27 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าตรวจเยี่ยมกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการภารกิจกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
โดยมี นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกรมฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุรชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน และการประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference
นายพิพัฒน์ กล่าวในโอกาสเข้าพบปะ มอบนโยบายและรับฟังข้อเสนอแนะจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ว่า
ผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้กระทรวงแรงงาน เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นส่วนกลางในการบูรณาการด้านการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานร่วมกับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในวันนี้
ผมจึงขอมอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกสร. และข้อสั่งการ ดังนี้ โดยในส่วนของนโยบาย ได้แก่
1) ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมไปถึงการคุ้มครองแรงงานสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามกฎหมาย
2) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้แรงงาน
มีความปลอดภัยในการทำงาน โดยมุ่งลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นรูปธรรม
3) ยกระดับสถานประกอบกิจการด้วยระบบมาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001 (TLS 8001) และการนำแนวปฏิบัติ
การใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ไปใช้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ
4) ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก โดยผ่านกลไกในรูปแบบทวิภาคี และไตรภาคี เพื่อลดปัญหาข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้ง
5) ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง ลูกจ้าง และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ
6) พัฒนากฎหมายการคุ้มครองแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาทักษะแรงงาน ให้สอดรับกับนโยบาย Job-Up Skill
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อสั่งการที่ผมได้เน้นย้ำกับทุกส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานเช่นเดียวกัน คือ กระทรวงจะดำเนินการตามนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาให้ผู้บริหารผลักดันให้เป็นธรูปธรรมโดยเร็ว จะต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยเด็ดขาด ห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่ยุ่งเกี่ยวกับการทุจริต ประพฤติมิชอบทุกประเภท รวมทั้งการเรียกรับผลประโยชน์จากนายจ้างและผู้ใช้แรงงาน
พร้อมทั้งให้ปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรม และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ประสานความร่วมมือระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงแรงงานโดยตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนทุกหน่วยงานในสังกัดกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องบริหารแผนงานแผนเงินให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป