กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงาน โครงการความร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการวิเคราะห์สภาวะการได้รับพลังงานและสารอาหารสำคัญจากการบริโภคอาหารใน 1 วัน ของเด็กอายุ 1-6 ปี
พบว่าเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปีประสบปัญหาขาดสารอาหารรอง น้อยกว่าเด็กอายุ 4-6 ปี ที่กำลังมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารรอง หรือไมโครนิวเทรียนส์ ในระดับที่น่ากังวล หลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี เหล็ก วิตามิน A และวิตามิน C แนะควรให้เด็กดื่มนมเสริมอาหารเพื่อพัฒนาการร่างกายที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษาดังกล่าว เป็นการศึกษา การได้รับสารอาหารในเด็กวัย 1-6 ปี ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์การบริโภคย้อนหลัง 24 ชั่วโมง (24 hour dietary recall) ภายใต้โครงการศึกษาข้อมูลการบริโภคอาหารของประเทศไทย ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2557-2558) เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าประมาณของความต้องการสารอาหารที่ควรได้รับประจำวัน (Estimated Average Requirement: EAR) ซึ่งเป็นค่าต่ำสุดของสารอาหารที่ได้รับต่อเนื่อง
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการได้รับพลังงานและสารอาหาร พบว่าค่าเฉลี่ยของพลังงานต่อวันในเด็กเล็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี อยู่ที่ 1,094.65 กิโลแคลอรี มีค่าเฉลี่ยการกระจายพลังงานจาก คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 51.32 โปรตีนร้อยละ 15.37 และไขมันร้อยละ 33.31
ในเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปี ค่าเฉลี่ยของพลังงานต่อวันอยู่ที่ 1,250.30 กิโลแคลอรี มีค่าเฉลี่ยการกระจายพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 52.36 โปรตีนร้อยละ 15.53 และไขมันร้อยละ 32.10 ซึ่งทั้งสองกลุ่มอยู่ในช่วงที่เหมาะสมไม่พบปัญหาการบริโภคโปรตีนไม่เพียงพอ ในประชากรเด็กทั้งสองกลุ่มอายุ
แต่ผลการศึกษากลับพบว่า ในเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปี มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารรองไม่เพียงพอหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียมร้อยละ 86.9 , สังกะสีร้อยละ 56.9, เหล็กร้อยละ 37.9, วิตามิน A ร้อยละ 53.4, และวิตามิน C ร้อยละ 52.4
เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี มีความเสี่ยงในการขาดสารอาหารรองอย่างแคลเซียมอยู่ที่ร้อยละ 25.9, สังกะสีร้อยละ 24, เหล็กร้อยละ 25.1, วิตามิน A ร้อยละ 12.1, และวิตามิน C ร้อยละ 22.3 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 25 เท่านั้น
เมื่อพบความแตกต่างในการขาดสารอาหารรอง ผู้ดำเนินโครงการจึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมว่ากลุ่มอาหารที่เด็กทั้งสองกลุ่มอายุบริโภคเป็นชนิดใดบ้าง มีความหลากหลายของอาหาร (Dietary diversity) ที่เด็กบริโภคมากน้อยเพียงใด เพราะการบริโภคอาหารที่หลากหลายนั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอ ตามข้อปฏิบัติการให้อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กเล็ก (อายุ 1-5 ปี) โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อต่อวัน ให้อาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน และ ให้นมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี เสริมนมสดรสจืดวันละ 2-3 แก้ว
พบว่าเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี บริโภคนมและผลิตภัณฑ์นม สูงถึงร้อยละ 91.9 ผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมากที่สุด คือนมผงที่มีการเสริมสารอาหาร (fortified milk powder) บริโภคในร้อยละ 41.5 ตามด้วยนมพร้อมดื่มรสจืด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนมโคสดทั้งชนิดเสริม และไม่เสริมสารอาหาร ร้อยละ 39.2
ส่วนในเด็กกลุ่มอายุ 4-6 ปี บริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมอยู่ที่ร้อยละ 70.2 โดยผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมากที่สุดคือ นมพร้อมดื่มรสจืด ที่เป็นนมโคสดทั้งชนิดเสริมและไม่เสริมสารอาหาร ร้อยละ 45.5 ขณะที่การบริโภคนมผงที่มีการเสริมสารอาหาร (fortified milk powder) มีเพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น
ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี ขาดสารอาหารรองในระดับที่ไม่น่ากังวลใจนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กได้ดื่มผลิตภัณฑ์นมผงและนมพร้อมดื่มรสจืดที่เสริมสารอาหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการเติมเต็มความต้องการด้านโภชนาการของเด็กกลุ่มอายุ 1-3 ปี เพื่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัย
จึงควรแนะนำให้เด็กดื่มนมที่มีการเสริมสารอาหารอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว เพราะเด็กที่กำลังเจริญเติบโต จำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ส่งมอบอาหารให้เด็กในช่วงวัยนี้ ก็จะได้นำข้อมูลงานวิจัยเหล่านี้ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาวะการบริโภคของเด็กในแต่ละช่วงวัย เพื่อทำให้มั่นใจว่าเด็กจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลการได้รับพลังงานและสารอาหารดังกล่าวอาจเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ายังมีเด็กไทยบางส่วนที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำดังกล่าวอย่างครบถ้วนทุกวัน
เอกสารอ้างอิง:
1. “รายงานฉบับสมบูรณ์ อ” โดย นวรัตน์ ว่องไวเมธี และคณะ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พฤศจิกายน 2565
2. คู่มือแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพด้านโภชนาการในคลินิกสุขภาพเด็กดีสำหรับบุคลากรสาธารณสุข โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2558