ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชาหลังการเลือกตั้ง และความท้าทายของไทย

ผลการเลือกตั้งกัมพูชาที่ผ่านมาถือเป็นการเปิดหน้าการส่งต่ออำนาจทางการเมืองที่น่าจับตามอง การส่งไม้ต่อให้แก่ ฮุน มาเนต บุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงกัมพูชาสู่ยุคสมัยใหม่ ผู้ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศอยู่นานถึง 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่ ค.ศ. 1993 สิ่งที่เกิดขึ้นในกัมพูชากระทบถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในไทยอย่างไร ผู้เขียนอยากชวนมาตั้งคำถามกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน

กัมพูชาโฉมใหม่กับทุนต่างชาติ

ภายใต้การนำในยุคของฮุน เซน เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของพื้นที่ชั้นนำในกัมพูชาอย่างชัดเจน ภาพเมืองเก่าทรุดโทรมด้อยพัฒนา อันเป็นผลจากสงครามกลางเมืองถูกลบทิ้ง หากใครเดินทางไปกรุงพนมเปญตอนนี้จะได้พบกับภาพเมืองใหม่ที่รายล้อมด้วยตึกสูงทั้งห้างร้าน โรงแรมชั้นนำ ร้านอาหารและคาเฟ่สมัยใหม่ อีกหนึ่งจุดคือสีหนุวิลล์ซึ่งถูกพัฒนาจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มาเก๊าแห่งเอเชีย” ยุคใหม่

ผู้นำกัมพูชาเองเคยประกาศต่อสาธารณะว่าจะนำประเทศหลุดพ้นจากการมีเป็นประเทศพัฒนาน้อยภายในปี 2027 ซึ่งตัวเลขชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประเทศก็ชี้ไปทางเดียวกัน ปัจจุบันข้อมูลจากธนาคารโลกเผยว่ากัมพูชามี GDP ต่อหัวราว 1,600 เหรียญสหรัฐ เทียบกับ 300 เหรียญสหรัฐ

ในปี 2000 โตขึ้นเกือบ 5 เท่า ในสองทศวรรษ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5.4 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว โดยมีรัฐบาลจีนให้ความช่วยเหลือทางการเงิน มีการอนุญาตให้จีนเข้ามาสร้างธุรกิจภายในประเทศ โดยสนับสนุนพื้นที่ลงทุน โดยมีสีหนุวิลล์เป็นตัวอย่างของการสร้างเขตเศรษฐกิจ

ซึ่งสิ่งนี้ทำให้กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ The Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน นอกจากนี้ยังมีประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ต่างมีอิทธิพลและเป็นตัวเสริมอิทธิพลให้กับรัฐบาลภายใต้การนำของฮุน เซน

ใต้เงาความเจริญทางเศรษฐกิจกับการเป็นต้นทางแหล่งธุรกิจใต้ดินของภูมิภาค

ย้อนมามองอีกมุมการเติบโตของกัมพูชาถือว่าสร้างผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านมากทีเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติความมั่นคงชายแดน หลายพื้นที่ของกัมพูชาโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเป็นที่รับรู้ว่าคือแหล่งธุรกิจผิดกฎหมาย และการฟอกเงินจากธุรกิจสีเทา รวมถึงแหล่งผลิตสินค้าเลียนแบบตราสินค้ายอดนิยม

ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เหล้า เบียร์ และบุหรี่ ที่แผ่ปัญหากระจายไปทั่วภูมิภาค ในไทยเองเราได้เห็นข่าวกองทัพมดและผู้ค้ารายใหญ่ลักลอบขนสินค้าละเมิดภาษีหรือปลอมแปลงตราสินค้าเข้ามาขายในไทยหรือผ่านแดนไปที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งในปัญหาใหญ่ของรัฐไทยและหลายประเทศตอนนี้คือเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (call center) ที่ระบาดหนักและสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว

ในการข่าวของหน่วยงานความมั่นคงไทยเองก็ทราบดีว่ากัมพูชาคือแหล่งต้นทางสำคัญของกลุ่มธุรกิจสีเทานี้ มีคนไทยจำนวนมากตกเป็นเหยื่อกระบวนการหลอกลวงเหล่านี้และจำนวนไม่น้อยต้องจบชีวิตลง โดยในปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยว่า พบการโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (call center) ทั้งสิ้น 6.4 ล้านครั้งในปี 2564 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2563 สูงถึง 270%

โดยการประเมินว่าสร้างความเสียหายสูงกว่า 1,500 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสอบสอนกลางที่มีการปฏิบัติการทลายเครือข่ายเหล่านี้ซึ่งมีฐานปฏิบัติการในเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดนของกัมพูชา

การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจการเมืองยุคใหม่

กัมพูชาพยายามปักหมุดเมืองสีหนุวิลล์ ให้เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญหลักของประเทศ รองจากกรุงพนมเปญ และเสียมเรียบ สำหรับการดึงดูดนักลงทุนกัมพูชาได้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 3 โรง กำลังการผลิตรวมร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ซึ่งลงทุนโดย กัมพูชา จีน และมาเลเซีย

ทั้งยังมี นิคมอุตสาหกรรมในสีหนุวิลล์ ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) 7 แห่ง มีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 300 โรงงาน นิคมที่ใหญ่ที่สุด คือ Sihanoukville SEZ โดยกัมพูชาได้ให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนใน SEZ

เช่น การให้สัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาว 50 ปี การยกเว้นภาษีนําเข้าสินค้าและวัตถุดิบ เครื่องจักรและเครื่องมือในการผลิต การยกเว้นภาษีเงินได้จากผลกําไร 9 ปี รวมทั้งการให้วีซ่าถาวรแก่นักลงทุน และยังอนุญาตให้กลุ่มทุนจีนเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คอนโดมีเนียม โรงแรม ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง และคาสิโน

ถึงจุดนี้สีหนุวิลล์ก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นเมืองใหม่ของกัมพูชาที่มีความคึกคักภายใต้โลกทุนนิยมสมัยใหม่ “มาเก๊าแห่งเอเชีย” ซึ่งมีคาซิโนกว่า 100 แห่ง อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ชาวกัมพูชาราว 3 แสนคนตกงาน และโครงการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งสีหนุวิลล์ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เกิดการถอนตัวการลงทุนปรากฏภาพเมืองที่เต็มไปด้วยตึกร้าง อาคารสูงนับพันแห่งที่ยังสร้างไม่เสร็จ กลับกลายเป็นเมืองเงียบเหงา ไม่เหมือนกับอดีต

การสร้างความสมดุลระหว่างการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และรักษาความสัมพันธ์กับนักลงทุนต่างชาติถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่สำคัญความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลายมาเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเมืองของกัมพูชาที่รอต้อนรับรัฐบาลใหม่ คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่าภายใต้การนำของผู้นำยุคใหม่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งกัมพูชา เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

การค้าชายแดนระหว่างกันจะเติบโตและจัดการปัญหาธุรกิจใต้ดินและธุรกิจผิดกฎหมายต่าง ๆ ได้หรือไม่ และโครงการพัฒนาตามแนวระเบียบเศรษฐกิจชายแดนที่มีร่วมกันในภูมิภาคมามากกว่าทศวรรษจะเติบโตไปทางใด การต่างประเทศเชิงรุกที่ไทยจะมีต่อเพื่อนบ้านเช่นกัมพูชาจะเน้นไปที่ด้านบวกจนละเลยภัยความท้าทายที่ซ่อนอยู่หรือไม่ และนี่คงเป็นโจทย์ที่ท้าทายรัฐบาลใหม่ของไทยเช่นกัน

รองศาสตราจารย์ ดร. พิทยา สุวคันธ์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Written By
More from pp
เซ็นทาราขนทีมเชฟ เปิดให้บริการจัดส่งอาหารจากครัวโรงแรมถึงบ้าน ขานรับนโยบายรัฐ อร่อยได้ไม่ต้องเสี่ยง
โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา เปิดตัวบริการจัดส่งอาหารปรุงสดใหม่จากหลากหลายห้องอาหารชั้นนำของสามโรงแรมเซ็นทาราในกรุงเทพฯ ถึงหน้าบ้านลูกค้าในราคาประหยัด
Read More
0 replies on “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจกัมพูชาหลังการเลือกตั้ง และความท้าทายของไทย”