สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือเครือซีพี เดินหน้าโครงการ “ไซเบอร์วัคซีน” อย่างต่อเนื่อง จัดกิจกรรม “เตือนภัยนักช้อป น็อกโจรไซเบอร์” ย้ำประเด็นสำคัญ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”

13 มิถุนายน 2566 – สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือซีพี เดินหน้าโครงการ “ไซเบอร์วัคซีน” สร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ ณ โลตัส สาขาเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา

ด้วยกิจกรรม “เตือนภัยนักช้อป น็อกโจรไซเบอร์” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ให้แก่สังคม ประชาชนที่มาใช้บริการ และชุมชนโดยรอบ ป้องกันไม่ให้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อกลโกงของมิจฉาชีพที่มาในรูปภัยออนไลน์ ลดความสูญเสียต่อประชาชนและประเทศชาติ

โดยมี พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี นายสาคริต นันทจิต รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างระบบ พัฒนาระบบ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ โลตัส และนายจอห์นสัน เทวินธวิ์ คุณารัตนวัฒน์ นักแสดง ร่วมแชร์ประสบการณ์ถึงกลโกงโจรไซเบอร์และวิธีการรับมือป้องกัน โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ อาชญากรรมไซเบอร์ มีหลายรูปแบบมาก อาทิ การหลอกลงทุนแบบแชร์ลูกโซ่ที่มีผลตอบแทน รวมไปถึงการถูกหลอกจากแอปดูดเงิน

โดยทางตำรวจมีระบบรับแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และพบว่ามีสถิติเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สิน และบางรายถึงกับต้องสูญเสียชีวิต โดยจากการเก็บสถิติตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 – 31 พ.ค. 2566 มีการรับแจ้งความอาชญากรรมไซเบอร์ทางออนไลน์ ไม่น้อยกว่า 2.7 แสนคดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท

โดยมีกลโกงหลักของมิจฉาชีพ ที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1. หลอกขายสินค้าออนไลน์ 2.หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ และ 3. เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) ซึ่งในขณะนี้ได้มีการบังคับใช้พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ที่ธนาคารสามารถเชื่อมต่อข้อมูลระงับธุรกรรมได้อย่างทันที

โดยสามารถคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินผ่านการหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ และเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวให้ลดน้อยลง หรือหมดสิ้นไปโดยเร็ว

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญและห่วงใยประชาชน จึงบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership (PPP) เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ

โดยการจัดงานเสวนาในครั้งนี้จึงถือเป็นหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) ให้กับประชาชนที่เข้ามาช้อปปิ้งในห้างได้เกิดความรู้และความเข้าใจไม่หลงตกเป็นเหยื่อของโจรไซเบอร์ อยากจะเน้นย้ำฝากไว้ 3 คำ คือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมและการซื้อขายออนไลน์

หรือหากสงสัยว่าจะถูกหลอก ควรเช็คข้อมูลก่อนที่จะโอนเงิน หรือโทรสอบถามที่เบอร์สายด่วน 1441 จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้

นายสาคริต นันทจิต รองผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างระบบ พัฒนาระบบ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ โลตัส เปิดเผยว่า เครือซีพีได้ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยประชาชน พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนทั่วประเทศ

โดยโลตัส เป็นบริษัทในเครือซีพี ธุรกิจห้างค้าปลีกแบบ omni-channel ที่ให้บริการลูกค้ากว่า 10.8 ล้านครั้งต่อสัปดาห์ ผ่านสาขากว่า 2,300 สาขาทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์ ดังนั้นการสร้างระบบความปลอดภัยให้กับลูกค้าจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ทั้งแบบ Active และ Passive โดยจัดเก็บข้อมูลบน Private Cloud ที่มีความปลอดภัยสูง บุคคลที่เข้าระบบได้ต้องได้รับการอนุมัติสิทธิ์เท่านั้น

อีกทั้งยังมีการตรวจสอบจากทีม Auditor ที่ได้รับมาตรฐานว่า ข้อมูลของลูกค้าจะไม่มีการละเมิดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล หรือนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางโลตัสยังมีการอบรมให้ความรู้แก่พนักงาน และมีการประชาสัมพันธ์เตือนภัยออนไลน์ให้ลูกค้าหลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์

เช่น SMS ที่โลตัสส่งไปยังลูกค้าจะไม่มีการแนบลิงก์ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในระบบความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้โลตัสมีความห่วงใยและพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เครือซีพี ได้ตระหนักถึงปัญหาการหลอกลวงทางไซเบอร์ ซึ่งจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่พบว่า กลโกงออนไลน์ที่เป็นคดีมากที่สุดคือ คดีประเภทหลอกลวงซื้อขายสินค้า ดังนั้นด้วยความห่วงใยที่มีต่อลูกค้าและประชาชน ที่ผ่านมาทางโลตัสได้ร่วมเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์โครงการไซเบอร์วัคซีนภายในพื้นที่ของศูนย์การค้าทั่วประเทศ และได้มีการสื่อสารภายในสำหรับพนักงาน

โดยการณรงค์ให้ความรู้ภายในองค์กรเพื่อสร้างการตระหนักรู้ ซึ่งการจัดกิจกรรม “เตือนภัยนักช้อป น็อกโจรไซเบอร์” ที่ โลตัส สาขารามอินทรา ในวันนี้ นับเป็นการการต่อยอดโครงการฯ เพื่อร่วมเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระจายข่าวสาร ให้ข้อมูลเสริมภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในการป้องกันไม่ให้หลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อกลโกงของมิจฉาชีพที่มาในรูปภัยออนไลน์ ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับโครงการ “ไซเบอร์วัคซีน” เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือซีพี ในการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เดินหน้า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สร้างเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ของมิจฉาชีพ

และถือเป็นการนำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นองค์กรแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

Written By
More from pp
คนรักสัตว์เลี้ยงห้ามพลาด !! สมาร์ทฮาร์ท พรีเซนต์ ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ท วาไรตี้ เอ็กซิบิชั่น ปีที่ 11
ถึงเวลารวมพลคนรักสัตว์เลี้ยง อิมแพ็ค ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย และ เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จัดงานสมาร์ทฮาร์ท พรีเซนต์ ไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล...
Read More
0 replies on “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จับมือเครือซีพี เดินหน้าโครงการ “ไซเบอร์วัคซีน” อย่างต่อเนื่อง จัดกิจกรรม “เตือนภัยนักช้อป น็อกโจรไซเบอร์” ย้ำประเด็นสำคัญ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน””