ผักกาดหอม
โผครม.น่าจะจบในสัปดาห์นี้
ขั้นตอนต่อเนื่องตั้งแต่การเข้าถวายสัตย์ปฎิญาณตน และการแถลงนโยบาย น่าจะเสร็จสิ้น ภายในเดือนกันยายน
อย่างเร็วสุดน่าจะจบได้ช่วงกลางเดือน
เพราะเมื่อเทียบกับวันที่ได้ตัวนายกฯ คนที่ ๓๐ จนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นั้น ถือว่าเร็วกว่าปกติที่ผ่านมา
รัฐบาลใหม่แถลงนโยบายเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น โดยเฉพาะกับการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗
เพราะกว่าจะได้ใช้งบประมาณจริงก็คงจะช่วงต้นปีหน้า
จากนั้นรัฐบาลต้องเริ่มกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๘ ในทันที กว่าคณะรัฐมนตรีจะเคาะ กว่าสภาฯ จะผ่านใช้เวลาครึ่งปี เป็นอย่างต่ำ
ก็คงจะหลังวุฒิสภาชุดปัจบันพ้นวาระไปไม่นาน
มองย้อนกลับไปช่วงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเป็นข้าวต้มมัดต่อไป ๙-๑๐ เดือน รอให้วุฒิสภาพ้นวาระแล้วค่อยเลือกนายกฯ เป็นความเห็นสุดโต่ง เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ
มองแค่การเมืองที่ปลายจมูก ไม่นึกถึงชะตากรรมของประเทศ และประชาชน ว่าจะต้องลำบากกันแค่ไหน
เพราะงบประมาณแผ่นดินไม่ออก ไม่มีเม็ดเงิน กว่า ๓ ล้านๆบาทมาหมุนเวียน หมายถึงความพินาศของเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจหดตัวอย่างแน่นอน
แต่วันนี้เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว
และโชคดีที่สามารถตั้งรัฐบาลได้ แม้จะยังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะสร้างความฉิบหายให้กับประเทศอีกหรือไม่ แต่ก็ยังดีกว่าให้รัฐบาลรักษาการ ที่ไม่มีอำนาจเต็มด้านงบประมาณ บริหารประเทศแบบนั่งดูชะตากรรมอย่างเดียว
ประเทศเกือบเข้าใกล้หายนะ เพราะความคิดทางการเมืองแบบพรรคก้าวไกล ที่ยอมเห็นความพินาศเพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน
หักไม่ยอมงอ
พุ่งชนไม่ยอมถอย
สุดท้ายไร้แนวร่วม เพราะมิตรเห็นปลายทางว่ามีแต่ความฉิบหาย
คนในพรรคก้าวไกลควรอ่าน คำพูดของ “วันมูหะมันนอร์ มะทา” เมื่อวันอาทิตย์ ที่ผ่านมา แล้วจะรู้ว่าการเมือง ไม่ใช่เรื่องของพวกตนเพียงฝ่ายเดียว
แต่ทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง
“…ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือเราได้พูดหาเสียงว่าเราต้องได้เป็นรัฐบาล เรามี ส.ส.๙ คน ทันทีที่มีการจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคแรกๆที่มีการเชิญจากแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้เข้าร่วมรัฐบาล
เรามี สส.ไม่มาก จำนวนรัฐมนตรีก็มีไม่มาก แต่เราได้มาถึงบันไดขั้นแรกแล้ว และเราต้องก้าวขึ้นบันไดต่อไปข้างหน้า
แน่นอนว่าการก้าวไปข้างหน้าต้องมั่นคง และบางอย่างฝ่ายตรงข้ามอาจจะไม่ชอบ ทำไมต้องไปร่วมรัฐบาลกับพรรคโน้นพรรคนี้
ขอเรียนว่าการทำงานนั้นต้องรู้จักถอยไปคนละก้าว ถึงจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
จะชอบหรือไม่ชอบ แต่ต้องมีรัฐบาล และต้องเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
ถ้าเรายืนหยัดไม่ถอยเลย โอกาสที่จะมาแก้ไขปัญหาประชาชนก็ไม่มีเหมือนเดิม
สิ่งหล่านี้ผมไม่ได้มาพูดเพื่อแก้ตัว แต่จะให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ที่จะต้องทำ และความปรองดองของประเทศ
ตรงกับหลักศาสนาว่าอะไรที่เป็นการปรองดองก็ควรทำ เราจะจับมือใครโดยไม่ยื่นมือไปก็ไม่ได้ เว้นแต่เราจะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราจะทำอะไรได้มากกว่านี้ และเราก็มีตัวแทนไปร่วมคณะรัฐมนตรี ในรอบ ๕ ปี พรรคประชาชาติเรามีตัวแทนในสภาผู้แทนราษฎรเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และมีตัวแทนไปนั่งเป็นคณะรัฐมนตรี และยังมีอีกหลายคนไปนั่งเป็นคณะทำงาน…”
ครับ…ประเด็นที่ต้องเฝ้ามองหลังจากนี้คือ การทำหน้าที่ของรัฐบาล แต่ถ้าจะให้ครอบคลุม ต้องเฝ้ามองการทำงานของพรรคฝ่ายค้านด้วย
ก็น่าเป็นห่วงทั้ง ๒ ฝั่ง
ที่เห็นชัดๆหากตัดเรื่อง “ทักษิณ” ออกไป ในขณะนี้รัฐบาลน่าจะมีปัญหาการนำเสนอนโยบาย ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
แจกเงินดิจิทัล หัวละหมื่นบาท ใช้งบประมาณ ๕ แสนล้าน ในช่วงการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเขย่งแบบนี้จะยิ่งยากกว่าในสถานการณ์ปกติ
หากจะกู้เงิน จะซ้ำรอยกรณี การเข็นร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน ๒ ล้านๆ สมัยยิ่งลักษณ์ หรือไม่ ไม่มีใครตอบได้
เพราะแน่นอนว่า หากรัฐบาลตัดสินใจกู้เงินมาใช้ในโครงการนี้ จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นทันที
ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน
หลังจากนี้เราอาจมีฝ่ายค้านที่อ่อนแอที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยก็เป็นได้
ประการแรกเพราะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่อาจเป็นเสาหลักได้ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะความขัดแย้งในพรรคไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่
แถมยังเป็นช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรค
อุดมการณ์ของพรรคถูกทำลายโดยกลุ่มส.ส.ในพรรคเอง
ที่สำคัญแนวทางในการแก้ปัญหาตัวเองของพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มีอะไรชัดเจน ยังไม่รู้จะเริ่มตรงไหน เมื่อไหร่ด้วยซ้ำ
ประการที่สอง พรรคก้าวไกล ไม่พึงพอใจในการเป็นฝ่ายค้านของตนเอง เพราะคาดหวังไว้สูงว่า การเป็นพรรคอันดับ ๑ จะต้องได้จัดตั้งรัฐบาล “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะต้องเป็นนายกฯ
แต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ความหวังเล็กๆ ที่ยังเหลืออยู่คือ ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ ๑ จึงต้องพยายามรักษาไว้สุดชีวิต
พรรคก้าวไกล พลาดเพราะเล่นการเมืองถอยไม่เป็น ยืดหยุ่นไม่ได้ ไม่ยอมถอยจากการแก้ม.๑๑๒ เพื่อให้ “พิธา” ได้เป็นนายกฯ
มาคราวนี้ “พิธา” ถอย ยอมที่จะสละตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแลกกับการให้ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” นั่งเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนฯ ต่อไป
อาจมีเจตนาเพื่อยัด ม.๑๑๒ เข้าระเบียบวาระการประชุมสภา
อย่าลืมนะครับตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คือหนึ่งในตำแหน่งทางการเมืองที่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เช่นเดียวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี
จึงทำให้เห็นว่าพลังการเป็นฝ่ายตรวจสอบของพรรคก้าวไกลนั้นแทบจะไม่มี เพราะพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายอื่น
เอาแค่กรณี “ทักษิณ” นอนโรงพยาบาลตำจวจ พรรคก้าวไกล ไม่เคยกล่าวถึงแม้คำเดียว
ฉะนั้นการเมืองนับจากนี้ไปสำหรับประชาชนแล้ว…
อัตตาหิอัตโนนาโถ