ทำไมไม่ใช่ ‘พิธา’ – ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ยังหาทางลงกันไม่ได้

ระหว่าง ก้าวไกล กับ เพื่อไทย ใครจะได้เก้าอี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปครอบครอง

เห็นใจ ก้าวไกลครับ อะไรๆ ก็ดูยุ่งยากไปเสียหมด

ยิ่งพูดมาก ก็ยิ่งทำให้ตัวเองยุ่งยาก

มาเจอดีลลับดูไบเข้าไปอีก คงนอนไม่หลับกันเป็นแถว

เท่าที่ดูหลายวันมานี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” คาดหวังไว้มาก เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่แค่เอื้อม ยังไงก็ต้องคว้ามาให้ได้

เห็นการเดินสายราวกับได้เป็นนายกฯ แล้วดู “พิธา” มีความสุขครับ

วันที่ ๑ มิถุนายนนี้ “พิธา” นัด สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ประชุมเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะนโยบายด้านการกระจายอำนาจ

หลักๆ ก็คือ การกระจายอำนาจปลดล็อกให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

น่าจะเป็นการพูดคุยที่ถูกคอครับ เพราะ “บุญชู จันทร์สุวรรณ” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด แห่งประเทศไทย มีแนวคิดไม่ต่างจากก้าวไกล

“บุญชู” เตรียมประเด็นหารือไว้แล้วครับ

มี ๒ เรื่องหลัก

๑.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า ๗ พันแห่ง ออกมาจากกระทรวงมหาดไทย

๒.สนับสนุนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากประชาชน

แบบนี้ มหาดไทยสะดุ้งสิครับ!

หากเข็นนโยบายนี้สำเร็จ มหาดไทยกลายเป็นกระทรวงเกรด “ซี” ไปในทันที

ไม่ได้คุม ผวจ.

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า ๗ พันแห่ง หลุดมือ

แล้วจะเหลืออะไร

งานหลักน่าจะรังวัดที่ดิน

ถือว่าสร้างแรงกระเพื่อมมากพอควร

ลองนับนิ้วดู หากประเทศไทยมีนายกฯ ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประเทศไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าจนแทบจะจำไม่ได้

แก้ ม.๑๑๒ สถาบันพระมหากษัตริย์แทบไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

ปฏิรูปกองทัพ เลิกเกณฑ์ทหาร ในแง่ความพร้อมรบไม่รู้จะดีขึ้นหรือเลวลง

เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บางจังหวัดเป็นเขตปกครองพิเศษ ขณะที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัด มีการคอร์รัปชันจนยากจะแก้ไข

ถ้าบอกว่าการเลือกตั้งสามารถแก้ปัญหาทุจริตได้ ก็ดู ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวอย่าง ว่าแก้ได้จริงหรือเปล่า

ปฏิรูประบบราชการ เป็นราชการไทยก้าวหน้า

ปฏิรูปตำรวจ ให้เป็นตำรวจของประชาชน

ทั้งหมดนี้อยู่ในแผนงาน เป็นกระดาษเย็บเข้ารูปเล่ม จัดทำไม่ยากเย็นอะไรครับ

คนเดียวก็ทำได้

แต่ลงมือทำจริงเกรงว่า ก้าวไกล จะทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

การปฏิรูปเป็นเรื่องดีครับ แต่ก่อนที่จะปฏิรูปต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริงก่อน

ทำไมต้องเน้นย้ำเรื่อง “ความเข้าใจ”

ก็เพราะการแก้ด้วยความไม่เข้าใจมันจะเกิดปัญหาใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก

ยกตัวอย่าง ความปรารถนาอยากได้ เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ของพรรคก้าวไกล ก็เพื่อไปผลักดันร่างกฎหมายของพรรค

ไม่ใช่การเข้าใจผิดของก้าวไกลครับ

แต่เป็นความเข้าใจแบบก้าวไกล

เก้าอี้ประธานสภาไม่ใช่สมบัติของพรรคการเมือง

ประธานสภามีหน้าที่ที่ถูกระบุเอาไว้ชัดเจน

เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา

กำหนดการประชุมรัฐสภา

ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา

รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณของรัฐสถา

เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก

แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ

อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ หลังสภามีมติเลือก

เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

ที่สำคัญคือทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง

ฉะนั้นประธานสภา ในความเข้าใจของก้าวไกลจึงเป็นประธานสภาที่เป็นอันตรายต่อระบบรัฐสภาอย่างยิ่ง

ครับ…ความเข้าใจการแก้ ม.๑๑๒ เลือกตั้ง ผวจ. ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูประบบราชการ รวมไปถึงนโยบายปราบคอร์รัปชันของก้าวไกลนั้น จะเหมือนชาวบ้านชาวช่องหรือไม่ นั่นคือคำถาม

เพราะจะมีสิ่งที่ตามมาหลังนโยบายของก้าวไกลสำเร็จ

อาทิ หากแก้ ม.๑๑๒ สำเร็จแล้ว เป้าหมายต่อไปของก้าวไกลคืออะไร

เพราะมีข้อกังวลเรื่อง สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

หรือกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด มีข้อกังวลเรื่องระบอบการปกครองที่อาจเปลี่ยนไปหรือไม่

ข้อกังวลนี้ ก้าวไกล จะอธิบายให้คลายข้องใจได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลพื้นฐานที่ ส.ว.จะตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือก “พิธา” เป็นนายกฯ

“สมชาย เสียงหลาย” หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา มีทัศนะในทิศทางนี้

“…พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียง ๑๔.๔ ล้านเสียง กับอีกประเด็นหนึ่งที่มีประเด็นล่อแหลม พรรคอื่นๆ อาจจะได้คะแนนรวมกัน ๒๗ ล้านเสียง ดังนั้นต้องนำ ๒ อย่างมาชั่ง…”

“…เป็นแค่ข้อเสนอของคุณพิธา ที่ identify ตัวเองว่าได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริง ซึ่งเหมือนกับเมื่อวานที่เอฟซีพรรคเพื่อไทย ยื่นข้อเสนอให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ดังนั้นไม่รู้ข้อสรุปว่าข้อเท็จจริงจะออกมาในรูปแบบไหน…”

แนวคิดทางการเมือง วิธีคิดแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ที่สำคัญกว่าคือ พฤติกรรมทางการเมือง

นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ มาถึง ก้าวไกล บุคลากรของพรรคการเมืองนี้ส่วนใหญ่มีแนวคิดเช่นไร สังคมไทยรับรู้ดีอยู่แล้ว

ฉะนั้นในวันที่รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ สมาชิกวุฒิสภาจะเลือกตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

การโหวตเลือกนายกฯ จะต้องมีรอบที่ ๒ อย่างแน่นอน

เพราะรอบที่ ๑ ไม่ผ่าน

Written By
More from pp
“ฝ่ายค้าน-๓ นิ้ว” ร่วมกันตี?
ผักกาดหอม น่าจะมีปัญหา….                 ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน มีบางสิ่งซ่อนอยู่ และอาจก่อปัญหาเกิดความขัดแย้งในสภาฯ                 เป็นเชื้อไฟลามไปนอกสภาฯ                 จับตาดูกันดีๆ นี่อาจเป็นยุทธวิธีร่วมกันตี ทั้งจากในและนอกสภาฯ
Read More
0 replies on “ทำไมไม่ใช่ ‘พิธา’ – ผักกาดหอม”