZ โดยกัมพูชาได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนใน SEZ

เช่น การให้สัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาว 50 ปี การยกเว้นภาษีนําเข้าสินค้าและวัตถุดิบ เครื่องจักรและเครื่องมือในการผลิต การยกเว้นภาษีเงินได้จากผลกําไร 9 ปี รวมทั้งการให้วีซ่าถาวรแก่นักลงทุน และยังอนุญาตให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คอนโดมีเนียม โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และคาสิโน

ถึงจุดนี้สีหนุวิลล์ก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นเมืองใหม่ของกัมพูชาที่มีความคึกคักภายใต้โลกทุนนิยมสมัยใหม่ “มาเก๊าแห่งเอเชีย” ซึ่งมีคาซิโนกว่า 100 แห่ง อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ชาวกัมพูชาราว 3 แสนคนตกงาน และโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งสีหนุวิลล์ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เกิดการถอนตัวการลงทุนปรากฏภาพเมืองที่เต็มไปด้วยตึกร้าง อาคารสูงนับพันแห่งที่ยังสร้างไม่เสร็จ กลับกลายเป็นเมืองเงียบเหงา ไม่เหมือนกับอดีต

การสร้างความสมดุลระหว่างการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และรักษาความสัมพันธ์กับนักลงทุนต่างชาติถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่สำคัญความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลายมาเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองของกัมพูชาที่รอต้อนรับรัฐบาลใหม่ คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่าภายใต้การนำของผู้นำยุคใหม่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

การค้าชายแดนระหว่างกันจะเติบโตและจัดการปัญหาธุรกิจใต้ดินและธุรกิจผิดกฎหมายต่าง ๆ ได้หรือไม่ และโครงการพัฒนาตามแนวระเบียบเศรษฐกิจชายแดนที่มีร่วมกันในภูมิภาคมามากกว่าทศวรรษจะเติบโตไปทางใด การต่างประเทศเชิงรุกที่ไทยจะมีต่อเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชาจะเน้นไปที่ด้านบวกจนละเลยภัยความท้าทายที่ซ่อนอยู่หรือไม่ และนี่คงเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลใหม่ของไทยเช่นกัน

รองศาสตราจารย์ ดร. พิทยา สุวคันธ์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Written By
More from pp
ซินนาบอน ส่งความสุขต้อนรับปีใหม่กับ New Year Set “Triple 4”
“ซินนาบอน” (Cinnabon) แบรนด์ขนมอบชื่อดัง ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นแบรนด์ที่มี “ซินนามอนโรล รสชาติดีที่สุดในโลก” จัดโปรโมชั่นสุดพิเศษต้อนรับเทศกาลปีใหม่กับ Share The Joy of Cinnabon ให้คุณได้ส่งความสุข แบ่งปันความอร่อยให้คนที่คุณรัก ด้วยซินนาบอน New Year Set “Triple...
Read More
0 replies on “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชาหลังการเลือกตั้ง และความท้าทายของไทย”